SDG Updates | เขื่อนแม่น้ำโขง : อุตสาหกรรมเครื่องปั่นไฟบนความล่มสลายของสายน้ำ (EP.10)

ผานิตดา ไสยรส
อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“เขื่อน” ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาที่จับต้องได้ง่าย เพราะสามารถทำได้ทั้งการจัดการทรัพยากรน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ โดยผู้ที่สนับสนุนมองว่าเขื่อนช่วยเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งการสร้างงานในพื้นที่ห่างไกล เพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น ไปจนถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จนนานาประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่งผุดโครงการสร้างเขื่อนจำนวนมากโดยที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันทางการเงินด้วย

แต่เขื่อนที่ดีนั้นมีอยู่จริงหรือไม่? SDG Updates วันนี้ อาจารย์ผานิตดาฯ ได้เขียนข้อถกเถียงจากงานศึกษาและหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าด้วยเรื่องผลกระทบของการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ทั้งในมิติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงตลอดสายน้ำ ตั้งแต่ชุมชนริมฝั่งโขงในไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อาทิ ความผันผวนขึ้นลงของระดับน้ำ ความเสี่ยงต่อการล่มสลายของระบบนิเวศ การสูญเสียที่ดินทำกินและความไม่มั่นคงทางอาหาร ขณะเดียวกันก็ได้ตั้งคำถามว่า “เขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ” กำลังสร้างความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นวงกว้างหรือไม่ และการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ฟังในรูปแบบบทความเสียง

อุตสาหกรรมการสร้างเขื่อนเฟื่องฟูเป็นอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2444 – 2543) โดยเฉพาะทศวรรษที่ 1930 – 1970 (พ.ศ. 2473 – 2522) เขื่อนถูกมองว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของ “การพัฒนา” ที่มองเห็นและจับต้องได้ง่ายเพื่อใช้ “จัดการทรัพยากรน้ำ” และผลิตกระแสไฟฟ้า ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลของหลายประเทศที่ต้องการเร่งเครื่องพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อพุ่งทะยานไปสู่อุดมคติแห่งความ “ความทันสมัย” มักเลือกใช้การลงทุนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้ามาอ้างเป็นผลงานโบว์แดงสำคัญ เรียกคะแนนความนิยมในยุคสมัยของตนเอง ในช่วงเวลาหนึ่งเขื่อนจำนวนมากถูกสร้างในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป จนกระทั่งทศวรรษที่ 1960 (พ.ศ. 2503) เป็นต้นมา โครงการสร้างเขื่อนเริ่มเติบโตในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ถูกเรียกว่า “กำลังพัฒนา” มักจะได้รับการสนับสนุนจากสถาบันทางการเงินระดับโลกอย่างธนาคารโลก (World Bank) หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เพื่อลงทุนสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าสนองตอบต่อความต้องการเติบโตทางเศรษฐกิจ โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำมักถูกอ้างจากกลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนว่าเป็นเครื่องมือผลิตพลังงานทดแทนราคาถูก ต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานอื่น มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาไม่สูงมากและมีอายุการใช้งานยาวนาน [1]

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเอกสารรายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลก (The World Commission on Dam – WCD) ที่เผยแพร่ในปี ค.ศ 2000 (พ.ศ. 2543) แสดงให้เห็นสถิติจำนวนเขื่อนทั่วโลกที่เริ่มลดลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 อันเป็นผลมาจากแรงกดดันของสาธารณะที่สะท้อนว่าการสร้างเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำกำลังสร้างความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นวงกว้าง มูลค่าความสูญเสียนั้น มหาศาลเกินกว่าจะประเมินราคาได้ ข้อครหาสำคัญนี้ ส่งผลให้ธนาคารโลกลดบทบาทตนเองในการเป็นผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนลง กอปกรกับการทยอยเกิดขึ้นของเทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าทางเลือกอื่น ทำให้อุตสาหกรรมการสร้างเขื่อนค่อย ๆ ลดจำนวนลงทั่วโลก

ในศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2544 – 2643) อุตสาหกรรมการสร้างเขื่อนถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งโดยประเทศยักษ์ใหญ่อย่างประเทศจีน ด้วยความต้องการพลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาลภายในประเทศ รัฐบาลจีนระดมสร้างเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำจำนวนมากเพื่อเร่งผลิตกระแสไฟฟ้าและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ความมั่นคงทางพลังงานจึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของรัฐบาลจีน ที่ผูกโยงกับความมั่นคงของรัฐและการสร้างความชอบธรรมในฐานะผู้บริหารประเทศ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533) เป็นต้นมา โครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้นมากมาย แม่น้ำหลายสายในจีนจึงถูกแปรเปลี่ยนให้กลายวัตถุดิบสำคัญในการปั่นกระแสไฟฟ้าส่งกระจายไปทั่วประเทศ มีการประเมินว่าตัวเลขของประชาชนจีนที่รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและถูกสั่งให้อพยพออกไปจากถิ่นฐานในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อาจมีจำนวนสูงถึง 22.8 ล้านคน จากการสร้างเขื่อนจำนวนกว่า 22,000 แห่งในช่วงก่อนปี 2006 (พ.ศ. 2549) [2]

| อุตสาหกรรมเขื่อนนานาชาติบนแม่น้ำโขง

ด้วยสภาพภูมิประเทศที่กว้างใหญ่ ประเทศจีนเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายหลักหลายสายที่ไหลข้ามพรมแดนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน หนึ่งในแม่น้ำสำคัญที่ไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ แม่น้ำล้านช้าง (ชื่อเรียกในประเทศจีน) ซึ่งไหลผ่านมณฑลยูนนานและเป็นต้นสายธารของ “แม่น้ำโขง” อันเป็นแม่น้ำสายหลักและมีสถานะเป็นแม่น้ำนานาชาติ แม่น้ำสายเดียวกันนี้ไหลผ่านพรมแดนจีน ลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อุตสหกรรมการสร้างเขื่อนโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำผุดขึ้นบนแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงตลอดทั้งสาย ปัจจุบันในแผ่นดินจีนมีเขื่อนที่ถูกสร้างเสร็จและเปิดใช้งานจำนวน 11 เขื่อน ในพื้นที่ สปป.ลาว 2 เขื่อน และอีกกว่า 12 เขื่อน อยู่ระหว่างวางแผนการก่อสร้างทั้งใน สปป. ลาวและกัมพูชา [3]

ฝ่ายสนับสนุน

ข้อมูลจากฝั่งสนับสนุนการสร้างเขื่อนในจีน มักจะอ้างถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อแสดงคุณูปการของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนในมณฑลยูนนานที่ถูกตีตราว่ายากจนกว่าภูมิภาคอื่นในประเทศจีน เขื่อนจึงถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่นำมาแก้ไขปัญหาความยากจนข้นแค้นของคนชนบทในพื้นที่ห่างไกล สร้างงานให้แก่ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงานโดยบริษัทที่มารับจ้างสร้างเขื่อน ตลอดจนเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในมณฑลยูนนาน

ข้ออ้างความดีงามของเขื่อนเริ่มขยายใหญ่โตในยุคที่ทั่วโลกตื่นตัวกับการสรรหาพลังงานทดแทน โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำถูกอ้างถึงประโยชน์ระดับมหภาคในการผลิตพลังงานสะอาดทดแทนการใช้ถ่านหิน เพื่อช่วยแก้ปัญหาสภาวะภูมิอากาศโลก [4] ข้ออ้างลักษณะดังกล่าวคล้ายคลึงกับเหตุผลของรัฐบาลหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังก่อสร้างเขื่อนจำนวนมากในแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาต่าง ๆ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2010 (พ.ศ. 2553) เป็นต้นมา โครงการเขื่อนมากมายถูกระดมสร้างขึ้นใน สปป.ลาว และกัมพูชาโดยเฉพาะรัฐบาลลาวมุ่งมั่นจะผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบาย “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” เขื่อนจำนวนมากถูกสร้างขึ้นด้วยรูปแบบการให้สัมปทานบริษัทเอกชนเข้ามาสร้าง บริหารกิจการ ซ่อมแซมเป็นระยะเวลาประมาณ 25-30 ปี และส่งคืนให้กับรัฐบาลลาวเมื่อครบสัญญา [5]

