ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ การประเมินเชิงพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานีผ่านการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

การบรรลุความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพถือเป็นเป้าหมายนโยบายที่สำคัญต่อสุขภาวะของประชากรโดยรวมในทุกประเทศ และเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) การปรับปรุงความสามารถในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุ SDGs แต่ทว่าการตรวจสอบและประเมินการเข้าถึงบริการสุขภาพนั้นค่อนข้างซับซ้อน หลายประเทศยังคงเผชิญกับความท้าทายในการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล

ในการศึกษาการลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสุขภาพ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (geographic information system: GIS) ได้ถูกนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ความต้องการด้านการรักษาพยาบาล การเข้าถึง และการได้รับประโยชน์จากบริการสุขภาพ โดยเชื่อมโยงความหลากหลายของประชากรกับข้อมูลสิ่งแวดล้อม เพื่อวิเคราะห์และกำหนดลักษณะความต้องการในมิติต่าง ๆ จากการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า อุปสรรคทางภูมิศาสตร์ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลทำให้การได้รับประโยชน์จากบริการสุขภาพลดลง ลดการเข้าถึงบริการเชิงป้องกัน และลดอัตราการรอดชีวิต ซึ่งอาจส่งผลให้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากสถานพยาบาล รวมถึงไม่ได้รับประโยชน์จากการรักษาเฉพาะทาง เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็ง และศูนย์แม่และเด็ก ซึ่งมักพบในเมืองใหญ่มากกว่า จึงไม่สามารถเข้าถึงได้สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและชุมชนห่างไกล

แม้ว่าประชาชนทุกคนควรได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติยังมีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีจำกัด เช่น สถานพยาบาล หรือบุคลากรในวิชาชีพด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ ดังนั้น คลินิกสุขภาพเคลื่อนที่ (mobile health clinic) จึงเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ได้รับการยอมรับ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการสุขภาพ สนับสนุนและบรรเทาความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในพื้นที่ยากลำบากและด้อยโอกาส โดยนำระบบดูแลสุขภาพออกจากโรงพยาบาลไปสู่ประชาชน รูปแบบการให้บริการสุขภาพนี้สามารถขยายการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การศึกษาตำแหน่งของประชากรด้อยโอกาสและพื้นที่เปราะบาง เป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญ เพื่อกำหนดข้อเสนอแนะสำหรับนโยบายรัฐและการวางแผนของท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเรื่อง “Disparities in Healthcare Services and Spatial Assessments of Mobile Health Clinics in the Border Regions of Thailand” โดย ผศ. ดร.หิรัญญา ศรีธาตุ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะนักวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. เพื่อระบุและประเมินการกระจายเชิงพื้นที่ (spatial distribution) ของบริการสุขภาพ ในแง่ความต้องการของประชากรและการบริการของสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล คือ จังหวัดอุบลราชธานี
  2. เพื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เชิงพื้นที่ตามโครงข่ายของถนนจริง (real road network) และระยะเวลาการเดินทางด้วยแนวทางการศึกษาตามจริง (realistic approach)
  3. เพื่อระบุพื้นที่ด้อยโอกาส ที่สามารถปรับปรุงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสามารถได้โดยคลินิกสุขภาพเคลื่อนที่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์ เพื่อลดความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพของพื้นที่ศึกษา

ด้วยประเด็นการศึกษาและสำรวจอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ รวมถึงตัวบ่งชี้ความสามารถในการให้บริการ เช่น จำนวนสถานพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและนำเสนอนโยบายแก่หน่วยงานรัฐและท้องถิ่น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ

พื้นที่ศึกษา (study area) ของงานวิจัยนี้ คือ จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาค ตามสถิติประชากรในปี 2560 จังหวัดนี้มีประชากรมากเป็นอันดับสามของไทย ประมาณ 1.8 ล้านคน มีความหนาแน่นของประชากร 115.3 คน/ตารางเมตร ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์จังหวัดตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป็นจังหวัดที่อยู่สุดทางทิศตะวันออกของประเทศ ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 630 กิโลเมตร จึงทำให้จังหวัดนี้ถูกโอบล้อมด้วยประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศลาวจากชายแดนด้านเหนือถึงด้านตะวันออก และประเทศกัมพูชาตามแนวชายแดนด้านใต้ของจังหวัด ดังแสดงในภาพที่ 1

ภาพที่ 1 ที่ตั้งพื้นที่ศึกษา (a) จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย (b) พื้นที่ศึกษาที่ล้อมรอบด้วยประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวและกัมพูชา

จากรายงานผู้สูงอายุแห่งชาติ ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว กล่าวคือ จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด และกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือ มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 20% ด้วยประเด็นนี้ อุบลราชธานีเป็นจังหวัดใหญ่จังหวัดหนึ่งที่เผชิญกับสถานการณ์ท้าทายจากจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการคัดกรองและประเมินความเสี่ยงโรค และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันความพิการและส่งเสริมการช่วยเหลือตนเองให้อยู่ในสังคมได้ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการดูแลรักษาผู้สูงอายุเหล่านี้ยังคงมีอยู่มาก เนื่องจากอุปสรรคด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทางและระยะทางระหว่างผู้อยู่อาศัยกับสถานพยาบาล

สำหรับการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งของสถานพยาบาลและการกระจายระหว่างทรัพยากรด้านการดูแลสุขภาพและความต้องการของประชากร เทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจข้อมูลสำคัญ โดยการสร้างแผนภาพผ่านการทำแผนที่ ซึ่งมีระเบียบวิธีการตามขั้นตอนแสดงดังภาพที่ 2 ดังนี้

  1. การวัดและประเมินการกระจายเชิงพื้นที่ตามความต้องการและทรัพยากรด้านการดูแลสุขภาพในพื้นที่ศึกษา
  2. การวิเคราะห์การเข้าถึงบริการสุขภาพเชิงพื้นที่ผ่านลักษณะการเดินทาง โดยการวิเคราะห์โครงข่ายของถนน (road network)
  3. การประเมินความเหลื่อมล้ำด้านการดูแลสุขภาพ และการวิเคราะห์ข้อมูลประชากรเปราะบางและภูมิภาคด้อยโอกาส
ภาพที่ 2 แผนภาพแสดงระเบียบวิธีวิจัยในการศึกษา

ผลการศึกษา พบว่า ในจังหวัดอุบลราชธานี มีสถานพยาบาลของรัฐเพียง 26 แห่งเท่านั้น โดยให้บริการสุขภาพในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ จากข้อมูลประชากรในปี 2563 มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 14.94% ของประชากรทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่โดยรวมของจังหวัดนี้มีขนาดใหญ่มาก ครอบคลุมพื้นที่ 15,484 ตร.กม. จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวิเคราะห์และแสดงให้เห็นการกระจายเชิงพื้นที่ของสถานพยาบาลและความต้องการของประชากร

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี GIS แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำของประชากรอย่างชัดเจน การกระจายตัวของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ศึกษาระหว่างแต่ละอำเภอไม่สม่ำเสมอกันอย่างมาก แสดงการจำแนกประเภทของผู้อยู่อาศัยด้วยสีที่ต่างกัน ตั้งแต่สีขาว (จำนวนประชากรขนาดเล็ก) ถึงสีม่วงเข้ม (จำนวนประชากรขนาดใหญ่) โดยประชากรส่วนใหญ่กระจายอยู่ใน 3 อำเภอที่ตั้งอยู่กลางจังหวัดอุบลราชธานีฝั่งตะวันตก ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี (หมายเลข 1) อำเภอเดชอุดม (หมายเลข 7) และอำเภอวารินชำราบ (หมายเลข 15) ส่วนพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดจะอยู่ใน 10 อำเภอเล็ก ๆ บริเวณตอนเหนือ กลาง และใต้ของจังหวัด แสดงดังภาพที่ 3

ภาพที่ 3 การกระจายเชิงพื้นที่ของสถานพยาบาลของรัฐและประชากรในพื้นที่ศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี

การวิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของบริการสุขภาพ อำเภอที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงสุด คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี (หมายเลข 1) และอำเภอวารินชำราบ (หมายเลข 15) มีความหนาแน่นมากกว่า 398.39 คนต่อตารางกิโลเมตร ตรงกันข้ามกับพื้นที่ที่ตั้งอยู่รอบชายแดนด้านตะวันออกในเขตห่างไกล ซึ่งมีความหนาแน่นของประชากรต่ำมาก สำหรับการกระจายของบุคลากรทางการแพทย์เชิงพื้นที่ แม้ว่าจังหวัดอุบลราชธานีจะมีจำนวนแพทย์ 2,372 คน และพยาบาล 2,206 คน แต่จำนวนแพทย์เฉลี่ยแต่ละอำเภอในจังหวัดอุบลราชธานีคือ 90 คน มีค่ามัธยฐานเท่ากับ 66 คน และการกระจายของแพทย์มีความแปรปรวนตั้งแต่ 0 ถึง 243 คน อัตรากำลังของแพทย์เหล่านี้ได้รับการจัดสรรไม่เท่ากันในแต่ละอำเภอ โดยอัตรากำลังของแพทย์สูงสุดจะอยู่ในบริเวณตอนกลางและตอนเหนือ ส่วนจำนวนพยาบาลมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 0 ถึง 366 คน (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4 การกระจายเชิงพื้นที่ของจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ศึกษา

การประเมินความเหลื่อมล้ำจากการกระจายตัวของบริการสุขภาพ โดยพิจารณาจากระยะเวลาการเดินทางภายใน 15 นาที 15-30 นาที และ 30–60 นาที เพื่อไปยังสถานพยาบาลของรัฐ (ภาพที่ 5) โดยระยะการเดินทางที่ยาวนานเพื่อไปถึงสถานพยาบาล ส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณตะวันออกของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งติดต่อกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว ขณะที่ทางตอนกลางและตอนเหนือของจังหวัด ประชากรส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้ในระยะเวลาเดินทางสั้นที่กว่า

