UN Water และ WHO รายงานขาดแคลนเงินทุน ด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัยทั่วโลก พร้อมเผยปัญหาที่ถูกละเลย

UN Water (สำนักงานน้ำของสหประชาชาติ) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้เผยแพร่รายงาน “Global Analysis and Assessment of Sanitation and Drinking-Water (GLAAS) ฉบับปี 2022” ซึ่งนำเสนอข้อมูลล่าสุด ที่ได้รวบรวมมาจากประเทศและดินแดน 121 แห่ง และหน่วยงานสนับสนุนภายนอก 23 แห่ง 

รายงานฉบับนี้ มุ่งเน้นไปที่โอกาสในการเร่งความคืบหน้าในประเด็นสำคัญที่ส่งผลเชิงบวกต่อคุณภาพและความยั่งยืนของการบริการและการจัดส่งน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย (Water, Sanitation, and Hygiene: WASH) รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาด และการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จากรายงาน พบว่า ขณะที่ 45% ของประเทศต่าง ๆ กำลังดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความครอบคลุมด้านน้ำดื่ม แต่มีเพียง 25% ของประเทศเท่านั้นที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสุขอนามัย

Gilbert F. Houngbo ประธาน UN-Water และผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปิดตัวรายงาน เน้นย้ำว่าโลกกำลัง “ออกนอกลู่นอกทาง” ที่จะบรรลุเป้าหมายด้านน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคน ภายในปี 2573 ซึ่งด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้คนหลายพันล้านคนถูกทิ้งไว้ให้ “สัมผัสกับโรคติดเชื้อที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดภัยพิบัติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

สาระสำคัญจากรายงานได้ระบุถึง

  • ขาดทรัพยากรทางการเงินและทรัพยากรมนุษย์ สำหรับการนำนโยบายและแผนของน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย (WASH) ไปปฏิบัติในสถานบริการสาธารณสุข ขณะที่ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐมีความทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่ง 75% ของประเทศได้รายงานว่าเงินทุนด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย (WASH) ไม่เพียงพอ
  • ในระหว่างปี 2560 ถึง 2563 ความช่วยเหลือด้านน้ำประปาและสุขอนามัยลดลง 5.6% โดยสัดส่วนของความช่วยเหลือด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย ในแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) ลดลงจาก 32% เป็น 23%
  • ขณะที่ สัดส่วนของความช่วยเหลือด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย ในเอเชียกลางและเอเชียใต้เพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 20% และในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นจาก 11% เป็น 20%

ทั้งนี้ รายงานเตือนว่า มาตรการเข้าถึงผู้เปราะบางด้วยบริการด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย (WASH) ยังขาดการติดตามและขาดทรัพยากรทางด้านการเงิน ซึ่งพยายามชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มการมีส่วนร่วม การสนับสนุนทางการเงิน และการติดตาม เพื่อให้แน่ใจว่าการตัดสินใจและการบริการด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัยได้คำนึงถึงผู้หญิงทุกคนแล้ว

ประเด็นสำคัญที่เน้นย้ำในรายงานข้างต้น ได้แก่

  • ทรัพยากรมนุษย์ไม่เพียงพอ ทำให้การให้บริการด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย (WASH) มีจำกัด
  • บ่อยครั้งหน่วยงานกำกับดูแลไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่
  • นโยบายและแผนด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย ส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศกับการบริการด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย
  • มีข้อมูลไม่เพียงพอในการใช้ตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผนหรือการจัดสรรทรัพยากรด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย

อย่างไรก็ดี รายงานการ Global Analysis and Assessment of Sanitation and Drinking-Water (GLAAS) จะเผยแพร่ทุกสองปี ซึ่งพยายามให้ผู้กำหนดนโยบายวิเคราะห์ทางเลือกที่ครอบคลุมด้านระบบ WASH เพื่อช่วยในการตัดสินใจด้านสุขอนามัย น้ำดื่ม และสุขอนามัย เพราะด้วยสถานการณ์และวิกฤตมากมายที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายจำเป็นจะต้องทบทวนถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ครอบคลุม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ตามเส้นทางที่กำหนด ซึ่งรายงาน GLAAS พยายามแจ้งคำมั่นสัญญาของการปฏิบัติการช่วงครึ่งหลังของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 และในการประชุม UN Water Conference ที่จะเกิดขึ้นเดือนมีนาคมปีหน้า

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
World Water Week 2022 – UN ชี้ภัยเเล้งที่ขยายวงกว้างทำคนทั่วโลกต้องการน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงน้ำสะอาดยังคงมีอยู่มาก
คนจะยังขาด น้ำสะอาด สุขาภิบาล และสุขอนามัย ในอนาคต หากยังละเลยในปัญหาและทำงานช้าเช่นปัจจุบัน
รายงานความคืบหน้าด้านน้ำโดย UN Water ชี้ สถานการณ์น้ำของโลกไม่เป็นไปตามแผน #SDG6
แม่น้ำกว่า 200 สายทั่วโลกปนเปื้อนผลิตภัณฑ์ยา หลายสายมีระดับเป็นอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
2564 ปีของวิกฤติน้ำในโลก: น้ำล้น แห้งแล้งไป ปนเปื้อนมาก ภัยพิบัติน้ำเกิดถี่ขึ้น
Sydney Park Water Re-use Project ความภูมิใจของซิดนีย์ในการกักเก็บ-บำบัดน้ำ กลับมาใช้ไหลเวียนเลี้ยงเมืองต้านภัยแล้ง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.1) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี 2573
– (6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
– (6.5) ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างเขตแดนตามความเหมาะสม ภายในปี 2573
– (6.a) ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในกิจกรรมและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำและสุขอนามัยซึ่งรวมถึงด้านการเก็บน้ำ การขจัดเกลือ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำเสีย เทคโนโลยีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่
– (6.b) สนับสนุนและเพิ่มความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการปรับปรุงการจัดการน้ำและสุขอนามัย
#SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา: UN-Water, WHO Report Points to “Critical” Lack of Funding for WASH (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย 

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น