SDGs in Focus for HLPF 2022: วิกฤติระบบนิเวศบนบกและทางทะเลต้องเร่งลงมือแก้ไขแบบเชื่อมโยงกัน เพื่อรักษาโลกที่หลากหลายทางชีวภาพและชีวิตที่มั่นคงของคนและสัตว์

ตามตารางกำหนดการของการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี พ.ศ. 2565 วันที่ 7 และวันนี้ 11 กรกฎาคม (ตามเวลานครนิวยอร์ก) มีกิจกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับ SDGs in Focus ในสองเป้าหมาย คือ #SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) และ #SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) ซึ่งในการเตรียมพร้อมสำหรับการประชุม HLPF ที่จัดไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2565 สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Department for Economic and Social Affairs: UN DESA) ก็ได้จัดการเสวนานโยบายระดับโลก (Global Policy Dialogue) เกี่ยวกับ SDGs ทั้งสองเป้าหมาย ภายใต้หัวข้อ “การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในยามวิกฤติ: การตรวจสอบ #SDG14 และ #SDG15” ซึ่งมุ่งแสวงหาแนวทางเสริมสร้างและขยายความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งสอง

การเสวนาจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 เริ่มต้นด้วยคลิปวิดีโอขนาดสั้นของ UN DESA ที่เน้นย้ำถึงการประชุม UN Ocean Conference ที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นโอกาสในการ “พลิกเปลี่ยนวิกฤติ (turn the tide)” ด้วยการสร้างหุ้นส่วนและข้อผูกพันใหม่เพื่อดูแลรักษามหาสมุทรและปกป้องอนาคตของมนุษย์ โดย Liu Zhenmin รองเลขาธิการฝ่ายเศรษฐกิจและสังคมของ UN DESA กล่าวว่า “เราต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนไปสู่มหาสมุทรที่มีคุณภาพดี”

ทั้งนี้ การเสวนาแบ่งย่อยเป็นการอภิปรายสองส่วนด้วยกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development expert) และนวัตกร (innovator) ได้ร่วมกันแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางทะเลและบนบก ป่าไม้ และมหาสมุทร 

สำหรับการอภิรายแรกเป็นการอภิปรายถึงข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ของป่าไม้และมหาสมุทร โดยมีประเด็นสำคัญจากผู้ร่วมอภิปรายหลายท่าน ท่านแรกคือ Yongyi Min หัวหน้ากลุ่มติดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Monitoring Section) แผนกสถิติของ UN DESA และหัวหน้าทีมผู้เขียนรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2565 (Sustainable Development Goals Report 2022) กล่าวถึงประเด็นสำคัญ อาทิ 

  • มหาสมุทรมีบทบาทในการมีส่วนช่วยขจัดความยากจนและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งการช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change mitigation
  • แนวปะการังกว่าร้อยละ 14 ของโลกได้ถูกทำลายไปในช่วงปี 2552-2561 อันเนื่องมาจากความเป็นกรดในมหาสมุทร (ocean acidification) ซึ่งลดความสามารถของมหาสมุทรในการค้ำจุนสิ่งมีชีวิตทางทะเล
  • ประมาณหนึ่งในสามของประชากรสัตว์น้ำถูกประมงที่เกินกำลังผลิตของสัตว์น้ำ (overfished) เนื่องจากการบริโภคสัตว์น้ำที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
  • ทุก ๆ ปีโลกสูญเสียพื้นที่ป่าถึงสิบล้านเฮกตาร์ซึ่งมีขนาดประมาณเท่ากับประเทศไอซ์แลนด์ และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนั้นเกิดขึ้นในอัตราที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
  • กิจกรรมของมนุษย์และรูปแบบการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตสามประการ คือ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเกิดมลพิษ
  • ระบบนิเวศทางทะเลและระบบนิเวศบนบกนั้นมีความเชื่อมโยงกันในระดับสูง อาทิ ปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน (eutrophication) หรือสาหร่ายสะพรั่งและมลพิษจากพลาสติกจากบนบก จึงจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดการจัดการทรัพยากรแบบองค์รวมเชื่อมโยงกันทั้งสองส่วน 

ผู้อภิปรายท่านที่สองคือ Tomasz Juszczak เจ้าหน้าที่กิจการป่าไม้จากการประชุมภาคีป่าไม้แห่งสหประชาชาติ (United Nation Forum on Forests: UNFF)  อภิปรายถึงแนวทางที่แผนยุทธศาสตร์ด้านการป่าไม้ของสหประชาชาติ พ.ศ. 2560-2573  (UN Strategic Plan for Forests 2017-2030) และเป้าหมายของป่าไม้โลก (Global Forest Goals) ส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (Sustainable Forest Management: SFM) และยกระดับการเอื้อประโยชน์ของป่าไม้ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเขากล่าวว่าป่าไม้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการลดความยากจน ซึ่งขณะนี้ “ถูกประเมินค่าต่ำเกินไป” เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลในการวัดผลการส่งเสริมของป่าไม้ดังกล่าว เช่นนั้นจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ฉายแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของป่าไม้และการอำนวยประโยชน์ที่มอบให้กับสังคมอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจจาก Lucy Mulenkei กรรมการบริหาร เครือข่ายข้อมูลชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Information Network) และเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมในการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ SDG 15 ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น (traditional knowledge) ที่ชนเผ่าพื้นเมืองได้ใช้มาหลายชั่วอายุคนเพื่อคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและสนับสนุนให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

