เสริมสร้างความเข้มแข็งของ “ชุมชนคุ้มครองเด็ก” แนวทางการมีส่วนร่วม พัฒนา ปกป้อง และช่วยเหลือเป็นอย่างไร ชวนค้นหาคำตอบงานวิจัยของ ‘ผศ. ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์’

ชวนอ่านงานวิจัย “ที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแนวทางศึกษารูปแบบการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนคุ้มครองเด็ก”โดย ผศ. ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)  ภายใต้การสนับสนุนจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

เป้าหมายหลักของงานวิจัยฉบับนี้ มุ่งเน้นการสร้างกลไกการให้บริการการคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งการติดตาม การรายงาน จนถึงการช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงหรือตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงจากการกระทำที่มิชอบ การแสวงหาประโยชน์ การละเลยทอดทิ้ง และปัญหาอื่น ๆ ภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนา ปกป้อง คุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กในชุมชนของตนเอง เกิดเป็นแนวทางเป็นรูปธรรมและยั่งยืน 

งานวิจัยข้างต้นศึกษา ตั้งอยู่บนวัตถุประสงค์ คือ ประการแรก เพื่อศึกษาหาแนวทางหรือรูปแบบการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนคุ้มครองเด็ก  ประการที่สอง เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและคุ้มครองเด็กในชุมชนแบบยั่งยืน และประการที่สาม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้หรือจัดทำองค์ความรู้ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนคุ้มครองเด็ก จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป้าหมายที่  10 ลดความเหลื่อมล้ำ และเป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง

เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนา ปกป้อง คุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กในชุมชนอย่างครอบคลุมทุกระดับ จึงได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน สถานีตำรวจภูธร ศูนย์พัฒนาครอบครัวในตำบล คณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับตำบล ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร และผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็กในชุมชน ในพื้นที่ที่มีการดำเนินระบบการเฝ้าระวังและช่วยเหลือเด็ก (CPMS : Child Protection Monitoring System) พื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งมีศูนย์พัฒนาครอบครัวดีเด่น/ศูนย์พัฒนาครอบครัวดี พื้นที่ที่มีการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กโดยชุมชน (Child life) จำนวน 36 พื้นที่ รวมไปถึงผู้แทนกรมกิจการเด็กและเยาวชน บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด ทีมสหวิชาชีพ และองค์การพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้พื้นที่การศึกษาที่ครอบคลุม 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง กาญจนบุรี จันทบุรี นครปฐม อุดรธานี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ชุมพร พังงา และสตูล 

จากการดำเนินงานวิจัย ผศ.ดร.วสันต์ และคณะผู้วิจัยได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานด้านการพัฒนาและคุ้มครองเด็กในชุมชน จำนวน 26 พื้นที่ จากเป้าหมายทั้ง 36 พื้นที่ ใน 12 จังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค ในการศึกษาถึงข้อจำกัดในการขับเคลื่อนกิจกรรม รวมทั้งปัจจัยความสำเร็จในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ

งานวิจัยข้างต้น นำไปสู่การสร้างแนวปฏิบัติของการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต ดังนี้ 

  1. แนวปฏิบัติในการชี้แจงทำความเข้าใจแก่องค์กรภาคีในพื้นที่เป้าหมาย ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกผู้ประสานงานระดับจังหวัด โดยมีคุณสมบัติที่เอื้อต่อกระบวนการทำงาน สามารถให้คำปรึกษาทางเลือก สะท้อนถึงจุดอ่อน จุดแข็งของทางเลือกต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมาย 
  2. แนวปฏิบัติในการจัดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพคณะทำงานพัฒนาและคุ้มครองเด็กในชุมชน เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานคุ้มครองเด็กในชุมชนให้กับคณะทำงานพัฒนาและคุ้มครองเด็กในชุมชน ทั้งความรู้ในเชิงวิชาการ และทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น 
  3. แนวปฏิบัติในการจัดกิจกรรมการบริการสำหรับเด็กในพื้นที่ คณะทำงานพัฒนาและคุ้มครองเด็กในชุมชน จะมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรม โดยมีผู้ประสานงานพื้นที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ เป็นพี่เลี้ยง เพื่อออกแบบกิจกรรมสนองตอบต่อสถานการณ์ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป
  4. แนวปฏิบัติในการจัดกิจกรรมระดมทรัพยากรและผลักดันเข้าสู่แผนพัฒนาท้องถิ่น มีความคาดหวังต่อผลลัพธ์ (Output) ที่ได้จากการทำกิจกรรมหลายประการด้วยกัน ได้แก่ (1) แหล่งทุนหรือช่องทางในการแสวงหาทรัพยากร (2) ลักษณะของทรัพยากรที่จะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่อไป 

ทั้งนี้ การดำเนินงานวิจัยได้อาศัย รูปแบบการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนคุ้มครองเด็ก ระบบการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนคุ้มครองเด็ก ประกอบด้วย กลไกการประสานความร่วมมือในแนวระนาบระหว่างตัวแสดงที่เกี่ยวข้องใน 3 ระดับ ได้แก่ กลไกการประสานความร่วมมือในระดับตำบล จังหวัด และส่วนกลาง โดยการทำงานกลไกแต่ละระดับนั้น มีจุดมุ่งหมายเฉพาะในมิติที่แตกต่างกัน ซึ่งในอนาคตหวังว่าระบบการขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนคุ้มครองเด็ก จะสามารถต่อยอดให้ครอบคลุมไปสู่การปฏิบัติในทุกพื้นที่ 

ท้ายที่สุด เมื่อค้นหาคำตอบได้ครบทุกขั้นตอน ผศ. ดร.วสันต์ ได้มีการประชุมเพื่อประเมินผล นำมาถอดบทเรียนและทบทวนแผนการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งหมด เพื่อเชื่อมโยงกับข้อมูลแนวโน้มสถานการณ์และกลุ่มเสี่ยงหรือประเด็นปัญหาในพื้นที่ พร้อมนำผลวิเคราะห์ มาตั้งเป็นฐานในการกำหนดแผนงานและออกแบบกิจกรรมสำหรับผลักดันเข้าสู่กระบวนการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานและองค์กรภาคี ตลอดจนระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ สำหรับปูทางในการขับเคลื่อนต่อไป

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น