ตัวอย่างสำคัญของทุนไทยที่เข้าไปสร้างเขื่อนใน สปป.ลาว คือ เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ดำเนินการก่อสร้างโดยกลุ่มทุนไทย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยเป็นสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว กับ บริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ ระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี ดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว [6] นอกจากนี้ ยังมี เขื่อนปากแบง และ เขื่อนสานะคาม ที่อยู่ระหว่างการวางแผนก่อสร้าง โดยมีผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัท China Datang Oversea Investment ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่จากประเทศจีน รวมทั้ง เขื่อนสตึงเตร็ง ในประเทศกัมพูชา ผู้ลงทุนหลักคือบริษัท  เออร์เบิลแอนด์อันดัสเทรียล แอนด์ดีเวลอปเมนท์คอป จากประเทศเวียดนาม [7] รายชื่อบริษัทข้างต้นนี้ เป็นเพียงตัวอย่างของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมเขื่อนบนแม่น้ำสาขาอื่น ๆ ทั้งในลาวและกัมพูชาที่จะไหลมารวมกับแม่น้ำโขง ก็กำลังมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเกิดขึ้นมากมาย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้าง

| ความทุกข์ทนของผู้คนและสิ่งมีชีวิตตลอดสายน้ำ

ชุมชนลุ่มแม่น้ำล้านช้าง

ตัวอย่างผลกระทบของ เขื่อนม่านวาน (Man Wan) ซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกบนแม่น้ำล้านช้างในมณฑลยูนนานตอนใต้ของจีน เริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) ดำเนินการแล้วเสร็จในปี ค.ศ 1996 (พ.ศ. 2539) ในช่วงแรกนั้น รัฐบาลมณฑลและรัฐบาลกลางเป็นผู้ร่วมลงทุนสร้างเขื่อนม่านวานแล้วจึงส่งต่อให้กับบริษัท Hydrolancang บริษัทในเครือของ China Huaneng Group ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าบริษัทรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศจีน งานศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนดังกล่าว โดย International Displacement Monitoring Centre (iDMC) เผยแพร่ในปี 2017 (พ.ศ. 2560) พบว่า แม้ในเอกสารทางการจะระบุว่าประชาชน 7,260 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ แต่มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขที่แท้จริงย่อมมากกว่านี้ งานศึกษาพบว่ามีปัญหามากมายตามมาหลังการอพยพ อาทิ การจัดสรรที่ดินไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและทำกิน การไม่ได้รับค่าชดเชยเพียงพอต่อการสร้างที่อยู่ใหม่ บางครอบครัวต้องถูกอพยพซ้ำอีกครั้งจากปัญหาดินถล่ม ชุมชนต้องประสบปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงและน้ำประปาปนเปื้อน เกษตรกรหลายรายไร้ที่ทำกินและขาดรายได้เพราะที่ดินที่ได้รับจัดสรรใหม่ไม่เพียงพอต่อการเพราะปลูก ป่าไม้ที่เคยเป็นแหล่งทำกินหายไปจำนวนมากจากการสร้างเขื่อน ปัญหาดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้ บางครอบครัวมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากการโยกย้ายถิ่นฐานได้ทำลายเครือข่ายทางสังคมที่เคยเป็นระบบพึ่งพาอาศัยแบบเครือญาติทั้งในแง่แรงงานและเศรษฐกิจ หลายครอบครัวเคยพึ่งพาตนเองจากการเกษตร ต้องเปลี่ยนอาชีพไปสู่การขายแรงงานในตัวเมืองและส่งเงินมาเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว กลุ่มผู้สูงอายุมักจะเป็นกลายเป็นกลุ่มที่ตกอยู่ในสถานะยากลำบากมากขึ้นเมื่อต้องปรับตัวในพื้นที่ใหม่ และเด็กผู้หญิงมักถูกให้ออกจากระบบการศึกษาเมื่อครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน ตลอดจนปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอย่างฉับพลัน นำไปสู่การสูญเสียอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และการกลืนกลายทางวัฒนธรรมเมื่อย้ายเข้าไปอยู่ร่วมกับชุมชนจีนชาวฮั่นในพื้นที่จัดสรรแห่งใหม่

ชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง

ตัวอย่างการสร้าง เขื่อนดอนสะโฮง เป็นอีกโครงการที่มีกระแสกดดันจากสาธารณะตั้งแต่เริ่มประกาศการก่อสร้างฯ ในปี 2013 (พ.ศ. 2556) เนื่องจากเขื่อนแห่งนี้ก่อสร้างบนแม่น้ำโขงบริเวณสี่พันดอน ในแขวงจำปาสักใกล้พรมแดนระหว่าง สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งนิเวศวิทยาที่อุดมสมบูรณ์ มีเกาะแก่งมากมาย เต็มไปด้วยความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์น้ำนานาพันธุ์ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบจากเขื่อนต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตคนริมโขงดังกระหึ่มขึ้นเป็นวงกว้าง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาวพิจารณาระงับการก่อสร้าง แม้ว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติจะสามารถกดดันรัฐบาลลาวให้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจนต้องหยุดการก่อสร้างไว้ชั่วคราว แต่ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลลาวก็ยืนยันเดินหน้าการก่อสร้างต่อไป จนปัจจุบันโรงไฟฟ้าใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ และได้เริ่มทดลองเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2019 (พ.ศ. 2562) เขื่อนดอนสะโฮงแห่งนี้มีบริษัท Mega First Corporation Berhad (MFCB) จากมาเลเซียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าลาว ดำเนินการก่อสร้างโดย Sinohydro มีแผนจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในพื้นที่แขวงภาคใต้ของลาวและขายให้กัมพูชา [8]

งานศึกษาผลกระทบจากเขื่อนดอนสะโฮ [9] พบว่า เขื่อนตั้งขวางช่องทางอพยพของปลาในแม่น้ำโขงที่สัตว์น้ำเคยใช้ผ่านได้ตลอดทั้งปี พันธุ์ปลาท้องถิ่นจำนวนมากที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในโตนเลสาบในกัมพูชา และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนามล้วนใช้ช่องทางนี้เพื่อขึ้นไปวางไข่ช่วงแม่น้ำโขงในพื้นที่ สปป.ลาว และไทย เสียงสะท้อนของชาวประมงที่เคยพึ่งพาการจับสัตว์น้ำเป็นอาหารและรายได้ต่างโอดครวญถึงปริมาณสัตว์น้ำที่หายไปตั้งแต่เขื่อนเริ่มสร้าง ขณะที่มาตรการลดผลกระทบต่อช่องทางวางไข่ของพันธุ์ปลาคือ การบังคับให้ชาวประมงงดใช้เครื่องมือดักปลาขนาดใหญ่อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรียกว่า “หลี่” เมื่อไม่สามารถจับปลาได้มากอย่างที่เคย คนในชุมชนรอบเขื่อนจำนวนมากประสบกับความยากลำบากจากรายได้ที่ลดลง จำเป็นต้องออกไปรับจ้างขายแรงงานเพื่อเลี้ยงชีพ ซึ่งจำนวนผู้ออกจากชุมชนไปทำงานในไทยอาจสูงถึง 7,000 คนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา [10]

ปัจจุบันหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงของแม่น้ำโขงนั้น สามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งสายน้ำ ไล่เรียงตั้งแต่ชุมชนริมฝั่งโขงในไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม

เรื่องราวความทุกข์ทนของชุมชนแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ถูกบันทึกผ่านภาพข่าว สารคดี บทความ และงานวิชาการจำนวนมากในช่วงระยะเวลาเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงของแม่น้ำโขงนั้นสามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งสายน้ำ  ไล่เรียงตั้งแต่ชุมชนริมฝั่งโขงในไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ต่างต้องประสบกับความผันผวนขึ้นลงของระดับน้ำ วิกฤตปริมาณแม่น้ำโขงแห้งขอด แม่น้ำโขงเปลี่ยนสี ปริมาณสัตว์น้ำลดลง การหายไปของพันธุ์ปลาท้องถิ่น ล้วนเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศกำลังล่มสลาย ชุมชนที่เคยพึ่งพาอาหารและรายได้จากแม่น้ำโขงต้องเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางอาหารและการดำรงชีพ เรื่องราวความเจ็บปวดของผู้คนที่จำใจต้องย้ายจากถิ่นที่อยู่อาศัยเพื่อดิ้นรนไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ครอบครัวมากมายสูญเสียที่ดินทำกิน เหตุการณ์เหล่านี้ ล้วนเป็นโศกนาฎกรรมที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเมื่อมีการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ขณะที่การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อนนั้นได้ดำเนินคู่ขนานกันมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถหยุดยั้งการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงไว้ได้ อย่างมากที่สุดคือทำได้เพียงยืดระยะเวลากระบวนการก่อสร้าง หรือกดดันให้โครงการเหล่านั้นเพิ่มมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อจะได้ห้อยป้าย “โรงไฟฟ้าแห่งความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คำถามสำคัญคือ การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

| กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม หรือจะสู้การได้ตัดริบบิ้นเปิดงาน  

