SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 2 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 7 – 13 พฤศจิกายน 2565 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ภาคประชาชน-ภาควิชาการ ตื่นตัวจัดปราศรัยและเสวนาคู่ขนานการประชุม APEC

เริ่มแล้ว การประชุม APEC ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 โดยไม่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักของการประชุมครั้งนี้ ในฐานะประเทศเจ้าภาพ ภาคส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนก็พยายามที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงเคลื่อนไหวเช่นกัน อาทิ “กลุ่มราษฎร” ที่จะชุมนุมกันระหว่างวันที่ 16 – 18 พ.ย. เพื่อจัดกิจกรรมขณะที่ภาควิชาการก็มีการจัดประชุมเพื่อสื่อสารถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาค และสื่อสารถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล  ด้านภาควิชาการก็มีการจัดการเสวนาคู่ขนานหลายเวที อาทิ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “เอเปค-ประเทศไทย 2022 : ความมุ่งหมายและความสำเร็จ (APEC-Thailand 2022 : Challenges and Achievement)” วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่นี่: https://www.thairath.co.th/news/politic/2551453 และ https://www.facebook.com/photo/?fbid=430655279255643&set=a.238562545131585 

ควันหลงลอยกระทง กทม. พบกระทงโฟม 24,516 ใบ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 

สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร รายงานข้อมูลจำนวนกระทงที่เก็บได้ในกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565 มีจำนวน 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 42% โดยประเภทกระทงที่จัดเก็บได้เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ หรือร้อยละ 95.7 และกระทงโฟม 24,516 ใบ ทั้งนี้ กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เมื่อเทียบกับปี 2564 มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 96.5 เป็น 95.5 ส่วนสัดส่วนของกระทงโฟมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.5 เป็น 4.3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อน SDG 6 SDG 11  และ SDG 12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 6.3 ขจัดการทิ้งขยะสู่น้ำ เป้าหมายย่อยที่ 11.6 การให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ และเป้าหมาย่อยที่ 12.5 ลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ 

เข้าถึงได้ที่นี่ : https://www.facebook.com/environman.th/photos/a.1745027465625693/5306278439500560/ 

รัฐมนตรีกระทรวงทรัพฯ มอบนโยบายแก้ไขไฟป่าและฝุ่นละออง ปี 2566

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด 76 จังหวัด โดยแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้มุ่งเน้นยกระดับความเข้มงวดใน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่เมือง 2) พื้นที่ป่า และ 3) พื้นที่เกษตรกรรม ภายใต้ 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ซึ่งสอดคล้องกับ SDG 3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน และ SDG 11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ

เข้าถึงได้ที่นี่: http://www.mnre.go.th/th/news/detail/137812 

ESCWA เผยแพร่รายงานแนะนำดัชนีความท้าทายของการพัฒนา

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันตก (The UN Economic and Social Commission for Western Asia: ESCWA) เผยแพร่รายงานการแนะนำดัชนีระดับโลกที่ชื่อว่า “ดัชนีความท้าทายของการพัฒนา (Development Challenges Index: DCI) เพื่อใช้วัดการพัฒนามนุษย์ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล โดยปรับปรุงมาจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index HDI) และเปลี่ยนจากความสำเร็จในการพัฒนาเชิงปริมาณเป็นผลลัพธ์เชิงคุณภาพ ซึ่งข่าวความเคลื่อนไหวนี้เกี่ยวข้องกับ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.8 เสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันของธรรมาภิบาลระดับโลก และ SDG 17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  17.19 ต่อยอดจากข้อริเริ่มที่มีอยู่แล้วในการพัฒนามาตรการวัดความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่นี่: https://sdg.iisd.org/news/escwa-proposes-index-to-measure-development-governance-sustainability/ 

Equidem ตีแผ่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของกาตาร์ในการเตรียมการฟุตบอลโลก

10 พฤศจิกายน 2565 สำนักข่าว AP เผยแพร่บทความระบุว่า กาตาร์ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2565 ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานในระหว่างการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยอ้างถึงรายงานสำคัญ 75 หน้าที่เผยแพร่โดย Equidem องค์กรการกุศลด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานในลอนดอน ซึ่งระบุถึงข้อค้นพบที่น่าตกใจหลายเรื่อง อาทิ แรงงานข้ามชาติต้องทำงานภายใต้สภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย ถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งยังไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อน SDG 8 เกี่ยวกับการจ้างงาน และสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.7 เกี่ยวกับดำเนินมาตรการเพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่ การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และเป้าหมายย่อยที่ 8.8 เกี่ยวกับการปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อย 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ 

เข้าถึงได้ที่นี่: https://m.facebook.com/thestandardth/photos/a.1725541161072102/3193912864234917/?type=3&source=57&refid=52&__tn__=EH-R 

UNDP เผยแพร่รายงาน ‘ผู้ประกอบการรุ่นใหม่กับการแก้ปัญหา Climate Change’

UNDP เผยแพร่รายงานฉบับใหม่เรื่อง “Climate Concern to Climate Action: The Role of Young Social Entrepreneurs” งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการที่เป็นคนรุ่นใหม่ กับการดำเนินการด้านสภาพอากาศ พร้อมสำรวจมุมมองของของคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบ และการนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้านสภาพอากาศ แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทาย รวมไปถึงบ่งชี้การสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการด้านสภาพอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG 4 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.7 สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน  SDG 12 เป้าหมายย่อยที่ 12.8 สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี 2573 และ SDG 13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.3 พัฒนาการศึกษา และสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

เข้าถึงได้ที่นี่: https://www.undp.org/publications/climate-concern-climate-action-role-young-social-entrepreneurs 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น