รัฐมนตรีฯ พลังงาน ผลักดันไทยสู่สังคมพลังงานสะอาด เผยกำลังเตรียมเจรจากับกัมพูชาเพื่อนำก๊าซมาใช้

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจจัดงานสัมมนา “New Energy: แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน” โดยเชิญผู้แทนจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมเสวนาและนำเสนอนโยบายภายใต้หัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน การขับเคลื่อนพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรม และยุทธศาสตร์การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ

หนึ่งในผู้ร่วมพูดคุยที่น่าจับตามองของงานคือ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมาร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายและทิศทางอนาคตพลังงานไทย” โดยเน้นย้ำว่ารัฐบาลได้กำหนดแผนพลังงานชาติที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการนำพลังงานสะอาดมาใช้มากขึ้น เนื่องจากจะช่วยขับเคลื่อนให้ภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 300 ล้านตันต่อปี ขยับเข้าใกล้เส้นบรรลุผลมากขึ้น 

สาระสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่นายสุพัฒนพงษ์ นำเสนอในงานสัมมนา ได้แก่

  • การส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฟฟ้า จะช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านในระยะยาว
  • รัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) และปัจจุบันพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มียอดจองรถ EV มากถึง 1.8 หมื่นคัน ซึ่งนับว่าเป็นยอดการจองสูงที่สุดในอาเซียน
  • ในอนาคตโรงงงานผลิตรถยนต์ EV และการตั้งสถานีประจุไฟฟ้าเพื่อเป็นแหล่งพลังงานแก่รถยนต์ EV จะมีเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย
  • รัฐบาลได้เตรียมเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) เพื่อทำการเจรจาให้ไทยสามารถนำก๊าซมาใช้ได้ใน 10 ปี
  • รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาในการปรับทิศทางการใช้พลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดใหม่ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีด้านการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้
  • ความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน คือการจัดการให้ต้นทุนอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยรัฐบาลจะดำเนินการมองหาแนวทางเชิงนโยบายในการบริหารจัดการ

การขยับขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นในอนาคตนับเป็นเรื่องที่จะส่งผลดีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านพลังงานก็มีความท้าทายและข้อกังวลที่ต้องหาแนวทางจัดการแก้ไข เพราะแม้การเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Economy) จะเป็นวาระเร่งด่วนของไทยและโลก แต่ก็ต้องไม่ทอดทิ้งหรือทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องแบกรับต้นทุนชีวิตหรือเดือดร้อนขึ้น เพราะอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและบั่นทอนความยั่งยืนทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นการหาแนวทางดูแล ชดเชยอย่างเป็นธรรม และทำให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่จ่ายได้ จึงเป็นโจทย์สำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน

●อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
–    SDG Recommends | จากพลังงานสะอาดสู่ความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม ฟังนานาประเด็นสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนกับ GreenBiz 350
–   อินเดียวางแผนเป็นผู้ผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว 5 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573
–   รายงาน ‘ลดคาร์บอนเป็นศูนย์’ จากภาคการขนส่งในเอเชีย ชี้หลักสำคัญ 6 ข้อ สู่พลังงานสะอาดในอนาคต
 เชิญร่วมพิธีเปิดนิทรรศการและงานเสวนา “นโยบายที่ไทยต้องการ…เปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม”

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา: “สุพัฒนพงษ์” ประกาศดันพลังงานสะอาด ผลิตไฟฟ้า-รถยนต์ EV รับอนาคต (ฐานเศรษฐกิจ)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น