แบรนด์ค้าปลีกด้านแฟชั่นสัญชาติไอริช “Primark” ประกาศขยายการดำเนินงาน ‘โครงการฝ้ายเพื่อความยั่งยืน’

หลายคนคงสงสัยว่า แบรนด์ค้าปลีกด้านแฟชั่นสัญชาติไอริชอย่าง บริษัท “Primark” มีความโดดเด่นอย่างไร บริษัท Primark เป็นบริษัทเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างมากจนข้ามชาติไปถึงประเทศอังกฤษและประสบผลสำเร็จ โดยจุดเด่นการผลิตเสื้อผ้าของ Primark คือ การใช้ ‘ฝ้าย’ เป็นเส้นใยธรรมชาติหลักในการผลิต ซึ่งใส่ใจอย่างลึกซึ้งว่าวัสดุที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์นั้นมาจากแหล่งที่มาใด อันเป็นผลให้นำมาสู่การขับเคลื่อนที่ยั่งยืน โดยการประกาศขยาย ‘Sustainable Cotton Programme’ หรือ ‘โครงการฝ้ายเพื่อความยั่งยืน’ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านการเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้นภายในปี 2566 และสร้างความแน่ใจแก่ผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ฝ้ายทั้งหมดจากบริษัทมาจากแหล่งที่มาที่มีกรรมวิธีการผลิตอย่างยั่งยืนภายในปี 2570

บริษัท Primark เป็นบริษัทผู้ค้าปลีกสำคัญที่มีการวางแผนการจัดฝึกอบรมเกษตรกรผู้ปลูกฝ้าย จำนวน 275,000 ราย ตามแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้นภายในปี 2566 โดย Primark ประกาศแผนการขยาย ‘โครงการฝ้ายเพื่อความยั่งยืน’ บริษัทได้ยืนยันว่า จะเพิ่มจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายรายย่อยที่มีแผนจะฝึกอบรมเทคนิคการเกษตรแบบยั่งยืนให้มากขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าจำนวนทั้งหมดที่กำหนดไว้ภายในสิ้นปี 2566 และจากการดำเนินโครงการ มีการจัดส่งการฝึกอบรมให้กับเกษตรกรเกือบ 150,000 ราย ในประเทศอินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน เกิดเป็นการดำเนินงานร่วมกับการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงช่วยประหยัดเงินให้แก่เกษตรกรในการพัฒนาการปลูกฝ้ายอีกด้วย

โดยเริ่มพัฒนาและเปิดตัวโครงการนำร่อง ครั้งแรกในประเทศอินเดีย เมื่อปี 2556 เป็นการจับมือกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านพืชไร่อย่าง ‘Cotton Connect’ องค์กรระดับรากหญ้า และสมาคมสตรีผู้ประกอบอาชีพอิสระ จากจำนวนเกษตรกรที่เห็นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ พบว่า เป็นผู้หญิง และได้รับการฝึกอบรมมาเป็นเวลานานถึงสามปี ในการจัดการต่อการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงที่มากเกินไป บริษัทกล่าวว่าโดยเฉลี่ยแล้ว จากการฝึกอบรมเกษตรกรในโครงการ มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยน้อยลง 40 เปอร์เซ็นต์ และใช้น้ำน้อยลง 10 เปอร์เซ็นต์ต่อไร่

นอกจากนี้ ยังได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 14 ของผลประกอบการต่อต้นทุนที่มีการลดลง เป็นการช่วยผลักดันผลกำไรให้แก่เกษตรกรรายย่อยให้เพิ่มมากขึ้นถึงสามเท่า โดยการขยายตัวของโครงการนี้ คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตฝ้ายอย่างยั่งยืนสำหรับผลิตภัณฑ์ Primark ได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ โดยต่อยอดจากการใช้ฝ้ายที่ผลิตผ่านโครงการในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองความต้องการฝ้ายที่มากกว่าหนึ่งในสี่ของการผลิต

Lynne Walker ผู้อำนวยการ Primark Cares

กล่าวว่า “โครงการฝ้ายเพื่อความยั่งยืนของเรามีบทบาทสำคัญต่อวิสัยทัศน์ระยะยาวในการผลิตเสื้อผ้าให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง การเพิ่มจำนวนเกษตรกร จะสามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าผ้าฝ้ายทั้งหมดในเสื้อผ้าของเรา จะเป็นแบบออร์แกนิค รีไซเคิล หรือจากกรรมวิธีการผลิตอย่างยั่งยืนภายในปี 2027”

จากการขยายตัวของโครงการ ได้รับผลตอบรับที่ดีมากจาก Reema Nanavaty ผู้นำของสมาคมสตรีผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Self-Employed Women’s Association: SEWA) และ RUDI ได้กล่าวไว้ว่า การเป็นพันธมิตรกับ ‘Primark’ และ ‘Cotton Connect’ ช่วยให้มีการ “เสริมสร้างความรู้ของผู้หญิงเกี่ยวกับวิธีการทำไร่ฝ้ายแบบยั่งยืน” 

จากการฝึกอบรมของ Primark สามารถช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตและเสริมสร้างวิธีการนำการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ จนก่อให้เกิดการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “โครงการนี้ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การลงทุนระยะยาวในการเป็นเกษตรกร สามารถช่วยสร้างความยืดหยุ่นทางการเงินให้ตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อที่ว่าโครงการนี้ดำเนินงานมาได้ไกลอย่างมาก หากนับตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเราเริ่มต้นมาจากเกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายหญิงราว 1,200 รายในอินเดียเท่านั้น แต่มีการดำเนินงานมาจนถึงทุกวันนี้ ถือเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรทั่วทั้งอินเดียที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง” 

ท้ายที่สุดนี้ Primark กล่าวว่าในขณะที่ขยายโครงการดังกล่าว บริษัทก็ยังคงทำงานร่วมกับบริษัท Oritain ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบกระบวนการจัดการการผลิตและติดตามที่มาของฝ้ายร่วมด้วย ทำให้ Primark และลูกค้าต่างมั่นใจได้ว่าฝ้ายจะได้รับการผลิตตามแนวทางปฏิบัติในด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.3) เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้ผลิตผู้หญิง ผู้ผลิตคนพื้นเมือง ผู้ผลิตเกษตรแบบครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ผ่านความมั่นคงและความเท่าเทียมในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ภายในปี 2573
– (2.4) เพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ภูมิอากาศที่เลวร้าย, ความแห้งแล้ง, น้ำท่วม และความเสียหาย และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573
– (2.a) เพิ่มการลงทุนรวมถึงการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในชนบท การวิจัยเกษตรและการขยายการบริการ การพัฒนาเทคโนโลยี และการทำธนาคารยีนของพืชและสัตว์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5)  สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
# SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤษภาคม 27, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น