ในศตวรรษที่ 21 เขื่อนไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ องค์ความรู้และงานศึกษาเกี่ยวกับความคุ้มค่าและผลกระทบของการสร้างเขื่อนจำนวนมากชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า  “เขื่อนที่ดีนั้นไม่มีอยู่จริง” [11] เขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมากถูกสร้างด้วยงบประมาณที่บานปลาย จนไม่มีความคุ้มค่าทั้งในแง่เศรษฐกิจและการลงทุน ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดนั้นล้วนเป็นประโยชน์ระยะสั้น ทว่าในระยะยาวการสร้างเขื่อนได้ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงจนเกินกว่าจะประเมินมูลค่าได้ เขื่อนขนาดใหญ่ไม่เพียงแค่ทำลายระบบการไหลของแม่น้ำ แต่ยังกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของทั้งโลก มีผู้คนและสิ่งมีชีวิตมากมายมหาศาลที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และที่สำคัญเขื่อนขนาดใหญ่นั้นกลับกลายเป็นตัวการที่สร้างความยากจนให้กับผู้คนจำนวนมากเสียอีก ถึงกระนั้น การถกเถียงยังคงดำเนินมาจวบจนปัจจุบัน แม้ในวันนี้โลกของเราจะมีเทคโนโลยีทางเลือกอื่นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วก็ตาม ดังนั้น คำถามที่ลึกลงไปกว่าคือ แล้วทำไมเขื่อนยังคงถูกเลือกใช้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ทำไมเหล่านักนโยบายและผู้มีอำนาจตัดสินใจถึงได้เสน่ห์หาการสร้างโครงการระดับเมกะโปรเจค อย่างการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำกันหนักหนา

การถกเถียงเปรียบเทียบประเด็นข้อดีข้อเสียและผลกระทบมากน้อยนั้นดูจะไม่เป็นที่สิ้นสุดลงได้ง่าย หรือประเด็นดังกล่าวอาจจะไม่ใช่แก่นแกนสำคัญในการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ แรงขับเคลื่อนสำคัญอาจจะเป็นเพราะคุณสมบัติของเขื่อนที่ยังคงสะท้อนความลุ่มหลงในเทคโนโลยีเพื่อท้าทายธรรมชาติ และการแสดงความสามารถที่ก้าวข้ามขีดข้อจำกัดของมนุษย์อย่างถึงที่สุด ผสมผสานไปกับกลยุทธ์ทางการเมืองที่เหล่าผู้มีอำนาจมักเลือกสร้างโครงการขนาดใหญ่ให้เป็นที่จดจำหรือเรียกความนิยมให้กับตนเอง โดยมีกลุ่มทุนที่เล็งเห็นช่องทางดำเนินธุรกิจระยะยาวเข้ามาดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมจับต้องได้ กลายเป็นอุตสาหกรรมเขื่อนขนาดใหญ่ที่รวมเอาทั้งบริษัทก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษา ธนาคาร สถาบันทางการเงิน นักลงทุน เจ้าของที่ดิน นักกฎหมาย นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สถาปนิค วิศวกร แรงงานก่อสร้าง ฯลฯ เกิดเป็นมหกรรมผลิตเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่ที่ใช้เม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล และปิดท้ายด้วยการจัดงานพิธีการตัดริบบิ้นถ่ายภาพเปิดโครงการอย่างยิ่งใหญ่ แรงขับเคลื่อนเหล่านี้ต่างหากใช่หรือไม่ที่ยังคงทำให้อุตสหกรรมเขื่อนดำเนินต่อไป [12]

