จะเป็นไปได้หรือไม่ ?  ถ้า ‘ประเทศไทย’ จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ให้สอดคล้องค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

เป็นอีกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในสังคมและโลกออนไลน์ หลังจากพรรคเพื่อไทยประกาศเปิดตัว 10 นโยบายเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ หากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2566 เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หนึ่งในนโยบายที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด คือ  ‘การตั้งเป้าเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาท ภายในปี 2570’ โดยยึดหลักการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ทำให้มีนักวิชาการหลายท่านออกมาแสดงความเห็นถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท ไม่ถือว่ามากเกินไป เพราะ ในปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 328-354  บาทต่อวัน ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเกิดเป็นปัญหาหนี้สินตามมา แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน

นำมาสู่คำถามว่า “เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท” จะเป็นไปได้หรือไม่ ? เมื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ก็ยังถือว่าต่ำ แต่ค่าแรงปัจจุบันยังคงต่ำกว่ามาก โดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า หากเทียบกับไต้หวันที่มีค่าครองชีพใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่ค่าแรงขั้นต่ำกลับอยู่ที่ 955 บาทต่อวัน ซึ่งเมื่อเทียบรายได้กับมาตรฐานคุณภาพชีวิตแทนที่เส้นความยากจน ค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่ที่ 1,000 บาทต่อวัน เพื่อให้คนทำงานสามารถเลี้ยงดูครอบครัว หรือหาความสุขให้ชีวิตได้บ้าง (living wage) 

ขณะที่ รศ. ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นตรงกันว่า จากปี 2555 จนถึงปี 2565 ผ่านมาเป็นเวลา 10 ปี ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 328-354 บาท ปรับขึ้นมาน้อยมาก ซึ่งปรับไม่ทันกับภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะช่วงกลางปีที่ผ่านมาที่เงินเฟ้อพุ่งสูง 6-7% ด้วยวิกฤติต่าง ๆ ทั้งโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงาน ส่งผลให้ค่าครองชีพต่าง ๆ สูงขึ้น แต่ทางกลับกันรายได้ไม่เพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ทำให้แรงงานขาดอำนาจในการซื้อ ซึ่งทางด้าน รศ. ดร. กิริยา ได้ตั้งคำถามต่อการตั้งเป้าหมายให้ GDP เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ถึง 3 ประเด็น คือ

  1. ทำอย่างไรให้ GDP โตปีละ 5% เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมี GDP เฉลี่ยอยู่ 3-4% หากจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น รัฐบาลต่อไปต้องตอบให้ได้ว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น อาทิ สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์เหมือนเกาหลีใต้ หรือ เน้นภาคการเกษตร 
  2. เดิมค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 328-354 บาท หากปี 2566 -2570 จะปรับขึ้นเป็น 600 บาท ขึ้นเฉลี่ยปีละ 50 บาท อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก (SMEs) แต่ถ้า GDP เพิ่มขึ้นได้ 5% ก็อาจไม่เป็นปัญหา
  3. ควรมีการสำรวจให้แน่ชัดถึงจำนวนประชาชนที่ยังกินค่าแรงขั้นต่ำ อาทิ แรงงานต่างด้าว แรงงานไร้ฝีมือกี่คน  เพื่อผลประโยชน์ที่ครอบคลุมและกำหนดรายได้ตามความเหมาะสมต่อกลุ่มคนนั้น ๆ

ทั้งนี้ หลังจากมีกระแส นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ออกมาขยายความเพิ่มเติมว่า “การขึ้นค่าแรง 600 บาท จะเป็นการขึ้นไปพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศที่จะเติบโตพร้อมกันทั้งระบบ ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เรื่องของงบประมาณ แต่เป็นเศรษฐกิจภาพรวม”

อย่างไรก็ดี ค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ซึ่งหากเทียบกับค่าแรงของไทยปัจจุบัน ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยไม่สามารถเลี้ยงดูแรงงานให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้ เช่นนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระดับที่เหมาะสม อาจช่วยให้แรงงานคุณภาพชีวิตและบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนได้ พร้อมช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น จึงต้องติดตามต่อไปว่า หากนโยบายนี้มีโอกาสเกิดขึ้นจริงจะมีกระบวนการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปเช่นไร 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
แรงงานไทยในปี 65 เกือบ 100% มี “หนี้สิน” ส่วนค่าแรงขั้นต่ำสวนทางกับค่าครองชีพที่แพงขึ้น
สสช. รายงานสำรวจรายได้ครัวเรือนไทย ปี 2564 ชี้ เกินกว่าครึ่งมีหนี้สิน รายได้กลุ่มรวยสุดและจนสุด ‘ห่างกัน’ ถึงเกือบ 9 เท่า
อัตราค่าแรงขั้นต่ำปี 2564 ของประเทศอาเซียนเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในเอเชียและต่ำกว่าประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นประเด็นด้านสุขภาพเช่นกัน เพราะรายได้สูงขึ้นสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดีกว่า
SDG Insights | เพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ต่อ GDP กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ 
SDG Insights | แรงงาน…สู่โลกหลังโควิด-19

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.2) ภายในปี 2573 ลดสัดส่วน ชาย หญิง และเด็ก ในทุกช่วงวัย ที่อยู่ภายใต้ความยากจนในทุกมิติ ตามนิยามของแต่ละประเทศ ให้ลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.1) บรรลุการเติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนของรายได้ของประชากรที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40% ให้มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี 2573
– (10.4) นำนโยบายโดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า

แหล่งที่มา:
ค่าแรง 600 บาทเป็นไปได้แค่ไหน? ฟังความเห็นนักวิชาการถึงนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ – The matter
เตรียมขึ้นค่าแรง 5-8% ประชาชนรายได้เพิ่มขึ้นจริง แต่ไม่ทันค่าครองชีพที่แซงไปไกลแล้ว – Thairath
เพื่อไทยประกาศนโยบายเลือกตั้ง ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน เงินเดือนจบ ป.ตรี 25,000 บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย – THE STANDARD 
ค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทย โตทันเศรษฐกิจแค่ไหน 600 บาทเป็นไปได้หรือไม่ – BBC News ไทย 
มุมมอง-คำถาม ‘นักวิชาการ’ ต่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ600บาทภายในปี70 | เดลินิวส์ 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย 

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น