ผู้หญิงยังคงเผชิญกับ ‘ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ’ (GBV) ในแต่ละวัน แต่รัฐบาลและงานด้านมนุษยธรรมยังให้ความสำคัญน้อยเกินไป

ผู้หญิงยังคงประสบกับการเลือกปฏิบัติและ ‘ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ’ (gender-based violence) ในแต่ละวัน อาทิ ความรุนแรงทางเพศ การลักพาตัว หรือการฆ่าเพื่อเกียรติ (honour killings) บวกกับช่วงการกักตัวเพราะโรคระบาด ยิ่งทำให้เห็นกรณีของความรุนแรงภายในบ้าน (domestic violence) ที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงต้องเผชิญเพิ่มมากขึ้นด้วย

เมื่อหันมาดูสภาพความเป็นอยู่ของผู้หญิงในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ อาทิ อิรัก อิหร่าน จอร์แดน คูเวต ลิเบีย ซาอุดิอาระเบีย พบว่ามีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ยังประสบกับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนข้างต้นจนกลายเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่มาจากการแต่งงานหรือการดูแลบุตร ทว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนก็มีความพยายามเดินหน้าเรียกร้องสิทธิสตรีมาอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ จนถึงเคลื่อนไหวในระดับสถาบันและการตัดสินใจเชิงนโยบาย

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญนอกเหนือไปจากการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายอยู่ที่ ‘ค่านิยม’ ในสังคมที่มีต่อเพศสภาพ ซึ่งบรรดานักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงเองต่างก็เผชิญกับการข่มขู่ที่จะทำร้าย ข่มขืน การจำกัดการเดินทาง ไปจนถึงการทำร้ายร่างกายเพื่อปิดปาก และจะยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้นหากค่านิยมต่อเพศสภาพปรากฎตัวอยู่กับผู้กำหนดนโนบายและผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่ซึ่งผู้เสียหายหรือเหยื่ออาจกลายเป็นผู้มีความผิดแทน

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของกรณีตัวอย่างที่ : Amnesty International)

Amnesty International มองว่าบรรดารัฐบาลในบริบทของภูมิภาคนี้ควรดำเนินการปกป้องผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจากความรุนแรงในทุกรูปแบบรวมถึงโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ โดยให้ผู้กระทำความผิดได้รับผิด และปกป้องผู้ที่เป็นเหยื่อให้ปลอดภัย ให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ที่พักพิง ตลอดจนการสนับสนุนทางจิตใจและบริการทางสังคม

นอกจากนี้ เมื่อขยายภาพกว้างขึ้น International Rescue Committee (IRC) มองว่าในปัจจุบันของยุคโควิด-19 งบประมาณและทรัพยากรของงานด้านมนุษยธรรมยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นข้างต้นน้อยเกินไป ทั้งที่มีการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อผู้หญิงในหลายแง่มุม รวมไปถึงว่ากลุ่มองค์กรด้านสิทธิผู้หญิงในซีกโลกใต้ (Global South) หรือประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค อาทิ แอฟริกา ตะวันออกกลาง มักถูกจำกัดการเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐบาลในกระบวนการตัดสินใจในช่วงโควิด-19 ด้วย ในแง่หนึ่งจึงกระทบกับความก้าวหน้าด้านความเท่าเทียมทางเพศที่มีการพูดคุยกันในระดับโลก เพราะความคืบหน้าต่าง ๆ ย่อมมาจากการเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่นและให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน

ดังนั้น สำหรับ IRC แล้ว การกลับมาให้ความสำคัญกับความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ คือการที่รัฐบาลขยายและเพิ่มความเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรสิทธิผู้หญิง รวมทั้งควรให้การสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างน้อย 25% ของงบประมาณการช่วยเหลือ (aid budget) กับองค์กรในระดับท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจและลงมือทำไปด้วยกัน เพื่อขจัดความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพนี้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจเสริมพลังแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน
เป้าประสงค์ที่ 5.1 กล่าวถึงการยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิง
เป้าประสงค์ที่ 5.2 กล่าวถึงการขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิง
เป้าประสงค์ที่ 5.5 กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของผู้หญิง การมีโอกาสเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และภาคสาธารณะ
เป้าประสงค์ที่ 5.c กล่าวถึงนโยบายและกฎระเบียบที่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการให้อำนาจเสริมพลังแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน
#SDG16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุม
เป้าประสงค์ที่ 16.1 กล่าวถึงการลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้อง
เป้าประสงค์ที่ 16.7 กล่าวถึงกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม และมีส่วนร่วม
เป้าประสงค์ที่ 16.b กล่าวถึงการส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ
#SDG17 เสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก
เป้าประสงค์ที่ 17.17 กล่าวถึงการสนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม

แหล่งอ้างอิง:
https://www.rescue.org/press-release/15-million-people-need-mostly-women-are-currently-left-out-gender-based-violence
https://www.amnesty.org/en/latest/news/2021/03/mena-gender-based-violence-continues-to-devastate-lives-of-women-across-region/

#SDGWatch #ihpp #SDG5 #SDG16 #SDG17

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น