| ทางเลือกสู่ความเป็นธรรม ในวันที่แม่น้ำโขงใกล้ล่มสลาย

01

ท่ามกลางกระแสไหลบ่าของอุตสาหกรรมเขื่อนบนแม่น้ำโขง ทางเลือกหนึ่งที่ถูกใช้คือ “การประนีประนอม” โดยการนำกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศมาใช้เป็นสื่อกลาง อาทิ กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่เน้นการเจรจาหารือ สร้างข้อตกลงระหว่างประเทศ มีการผลิตยุทธศาสตร์ คู่มือแนวทางการปฏิบัติ และเครื่องมือประเมินผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมออกมามากมาย อาทิ กลไกการกำหนดค่าชดเชยเยียวยา การเฝ้าระวังติดตามบริหารจัดการน้ำ กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ฯลฯ ทว่าแนวคิดที่เชื่อว่าจะสามารถปรับปรุงเขื่อนให้ “เหมาะสม” นั้น มักจบลงที่การสรรหาวิธีการที่เชื่อว่าจะบรรเทาผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่เงื่อนไขทางเทคนิคจะเอื้ออำนวยให้ทำได้ แนวทางดังกล่าวเปรียบเสมือนกับการให้คำมั่นสัญญาต่ออนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ขณะที่มีงานศึกษามากมายพิสูจน์แล้วว่า ในทางปฏิบัติเมื่อเขื่อนขนาดใหญ่ถูกสร้าง การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตามมาและการจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมนั้นเป็นไปได้ยากมาก [13]

02

ทางเลือกอื่นที่มีการนำมาใช้แล้วคือ “การรื้อเขื่อนทิ้ง” เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้กับสายน้ำ โครงการรื้อถอน ทำลายเขื่อนเกิดขึ้นในหลายประเทศ [14] อาทิ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น หรือแม้แต่จีนก็ได้เริ่มทุบทำลายเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำทิ้งไปแล้วหลายแห่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีแผนจะยุติหรือปรับปรุงการทำงานของเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีกกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ ด้วยเหตุผลในการปกป้องและกู้คืนระบบนิเวศที่ถูกทำลายจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมักง่าย [15]


ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนอยากชวนให้เห็นว่าประเด็นเขื่อนโรงไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงนั้น ไม่สามารถมองอย่างตัดแบ่งแยกส่วนได้ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาข้ามพรมแดนและข้ามเวลา จำเป็นต้องอาศัยมุมมองที่กว้างกว่ากรอบอธิปไตยประเทศของใครของมัน หรือผลประโยชน์ระยะสั้นของคนไม่กี่ชั่วรุ่น ความทุกข์ทนของผู้คนและสิ่งมีชีวิตตลอดสายน้ำนั้นไม่จำกัดเชื้อชาติและภาษา การตัดสินใจใช้อำนาจรัฐที่มักง่ายและทุนที่ไร้ความผิดชอบกำลังสร้างหายนะให้กับโลกใบนี้ การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผูกเงื่อนไขอำนาจการตัดสินใจไว้ในกระบวนการมีส่วนร่วม สถานการณ์ของแม่น้ำโขงวันนี้ไม่เหลือเวลาให้กับกระบวนการประนีประนอมที่เลื่อนลอยอีกแล้ว

การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาจเป็นได้แค่คำกล่าวสวยหรูของผู้มีอำนาจและนักนโยบาย ตราบใดที่ผู้แบกรับผลกระทบทำได้เพียงส่งเสียงสะท้อนปัญหา แต่ปลายทางของกระบวนการมีส่วนร่วมคือรัฐเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เมื่อการอนุมัติให้สร้างเป็นอำนาจรัฐ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหรือลูกหลานของพวกเขาย่อมต้องได้รับสิทธิ์และอำนาจในการยุติ หรือ รื้อถอนเขื่อนออกไปอย่างเสมอภาคกัน


“เวลาแม่น้ำโขงเหลือไม่มาก
คนรุ่นหลังไม่มีที่ให้ถอยอีกแล้ว”


SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ 10 ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 การบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ให้มีแหล่งน้ำใช้อุปโภคและบริโภคสำหรับทุกคน รวมถึงผ่านความร่วมมือระหว่างเขตแดน #SDG7 การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเป็นการผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน/พลังงานสะอาด โดยตามมุมมองของผู้สนับสนุน การสร้างเขื่อนยังเป็นช่องทางส่งเสริมการจ้างงานตาม #SDG8 ด้วย
.
อย่างไรก็ดี “ผลกระทบของการสร้างเขื่อน” มีต่อ #SDG15 ว่าด้วยเรื่องระบบนิเวศบนบกและน้ำจืด พื้นที่ชุ่มน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ และ #SDG2 ความมั่นคงทางอาหารและระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน


เอกสารอ้างอิง

[1] WCD (World Commission on Dams). Dams and Development: A New Framework for Decision-Making; Earthscan Publications: London, UK, 2000.