การอภิปรายที่สองมุ่งเน้นไปที่การระดมนวัตกรรมและสร้างความร่วมมือในการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnerships: PPPs) เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีประเด็นสำคัญจากผู้ร่วมอภิปรายหลายท่าน ท่านแรกคือ Yabanex Batista รองหัวหน้าของกองทุน Global Fund for Coral Reefs หรือ GFCR ซึ่งเป็นกองทุนแรกที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนเงินทุนสำหรับ SDG 14 โดยเขากล่าวว่า กองทุนเป็นเครื่องมือเชิงนวัตกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างทางออกทางธุรกิจเชิงบวกเกี่ยวกับแนวปะการังผ่านการใช้เงินทุนจากภาครัฐเป็นตัวกระตุ้นการลงทุนหรือร่วมลงทุน (blended finance)  

Batista ยังระบุเพิ่มเติมว่า งานของกองทุน GFCR ทำร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม รวมถึงรัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนในการจัดหาทรัพยากรเพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีขึ้น สนับสนุนกลไกทางการเงินที่สามารถเชื่อมโยงกับโครงการบลูคาร์บอน (blue carbon schemes) หรือโครงการที่ทำให้คาร์บอนถูกดูดซับโดยมหาสมุทรและระบบนิเวศชายฝั่ง และส่งเสริมโครงการประกันภัยแก่แนวปะการัง (coral reef insurance schemes) อีกด้วย

ด้าน Robby Robinson ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม ของ Buffalo Bayou Partnership กล่าวว่า Buffalo Bayou เป็นแม่น้ำที่ไหลเอื่อยในเมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งองค์กรไม่แสวงหากำไรของเขาพยายามที่จะฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงผ่านการทำงานร่วมกับเมือง เขต มูลนิธิ และภาคพลเมือง ทั้งนี้มีการย้ำถึงเรื่อง “bottle bill” หรือนโยบายส่งเสริมการรีไซเคิลที่บริษัทน้ำดื่มและผู้บริโภคมีส่วนในการรับผิดชอบร่วมกัน ด้วยการจ่ายค่ามัดจำ 5 เซ็นต์ต่อขวดหรือต่อกระป๋องหนึ่งใบ ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับเงินคืนเมื่อนำขวดไปคืนตามจุดรับต่าง ๆ นับเป็นการส่งเสริมให้ขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจจาก David Rivers หัวหน้างานภาคสนามของ Buffalo Bayou Partnership กล่าวถึงความพยายามของภาคีในการทำความสะอาดลำธาร ปกป้องสัตว์ป่า และกำจัดพันธุ์พืชที่รุกราน เขากล่าวว่า การลดปริมาณขยะในแม่น้ำลดลงอย่างมากในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าผู้คนจำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีปฏิบัติในแต่ละวัน

ในระหว่างการอภิปราย ผู้ร่วมอภิปรายยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเรื่องอื่น ๆ เช่น ทางออกที่มีผู้บริโภคเป็นคนนำซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ยั่งยืน / ลดความเสี่ยงและบ่มเพาะแนวคิดใหม่ๆ เพื่อช่วยสร้างวัฏจักรเศรษฐกิจใหม่เพื่อประโยชน์ของผู้คนและธรรมชาติ / สร้างความตระหนักในการป้องกันมลพิษพลาสติกและกอบกู้โลก / และการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

น่าสนใจว่าการประชุม HLPF ประจำปี 2565 ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้จะมีทางออกให้กับการจัดการระบบนิเวศบนบกและทรัพยากรทางทะเลอย่างเชื่อมโยงกันเป็นรูปธรรมที่นานาประเทศจะสามารถนำไปปรับใช้ต่อได้หรือไม่เเละอย่างไร เพราะระบบนิเวศทั้งสองแหล่งล้วนเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น หากระบบใดถูกคุกคามหรือถูกทำลาย นั่นย่อมหมายถึงภัยคุกคามต่อมนุษย์ด้วยเช่นกัน

ติตตามข่าวสาร HLPF 2022
ได้ที่
 :  https://hlpf.un.org/home
ข้อมูล HLPF ทั้งหมดที่ : https://hlpf.un.org/2022
และ VNRs ที่ : https://hlpf.un.org/vnrs
หรือติดตามช่องทางของ SDG Move ที่ : https://www.sdgmove.com/category/sdg-news/hlpf-vnr/

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
Global Policy Dialogue Explores SDGs 14 and 15, Ways to Protect Biodiversity (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กรกฎาคม 11, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น