รายงานฉบับใหม่ของ UNODC ชี้ยาบ้าในอาเซียนราคาถูกลง เข้าถึงง่ายขึ้น ส่งผลให้การค้าและเสพขยายตัวสูงต่อเนื่อง

สถานการณ์การค้ายาเสพติดประเภทสังเคราะห์ (synthetic drugs) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากพิจารณาจากสถิติ 3 ปีก่อนหน้านี้จะพบว่ายาบ้า (Metamphetamine เป็นสารกระตุ้นประสาทในกลุ่มสารสังเคราะห์ Amphetamine) ที่ถูกยึดครองได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 จำนวนยาบ้าที่ถูกยึดได้เพิ่มขึ้น 78.5% ปี 2563 เพิ่มขึ้น 84.8% และล่าสุดปี 2564 เพิ่มสูงถึง 88.6% 

SDG Recommends ฉบับนี้ ชวนอ่านข้อมูลที่น่าสนใจนี้ผ่าน รายงานยาเสพประเภทติดสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การพัฒนาและความท้าทายล่าสุด ปี 2565 (Synthetic Drugs in East and Southeast Asia: latest developments and challenges 2022) จัดทำโดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC)

รายงานดังกล่าวนำเสนอข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ายาเสพติดประเภทสังเคราะห์ อาทิ

  • ยาบ้าแบบเม็ดที่ยึดได้ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2564 มีจำนวนมากกว่า 1 พันล้านเม็ด คิดเป็นน้ำหนักรวม 172 ตัน นับเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (ที่ยึดได้เพียง 143 ล้านเม็ด) ถึง 7 เท่า 
  • ยาบ้าในรูปผลึกใส (crystal methamphetamine) หรือยาไอซ์ ที่ยึดได้ในปี 2564 อยู่ที่เกือบ 79 ตัน ซึ่งต่ำกว่าที่ยึดได้ในปี 2563 จำนวน 82 ตัน แต่ก็มากกว่าที่ยึดได้เมื่อ 10 ปีที่แล้วจำนวน (ที่ยึดได้ 10 ตัน) ถึง 8 เท่า
  • ราคาของทั้งยาบ้าแบบเม็ดและยาไอซ์ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมาเลเซียและไทยต่างรายงานข้อมูลตรงกันว่าในปี 2564 ราคาค้าส่งและขายปลีกยาบ้าตามท้องถนนลดลงถึงระดับต่ำสุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากอุปทาน หรือปริมาณสินค้าในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก 
  • พิจารณาเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่าจำนวนยาบ้าที่ยึดครองได้จากปี 2563 ถึงปี 2564 เพิ่มขึ้นใน 6 ประเทศ ได้แก่ ลาว (เพิ่มขึ้น 119.1%) อินโดนีเซีย (เพิ่มขึ้น 49%) ไทย (เพิ่มขึ้น 29.4%)  สิงคโปร์ (เพิ่มขึ้น 10%)  กัมพูชา (เพิ่มขึ้น 9.9%) ฟิลิปปินส์ (เพิ่มขึ้น 5.2%)  และอีก 3 ประเทศมีเปอร์เซ็นต์ลดลง ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (ลดลง 89.4%) เมียนมา (ลดลง 35.1%) มาเลเซีย (ลดลง 25.4%)
  • ลาวกลายเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายที่สำคัญสำหรับการค้ายาเสพติดในประเทศไทยและส่วนอื่น ๆ ของตลอดแม่น้ำโขง รวมถึงเอเชียแปซิฟิก ขณะที่มาเลเซียยังเป็นเส้นทางที่สำคัญสำหรับการลำเลียงยาเสพติดไปยังอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 

จำนวนยาบ้าที่ถูกยึดได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเเละเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2554 – 2564

สถิติการเพิ่มขึ้นของยาบ้าที่ถูกยึดได้จากปี 2563 – 2564 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถานการณ์ยาเสพติดจากรายงานข้างต้นก่อให้เกิดความกังวลแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก โดย Jeremy Douglas ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า “ปริมาณการเข้าถึงยาบ้าและการค้ายาสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นน่าตกใจ และยังสามารถขยายตัวต่อไปได้อีกหากภูมิภาคไม่เปลี่ยนแนวทางและจัดการกับสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้สถานการณ์มาจนถึงจุดนี้ ซึ่งได้แก่ธรรมาภิบาลบริเวณสามเหลี่ยมทองคำและความต้องการของตลาด”

สำหรับประเทศไทย ธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า “การจัดการกับสถานการณ์ยาบ้ามีความสำคัญสูงสุดสำหรับรัฐบาลไทยและระดับภูมิภาค แต่ยาสังเคราะห์อื่น ๆ และยาผสมที่ออกมาในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รวมถึงการเตือนภัยล่วงหน้าก็มีความสำคัญมากเช่นกัน” 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
โควิด-19 เพาะเชื้อให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาใช้ยาเสพติดมากขึ้น ส่วนคนขายปรับตัว ขายออนไลน์-ส่งไปรษณีย์
UN เรียกร้องให้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปิดศูนย์กักกันและบำบัดการใช้ยาเสพติดแบบบังคับ
SDG Updates | ภาพรวมสถานการณ์ยาเสพติดโลกกับผลกระทบที่มีต่อ SDGs

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.5) เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.8) ขยายและเสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันของธรรมาภิบาลระดับโลก
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เพื่อป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม

แหล่งที่มา:
UNODC report: over one billion methamphetamine tablets seized in East and Southeast Asia in 2021 as the regional drug trade continues to expand (UNODC)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กันยายน 26, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น