[2] iDMC. Lessons Learned from the Manwan Dam [Internet]. internal displacement monitoring centre; 2017 Apr. (Dam displacement). Available from: https://www.internal-displacement.org/sites/default/files/inline-files/20170411-idmc-china-dam-case-study.pdf.

[3] Eyler B, Kwan R. New Evidence: How China Turned Off the Tap on the Mekong River • Stimson Center [Internet]. Stimson Center. 2020 [cited 2021 Apr 19]. Available from: https://www.stimson.org/2020/new-evidence-how-china-turned-off-the-mekong-tap/.

[4] Zhang Y. Accelerating Sustainability by Hydropower Development in China: The Story of HydroLancang. Sustainability. 2017 Jul 26;9(8):1305.

[5] Soukhaphon A, Baird IG, Hogan ZS. The Impacts of Hydropower Dams in the Mekong River Basin: A Review. Water. 2021 Jan 22;13(3):265.

[6] เขื่อนยักษ์ “ไซยะบุรี” จ่ายไฟแล้ววันนี้. กรุงเทพธุรกิจ [Internet]. 2020 Oct 29 [cited 2021 Oct 28]; Available from: https://www.bangkokbiznews.com/news/852501.

[7] ทุนต่างชาติจาก 4 ประเทศ สร้างแล้ว/เตรียมลงทุนสร้าง 11 เขื่อนบนแม่น้ำโขง ในลาวและกัมพูชา. Workpointtoday [Internet]. 2020 Nov 1 [cited 2021 Oct 28]; Available from: https://workpointtoday.com/11-dam-on-maekong-in-laos-and-cambodia/.

[8] Corporate Profile & Milestone [Internet]. Mega First Corporation Berhad. [cited 2021 Oct 28]. Available from: http://mega-first.com/corporate-profile/.

[9] Soukhaphon A, Baird IG, Hogan ZS. The Impacts of Hydropower Dams in the Mekong River Basin: A Review. Water. 2021 Jan 22;13(3):265.

[10] Village Fishermen Near Laos’ Don Sahong Dam Report Smaller Catches — Radio Free Asia. RFA (Radio Free Asia) [Internet]. 2019 Oct 24 [cited 2021 Oct 28]; Available from: https://www.rfa.org/english/news/laos/mekong-fish-depletion-laos-10242019155759.html.

[11] Scudder T. The Good Megadam [Internet]. Flyvbjerg B, editor. Vol. 1. Oxford University Press; 2017 [cited 2021 Oct 28]. Available from: http://oxfordhandbooks.com/view/10.1093/oxfordhb/9780198732242.001.0001/oxfordhb-9780198732242-e-24.

[12] Flyvbjerg B. Introduction [Internet]. Flyvbjerg B, editor. Vol. 1. Oxford University Press; 2017 [cited 2021 Oct 23]. Available from: http://oxfordhandbooks.com/view/10.1093/oxfordhb/9780198732242.001.0001/oxfordhb-9780198732242-e-1.

[13] Scudder T. Large Dams: Long Term Impacts on Riverine Communities and Free Flowing Rivers. 1st ed. 2019. Singapore: Springer Singapore : Imprint: Springer; 2019. 1 p. (Water Resources Development and Management).

[14] ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ. ทั่วโลกกำลังรื้อเขื่อนทิ้ง โดย ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ [Internet]. ThaiTribune ไทยทริบูน. 2016 [cited 2021 Oct 28]. Available from: http://www.thaitribune.org/contents/detail/308?content_id=18421&rand=1472040223.

[15] China Has Thousands of Hydropower Projects It Doesn’t Want – BNN Bloomberg. ฺBloomberg News [Internet]. 2021 Aug 14 [cited 2021 Oct 28]; Available from: https://www.bnnbloomberg.ca/china-has-thousands-of-hydropower-projects-it-doesn-t-want-1.1640135.

Li Xia. China Focus: China demolishing hydro dams to protect endangered giant salamanders – Xinhua | English.news.cn. Xinhua [Internet]. 2019 Mar 21 [cited 2021 Oct 28]; Available from: http://www.xinhuanet.com/english/2019-03/21/c_137913456.htm.

Last Updated on มีนาคม 10, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น