กระบวนการจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์ มีปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร? ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ.ปกรณ์ เสริมสุข’

ชวนอ่านงานวิจัย “การศึกษาพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์ร่วมของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดย รศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับทุนอุดหนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ดำเนินงานผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)

นับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่มีเป้าประสงค์ “เพื่อให้ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยมีหลักประกันสุขภาพ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ด้วยบริการที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ตอบสนองต่อสังคม รวมถึงไม่ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วย” โดยมีการกำหนดระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ให้กับหน่วยบริการในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งพบปัญหาว่าประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงยาหรือเวชภัณฑ์ที่จำเป็นหลายกลุ่ม เนื่องจากมีราคาแพงและมีผู้จำหน่ายน้อยรายหรือรายเดียว บางรายการติดปัญหาเรื่องสิทธิบัตร ทำให้ไม่สามารถจัดหายาจากแหล่งผลิตอื่นได้

เพื่อให้ได้ยาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสมกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีหน้าที่จัดทำแผนความต้องการพัสดุ และคุณลักษณะเฉพาะของรายการที่ต้องการจัดซื้อร่วม ส่งให้องค์การเภสัชกรรมก่อนสิ้นปีงบประมาณ จากนั้นองค์การเภสัชกรรมจะทำหน้าที่จัดซื้อร่วมระดับประเทศ และกระจายยาและเวชภัณฑ์เหล่านั้นให้หน่วยบริการในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ

แม้ว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถทำให้ผู้ป่วยกลุ่มต่าง ๆ เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น แต่ขอเสนอจากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินสรุปได้ว่า การจัดหายาเพื่อส่งให้หน่วยบริการเป็นการดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงได้มีการจัดตั้งเครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถีขึ้นเฉพาะกิจ ให้ทำหน้าที่จัดซื้อยาแทน สปสช. เป็นการชั่วคราว

ทว่าแนวทางและรูปแบบในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ดังกล่าวมีปัญหาในหลายมิติ เนื่องจากโรงพยาบาลราชวิถีนั้นไม่มีการออกแบบทั้งในเชิงสารสนเทศและการจัดการที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการจัดการอุปทาน (supply management) อย่างเป็นระบบ ตลอดจนไม่สามารถพยากรณ์ปริมาณการใช้ยา (forecasting) และจัดทำงบประมาณ (budgetary) และการปรับแผนที่ทันเหตุการณ์เพื่อส่งต่อให้หน่วยจัดซื้อได้อย่างแม่นยำ

ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยของ รศ.ปกรณ์ จึงมุ่งเน้นที่การศึกษาและวิเคราะห์กระบวนการจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์ร่วมฯ หาแนวทางปรับปรุงกระบวนการเพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ออกแบบและพัฒนาระบบนำร่องติดตามกระบวนการจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์ร่วมฯ รวมถึงเสนอแนะการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ใช้ผสานกับกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

สำหรับผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้

  • ผลการศึกษาแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการ พบว่า กระบวนการและขั้นตอนการจัดซื้อจัดหายาและเวชภัณฑ์ร่วมฯ ถูกควบคุมด้วยวงจรเวลาตามปีงบประมาณและการจัดหาตามระเบียบราชการ โดยรายการยาและเวชภัณฑ์บางรายการมีเงื่อนไขของห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงาน ส่งผลให้เกิดข้อติดขัด ตัวอย่างเช่น กรณีที่เกิดภาวะยาขาดแคลนชั่วคราว จำเป็นต้องหายาที่มีจากท้องตลาดหรือยืมยาจากคลังยาของผู้ขาย ซึ่งทำให้ยอดการจัดซื้อตามปีงบประมาณไม่เป็นไปตามแผน และส่งผลกระทบต่อการวางแผนความต้องการและการบริหารคลังยาในวงรอบถัดไป
  • ผลการวิเคราะห์ช่องว่างของกระบวนการจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์ร่วมของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า กระบวนการช่วงปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เป็นกระบวนการที่ยังไม่สามารถติดตามและบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ โดยกระบวนการนี้นับตั้งแต่เมื่อหน่วยบริการได้รับยาและเวชภัณฑ์จากรถขนส่งเพื่อจัดเก็บในคลังยาของหน่วยบริการจนถึงการจ่ายยาไปยังผู้ป่วย เนื่องจากหน่วยบริการแต่ละแห่งจะมีระบบการบริหารยาที่แตกต่างกันไปแม้ว่าข้อมูลการรักษาผู้ป่วยเป็นรายบุคคลตามสิทธิ์จะมีการบันทึกไว้ แต่การติดตามข้อมูลการจ่ายยาแยกตามแหล่งที่มาหรือตามโครงการฯ นั้นยังขาดความแม่นยำ ซึ่งส่งผลต่อการบริหารเชิงคุณภาพ เช่น การติดตามล็อตยา วันหมดอายุ การยืม การคืน การเปลี่ยนยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าการให้รหัสผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและข้อตกลงเดียวกัน ไม่รองรับการบริหารและติดตามในทุกระดับของกระบวนการ
  • ผลการศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวปฏิบัติทั่วไปกับขีดความสามารถด้านไอทีที่ต้องการพัฒนา พบว่า ความสามารถทางเทคโนโลยีขององค์กรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์ฯ แต่ละหน่วยงานหลักต่างมีขีดความสามารถในการดำเนินการด้านไอทีในระดับชั้นนำ อย่างไรก็ตาม การนำไอทีเข้ามาแก้ปัญหาในกรณีที่มีหน่วยรับผิดชอบร่วมหลายหน่วยเช่นนี้ พบว่า การกำหนดบทบาทในการเป็นเจ้าภาพหรือเจ้าของระบบไอทีสำหรับการใช้งานร่วมกันนั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งส่งผลต่อความยั่งยืนของระบบ โดยจะทำให้ไม่สามารถขยายการใช้งาน รวมถึงการพัฒนาและบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • ผลการออกแบบและพัฒนาระบบนำร่องเพื่อติดตามกระบวนการจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์ร่วมฯ พบว่า การออกแบบให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวงจรการจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์ฯ สามารถดูข้อมูลสถานะของการวางแผนและจัดหาฯ ในขั้นตอนต่าง ๆ และดูรายงานในภาพรวมได้พร้อมกันเมื่อต้องการนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากช่วยลดขั้นตอนความล่าช้าที่เกิดจากการสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ อย่างไรก็ตาม ระบบนำร่องฯ ที่พัฒนาขึ้นยังไม่ได้มีการกำหนดว่าจะนำไปติดตั้งและใช้งานจริงที่หน่วยงานใด จึงติดตั้งไว้ที่เครื่องแม่ข่ายของ สปสช. ที่ตั้งอยู่ ณ สำนักงานขององค์การเภสัชกรรมเป็นการชั่วคราว

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เนื่องจากปัญหาหลักที่พบคือขาดเจ้าภาพในการดำเนินการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลเพื่อการบริหารและติดตาม จึงมีความจำเป็นยิ่งที่ต้องมีการกำหนดบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้ข้อมูลจากระบบสารสนเทศในระดับต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการตรวจทาน ตรวจสอบ และประเมินผลวงจรของการจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์ร่วม พร้อมทั้งขยายผลการใช้สารสนเทศนำร่องฯ โดยใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและบริหารจัดการ กำหนดแนวทางและวิธีการในการกำกับดูแลข้อมูลในทุกกระบวนการ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าข้อมูลที่มีการรับส่งระหว่างกันเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบและประกาศต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดขั้นตอนไปพร้อมกับการดำเนินการอย่างราบรื่นได้ในเวลาเดียวกัน

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินที่เกี่ยวกับสุขภาพและการสรรหาการพัฒนา การฝึกฝนและการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.2) บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านการทำให้หลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานเข้มข้น
ขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งรวมถึงผ่านทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Kanokphorn Boonlert

    Manager of Knowledge Communications | "The good life is a process, not a state of being. It is a direction not a destination." − Carl R. Rogers

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น