SDG Move ร่วมกับยูเนสโกจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะไทย

ทีมงาน SDG Move ร่วมกับยูเนสโกจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาศักยภาพสําหรับหน่วยงานราชการไทยในการติดตามและรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) 16.10.2

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 SDG Move โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ  คุณนันทินี มาลานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่าย พร้อมด้วยคณะทำงาน ร่วมกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ในฐานะหน่วยงานจากองค์การสหประชาชาติผู้รับผิดชอบการติดตามตัวชี้วัดที่ 16.10.2 จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาศักยภาพสําหรับหน่วยงานราชการไทยในการติดตามและรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) 16.10.2  ณ ห้อง Garden Gallery โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ 

การอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้หน่วยงานภาครัฐไทยร่วมกันพัฒนารูปแบบ กระบวนการรายงานความก้าวหน้าของกฎหมาย และนโยบายการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับแนวทางการรายงานตามตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  ตัวชี้วัดที่ 16.10.2  “จำนวนของประเทศที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือนโยบายที่ยอมรับและรับประกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน”  ซึ่งเป็นหนึ่งในสองตัวชี้วัดที่ใช้สะท้อนสถานการณ์การบรรลุเป้าหมายย่อยที่ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ โดยตัวชี้วัดที่ 16.10.2 จะมุ่งเน้นไปที่หลักประกันตามกฎหมาย หรือนโยบายที่ทำให้มั่นใจว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐอันจะเกี่ยวพันถึงการทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบเเละแสดงความคิดเห็น

ปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะมี พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายรับรองสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นประเทศแรกของอาเซียน และมีเนื้อหากำหนดให้หน่วยงานภาครัฐไทยต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ ทั้งงบประมาณ แผนงาน รายงานการดำเนินงานต่าง ๆ ให้สาธารณชนเข้าถึงได้โดยสะดวกภายใต้หลักการ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”  ทว่าในเชิงการให้ข้อมูลเพื่อรายงานความก้าวหน้ากลับพบว่ามีช่องว่างของกระบวนการที่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างหน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบให้ข้อมูลตัวชี้วัด กับหน่วยงานผู้มีบทบาทในเชิงดำเนินการ

ในการประชุม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค เป็นผู้ดำเนินกระบวนการเปิดพื้นที่หารือโดยให้ผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอบทบาทของแต่ละหน่วยงานที่มีต่อข้อมูลตามตัวชี้วัดที่ 16.10.2  จากการนำเสนอของแต่ละหน่วยงานทำให้ผู้เข้าร่วมทราบถึงบทบาทและเหตุผลที่ยูเนสโกเข้ามาทำหน้าที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบติดตามข้อมูลของทุกประเทศ อีกทั้งยังทำให้เห็นถึงช่องว่าง (gap) ที่ทำให้การรายงานความก้าวหน้าของตัวชี้วัดนี้ไม่อาจสะท้อนสถานการณ์ที่ตรงกับระดับการดำเนินงานจริง และมีการรับรู้ในวงจำกัด

คุณศศิอร คำอ่อน เจ้าหน้าที่โครงการ แผนกการสื่อสารและสารสนเทศที่ยูเนสโก กรุงเทพฯ อธิบายถึงบทบาทของยูเนสโกว่าเป็นทบวงการชํานัญพิเศษของสหประชาชาติเพียงแห่งเดียวที่มีบทบาทส่งเสริม ‘การแสดงความเห็นผ่านคําพูดและภาพอย่างเสรี’ และ ‘การรักษา เพิ่มพูน และกระจายความรู้’ ด้วยเหตุนี้ ยูเนสโกจึงรับหน้าที่รับผิดชอบติดตามตัวชี้วัด SDG 16.10.2 พร้อมชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมายูเนสโกว่าได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ซึ่งเป็นหน่วยงาน focal point ทำหน้าที่ให้ข้อมูลของประเทศไทยให้เข้าร่วมทำแบบสำรวจประจำปีของยูเนสโกเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะในปี พ.ศ. 2564 และ 2565 อย่างไรก็ตาม ความพยายามนี้ไม่ได้สะท้อนออกมาในการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยความสมัครใจ (VNR) ของประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ของประเทศไทยซึ่งจัดเก็บโดยแบบสำรวจของยูเนสโกและเผยแพร่ผ่านรายงานสถานะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกซึ่งจัดทำขึ้นทุกปี

จากข้อสะท้อนข้างต้น ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็นถึงสาเหตุ และพบช่องว่างสำคัญคือ “ขาดพื้นที่ประสานงานกลางให้หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องได้หารือ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันก่อนจัดทำข้อมูลรายงานสหประชาชาติ”  ยกตัวอย่างเช่น ในแง่บทบาทระหว่างหน่วยงานผู้รายงานข้อมูล กับ หน่วยงานผู้เป็นเจ้าของข้อมูลก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้เกิดช่องว่างการรายงาน เพราะแม้ว่า สขร. จะรับผิดชอบเป้าหมายย่อย SDG 16.10 แต่เป้าหมายหลัก SDG 16 อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยใช้ทั้งมาตรการที่กำหนดขึ้นในระดับประเทศและเครื่องมือที่มาจากหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) และโครงการความยุติธรรมโลก (World Justice Project: WJP) จากนั้น กระทรวงยุติธรรมส่งข้อมูลเกี่ยวกับ SDG 16 ไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อรายงานใน VNR ของประเทศไทย 

ในแง่ของการมีส่วนร่วมตรวจสอบพบว่าที่ผ่านมาการจัดทำข้อมูลจะถูกประมวลผลจากข้อมูลในแบบสอบถามตามที่หน่วยงานตอบกลับมาไปยังระบบกลางของยูเนสโก มิได้นำมาหารือหรือทบทวนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก และ ยูเนสโกกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถเผยแพร่ได้เช่นกัน ทำได้เพียงส่งกลับให้ทาง สขร.ร้องขอข้อมูลจากทาง ยูเนสโกและส่งต่อให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบให้เผยแพร่ต่อได้ ที่ประชุมจึงมีข้อเสนอว่า ควรจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบไขว้ (cross check) ร่วมกันด้วย

จากการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ได้ข้อสรุปสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการรายงานข้อมูลตัวชี้วัดที่ 16.10.2 ของประเทศไทย ดังนี้

  • ทุกหน่วยงานเห็นพ้องกันว่าควรใช้ข้อมูลที่ได้จากการทำแบบสอบถามของยูเนสโกเป็นหลัก และทาง สขร.สามารถใช้ข้อมูลนี้เผยแพร่ได้เลย
  • ควรมีกลไกในการหารือก่อนที่จะส่งข้อมูลให้กับยูเนสโกมีการเสนอว่าให้มีการจัดประชุมในการหารือเรื่องข้อมูลที่จะจัดส่ง โดยปกติจะมีช่วงการนำเสนอข้อมูลในช่วงเมษายน ถึง มิถุนายน 
  • ควรจัดให้มีกลไกหรือหน่วยงานกลางช่วยประสานงานในการจัดทำข้อมูล 
  • ยูเนสโก ยินดีสนับสนุนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่หน่วยงานที่จะเข้ามาร่วมกันทำแบบสอบถาม 

Author

  • Pimnara Intaprasert

    Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น