โครงข่ายถนนที่มีคุณภาพและการก่อสร้างที่ลดก๊าซโลกร้อน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอินเดีย – ตอบโจทย์ Net-Zero

2 นักวิชาการจาก University of Reading และ University of Warwick เขียนบทความวิเคราะห์ India’s terrible roads: how to build a world-class network and still reach net zero ใน The Conversation ระบุว่า เมื่อเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอินเดียแล้ว จะพบว่าปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่แตกต่าง มาจาก “การก่อสร้างถนน” ที่ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศ

กล่าวคือ ภายใน 20 ปี จีนสามารถเพิ่มถนนทางหลวงได้ราว 3 เท่า จาก 50,000 กิโลเมตรในปี 2543 เป็น 160,000 กิโลเมตรภายในสิ้นปี 2563 เช่นเดียวกับอินเดียที่สามารถเพิ่มถนนทางหลวงได้มากในระยะเวลาเดียวกัน ถึงกระนั้น ถนนทางหลวงในอินเดียมีคุณภาพน้อยกว่า แคบกว่า มักไม่ได้รับการบำรุงรักษา และคิดเป็นเพียงส่วนน้อยของระบบถนนทั้งหมดในประเทศ จึงเป็นข้อถกเถียงว่าปัจจัยอย่างถนนทางหลวงนี้เอง เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของอินเดียเติบโตน้อยกว่าจีนในช่วง 20 ปีนี้ (เศรษฐกิจอินเดียเติบโต 6 เท่า ขณะที่เศรษฐกิจจีนเติบโต 12 เท่า)

เพราะสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยแต่มีประชากร/แรงงานมาก การสร้างถนนจะช่วยปลดล็อกการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ทั้งยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยให้การเดินทางไปทำงานทำได้โดยสะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เอื้ออำนวยการขนส่งสินค้ารวมถึงลดค่าใช้จ่ายด้านการวางแผนระยะเวลากักเก็บหรือจ่ายสินค้า เป็นต้น นั่นหมายความว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพ จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเสียเอง ซึ่ง 2 นักวิชาการระบุว่า หากเพิ่มปริมาณถนนเพียง 1% ก็จะช่วยเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจได้ราว ๆ 0.25% จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงควรจะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนหนทาง

ในกรณีของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบถนนใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รัฐบาลมีโครงการที่หลากหลายและนโยบายที่จะดึงดูดนักลงทุน โดยวางแผนจะก่อสร้างถนนทางหลวงให้ได้ 40 กิโลเมตรทุกวันในปีงบประมาณปัจจุบัน มุ่งเป้าเพิ่มถนนทางหลวงทั้งหมด 200,000 กิโลเมตร ภายในปี 2565 และเพิ่มจำนวนถนนทางหลวงให้ได้ 3 เท่าภายใน 2 – 3 ปีนี้ หรือในภาพรวมโครงข่ายถนนทั้งหมด (ตามแผน) ที่ 5.9 ล้านกิโลเมตร มากกว่าจีน (4.6 ล้านกิโลเมตร) โดยในจำนวนนี้ มี 64.5% ใช้สำหรับขนส่งสินค้าในประเทศ และ 90% สำหรับการเดินทางสัญจรทั่วไป โดยเชื่อมโยงระหว่างเมืองและชนบท

ถึงกระนั้น ถนนในอินเดียมีคุณภาพที่ต่ำ โดยมีเพียง 3% ของถนนทั้งหมดที่เป็นถนนทางหลวง และ 75% ของถนนทางหลวงมีเพียง 2 เลน ขณะที่ถนนหลายสายมีการสัญจรที่คับคั่ง ไม่มีงบประมาณที่เพียงพอสำหรับการบำรุงรักษาถนน จากถนนทั้งหมด มี 40% เป็นถนนทางดิน และมีชุมชนในชนบท 30% หรือมากกว่านั้นที่ไม่สามารถเข้าถึง ‘ถนนที่สามารถรองรับการสัญจรได้ในทุกสภาพอากาศ’ (all-weather roads)

นอกจากอินเดียจะต้องจัดการกับระบบการบริหารจัดการภายในประเทศ อาทิ ระยะเวลาที่ใช้ในการผ่านโครงการ รวมถึงการพิจารณางบประมาณหรือการระดมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลักดันให้การเพิ่มปริมาณถนนที่มีคุณภาพแล้ว ความท้าทายของอินเดียยังรวมถึงการหางบประมาณการลงทุนสำหรับพัฒนาเทคโนโลยีในการก่อสร้าง และการสนับสนุนยานพาหนะที่ใช้ไฟฟ้า เพื่อให้การก่อสร้างครั้งนี้สามารถตอบโจทย์ความมุ่งมั่นที่ได้ประกาศไว้ในการประชุม COP 26 โดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ว่าจะ (พยายาม) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2613

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
-(8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ
-(8.5) ส่งเสริมการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และนวัตกรรม
-(9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความทนทาน ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งเป้าส่งเสริมบริการที่มีราคาที่เข้าถึงได้ และเท่าเทียมสำหรับทุกคน
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน
-(11.2) จัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ สำหรับทุกคน
-(11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท
#SDG13 การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

แหล่งที่มา:
India’s terrible roads: how to build a world-class network and still reach net zero (the conversation)

Last Updated on พฤศจิกายน 19, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น