เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด แถลงการณ์ประณามกรมโยธาฯ ทำลายชายหาด พร้อมยื่น 3 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับโครงการกำแพงกันคลื่น

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด และ กลุ่ม Beach for life รวมตัวกันชุมนุมปักหลักในกรุงเทพมหานคร พร้อมออกแถลงการณ์ 2 ฉบับเพื่อแก้ปัญหาการทำลายชายหาด โดยแถลงการณ์ฉบับแรกแถลง ณ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เนื้อหาสะท้อนสถานการณ์และปัญหาจากโครงการกำแพงกันคลื่นที่ดำเนินการโดยกรมโยธาฯ 

เนื้อหาส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ระบุว่า “จากการติดตามการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของกรมโยธาฯ ชายหาดซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความสุขและวิถีชีวิตของพลเมืองถูกคุกคามทำลายและแทนที่ด้วยกำแพงปูน งบประมาณกว่า 6,694 ล้านบาท ที่กรมโยธาฯ ได้รับการจัดสรรถูกใช้ทำลายชายหาดของประชาชานด้วยโครงการกำแพงกันคลื่น กว่า 107 โครงการ” 

“ขอเรียกร้องต่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โปรดจงเรียกมโนสำนึกของผู้บริหารกรมโยธาฯ ที่กำลังจะสูญสิ้นไปพร้อมชายหาด หยุดดันทุรังเดินหน้าผลักดันโครงการกำแพงกันคลื่นที่ทำลายชายหาดไทย โดยไร้ความรับผิดชอบใด ๆ ต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของกรมโยธาฯ”

ขณะที่แถลงการณ์ ฉบับที่ 2 แถลง ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื้อหามุ่งเน้นไปที่การเรียกร้องให้ตัวแทนของภาครัฐแสดงถึงความจริงใจในการเจรจาหาข้อสรุปและรับข้อเรียกร้องของขบวนการปกป้องชายหาด

เนื้อหาส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 ระบุว่า “จากการพูดคุยของรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง เลขาธิการสำนักนโยบายและแผน บอกว่าจะรับข้อเสนอของเครือข่ายเพียงลมปากนั้นไม่เพียงพอ และไม่เป็นหลักประกันใด ๆ สำหรับพี่น้องเครือข่าย ดังนั้น ต้องทำเป็นหนังสือชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติงานพร้อมระบุกำหนดเวลาที่ชัดเจน” 

“รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องมีความจริงใจกับพี่น้องโดยต้องลงนามในหนังสือฉบับนี้ ร่วมกับรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง เลขาธิการสำนักนโยบายและแผน เรายืนยันว่าเป็นข้อเรียกร้องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการได้ ตามกรอบอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน ไม่ได้ละเมิดกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญตามที่ตัวแทนหน่วยงานที่มาเจรากล่าวอ้าง”

สำหรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของขบวนประชาชนปกป้องชายหาดที่ประกาศ ประกอบด้วย

  1. ให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่กรมโยธาฯ ในการทำหน้าที่ป้องกันและแก้ปัญหาชายฝั่ง
  2. เรียกร้องให้กำแพงกันคลื่นต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA)
  3. เร่งฟื้นฟูชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการสร้างกำแพงกันคลื่น

ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด และ กลุ่ม Beach for life ร่วมกับภาคประชาสังคมและสื่อสารมวลชนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาหัวข้อ “ชายหาดไทยกำลังหายไป เพราะรัฐสร้างกำแพงกันคลื่น ?” โดย อภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for life กล่าวว่า “เราไม่ได้มีปัญหากับกำแพงกันคลื่น แต่เรามีปัญหากับกระบวนการและหน่วยงาน กำแพงกันคลื่นไม่ใช่ผู้ร้ายมันอาจจำเป็นในการป้องกันชายฝั่ง แต่มันต้องอยู่ในบริบทที่จำเป็น เหมือนหมอที่ให้มอร์ฟีนคนไข้ ให้ได้ถ้ามันมีความเหมาะสมไม่ใช่ให้ทุกคน ผมคิดว่าคุณวราวุธ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ก็รักสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน ถ้าคุณวราวุธเห็นความสำคัญของเรื่องนี้จะต้องเอา EIA กลับมา เราต้องการให้มีกระบวนการที่เหมาะสม ให้คนที่ได้รับผลกระทบได้รับการดูแลชดเชยเยียวยา ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงกันคลื่น เราเรียกร้องความกล้าหาญและความจริงใจของรัฐบาล”

ด้าน ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี ระบุว่า “กรณีเขื่อนกันคลื่นถ้าไม่ใช่คนใกล้เคียงอาจจะคิดว่าไม่ได้เกี่ยวกับฉัน ดังนั้นคนในพื้นที่อาจจะรู้สึกเหนื่อยว่าสู้อย่างโดดเดี่ยว หลายพื้นที่ที่จะสร้างกำแพงกันคลื่นก็อยู่ไกลจากตัวเมืองในจังหวัดนั้น ๆ ความจำเป็นจึงคือการสื่อสารไปยังกลุ่มคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่แค่คนเฉพาะกลุ่มแต่สื่อสารกับคนทั่วไปให้เข้าใจทั่วถึง และร่วมกันรักษาชายหาด หาวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้กลุ่ม Beach for life เปิดเผยว่าเป็นระยะเวลากว่า 9 ปีที่ภาครัฐเปิดช่องให้กรมโยธาฯ มีอำนาจในการป้องกันชายฝั่ง ซึ่งได้ดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยไม่ต้องอาศัยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จนถึงขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 107 โครงการ จาก 125 โครงการ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชายหาดที่เป็นพื้นที่ดำเนินการหลายแห่ง อาทิ หาดปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ หาดชะอำ จ.เพชรบุรี และหาดม่วงงาม จ.สงขลา อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวประมงและการท้องชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะการลดมูลค่าทางเศรษฐกิจเเละการเพิ่มต้นทุนทางการประมง เนื่องจากกำเเพงกันคลื่นอาจส่งผลกระเเสคลื่นรุนเเรงขึ้น เป็นเหตุให้สัตว์ที่อาศัยอยู่ชายฝั่งหรือสัตว์ที่จะเข้ามาวางไข่ลดน้อยลง สุดท้ายชาวประมงก็ต้องเเล่นเรือออกไปทำประมงไกลชายฝั่งมากขึ้น 

ความเคลื่อนไหวล่าสุด ขบวนประชาชนปกป้องชายหาดจากหลากหลายภูมิภาค เดินทางมาร่วมปักหลักบริเวณกรมโยธาฯ และบริเวณด้านหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม พร้อมอวดภาพถ่ายทิวทัศน์อันสวยงามของชายหาดหลากหลายสถานที่เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง ขณะที่นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเคยเป็นผู้แทนในการหารือทวิภาคีร่วมกับประเทศเยอรมนีนอกรอบระหว่างการประชุม COP27 ว่าด้วยเรื่องการปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากลแสดงตนออกมารับเรื่องร้องเรียนและเจรจา อย่างไรก็ดี การเจรจากับขบวนการประชาชนปกป้องชายหาดเกิดเพียงสั้น ๆ และ นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช ยังยืนยันว่า “การทำกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA”

น่าจับตาว่าหน่วยงานของรัฐบาล โดยเฉพาะกรมโยธาฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรงจะแสดงท่าทีอย่างไรต่อแรงกดดันและข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อไป แน่นอนที่สุดว่าภาคประชาสังคมและภาคประชาชนคงยืนกรานเรียกร้องให้มีการทำ EIA อย่างถึงที่สุด เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการกำแพงกันคลื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงต้องการมีส่วนร่วมตัดสินใจปกป้องสิทธิชุมชนและกำหนดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้ตอบโจทย์ความต้องการอย่างยั่งยืน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
 จังหวัดปาปัวตะวันตกคงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้ดีขึ้น เพราะการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและบทบาทนำของชุมชนรอบชายฝั่ง
 ชาวประมงพื้นบ้านล่องเรือจากปัตตานีถึง กทม. ติด #ทวงน้ำพริกปลาทู เรียกร้องทุกภาคส่วนหยุดจับ-ซื้อ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.5) ภายในปี 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ให้เป็นไปตามกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่
– (14.b) จัดให้ชาวประมงพื้นบ้านรายเล็กเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลและตลาด
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา: 
ชายหาดของไทยกำลังหายไป (The Active)
รัฐผยองจะไปปกป้องสภาพอากาศโลก… แต่กำแพงกันคลื่นบอกไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Facebook Page: ไทยเเอ็ค)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น