ภาพที่ 5 ดัชนีการเข้าถึงพื้นที่แต่ละตำบลตามระยะเวลาการเดินทางที่ใช้ในการเข้าถึง

ผลการประมาณพื้นที่โดยใช้การวิเคราะห์โครงข่ายของถนน พบว่า พื้นที่ที่มีการเข้าถึงในระดับต่ำ ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนด้านตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อยู่อาศัยในอำเภอบุณฑริก (หมายเลข 10) อำเภอโขงเจียม (หมายเลข 3) อำเภอสิรินธร (หมายเลข 25) อำเภอศรีเมืองใหม่ (หมายเลข 2) และอำเภอนาจะหลวย (หมายเลข 8) ประสบกับความท้าทายในการเข้าถึงสถานพยาบาลเนื่องจากระยะเวลาการเดินทางที่ยาวนาน ซึ่งครอบคลุมถึง 60.9%, 53.9%, 41.2%, 40.0% และ 35.5% ของเขตพื้นที่จังหวัด ตามลำดับ สำหรับปัญหาจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น พบว่า มากกว่า 30% ของผู้สูงอายุทั้งหมดต้องเดินทางนานกว่า 30 นาทีเพื่อไปยังสถานพยาบาล ได้แก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในอำเภอนาเยีย (หมายเลข 29) อำเภอบุณฑริก (หมายเลข 10) อำเภอโขงเจียม (หมายเลข 3) และ อำเภอนาจะหลวย (หมายเลข 8) โดยมีเปอร์เซ็นต์ 45.5%, 41.7%, 37.3% และ 33.6% ตามลำดับ) แสดงดังภาพที่ 6

ภาพที่ 6 ระดับการเข้าถึงของแต่ละอำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี โดย (a) อัตราส่วนของประชากรโดยประมาณ และ (b) อัตราส่วนของประชากรสูงอายุโดยประมาณ

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้มีข้อจำกัดบางประการที่ควรพิจารณา ดังนี้

  • งานวิจัยนี้ศึกษาการเข้าถึงบริการสุขภาพโดยมุ่งเน้นไปที่อายุของประชากรเพียงตัวแปรเดียวเท่านั้น เนื่องจากความท้าทายด้านจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น การวิจัยในอนาคตจึงอาจศึกษาองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการสุขภาพ เช่น รายได้และระดับการศึกษา เป็นต้น
  • ระบบคมนาคมขนส่งที่ใช้ในการวิเคราะห์โครงข่ายของถนน มุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ผ่านการใช้รถยนต์เท่านั้น ไม่ได้มีการศึกษาผ่านระบบการขนส่งมวลชนเนื่องจากขาดความพร้อม ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับพื้นที่ชนบท
  • งานวิจัยนี้ศึกษาเฉพาะสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น
  • ตามจุดมุ่งหมายของการวิจัยนี้คือ เพื่อศึกษาพื้นที่ด้อยโอกาสที่สำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพในจังหวัดอุบลราชธานี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขอบเขตตำบลมีขนาดใหญ่และการกระจายตัวของประชากรในแต่ละตำบลมีจำนวนมากและหลากหลาย การศึกษาในอนาคตจึงอาจนำเวลาถ่วงน้ำหนักประชากรและสเกลย่อยของระดับตำบลมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาด้วยวิธี Modifiable Areal Unit Problem (MAUP) เพื่อปรับปรุงการวิเคราะห์เพิ่มเติม รวมถึงการประเมินบริการสุขภาพอาจใช้ชุดข้อมูลมากกว่าหนึ่งชุดร่วมกับสถานพยาบาลทางกายหรือทางสุขภาพจิตอื่น ๆ

กล่าวโดยสรุป การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี GIS แสดงให้เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และแสดงภาพเชิงพื้นที่ของการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งให้ข้อมูลที่สำคัญอย่างมากในการประเมินการเข้าถึงสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย จากผลการศึกษาพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า บางพื้นที่มีความสามารถในการเข้าถึงสถานพยาบาลในระดับต่ำ โดยเฉพาะพื้นที่หลายอำเภอทางทิศตะวันออกของจังหวัด คณะผู้วิจัยเชื่อว่าการศึกษาวิจัยนี้ให้ข้อมูลที่มีค่าและมีส่วนช่วยหน่วยงานระดับท้องถิ่นและระดับชาติในการออกแบบและดำเนินงานด้านบริการสุขภาพในอนาคต เพื่อลดอุปสรรคของความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้เป็นผลตามระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ และให้ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรคและสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความทนทานซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งไปที่การเข้าถึงได้ในราคาที่สามารถจ่ายได้และเท่าเทียมสำหรับประชาชนทุกคน
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติ พันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรืออื่นๆ ภายในปี 2573

รายการอ้างอิง
Sritart, H., Tuntiwong, K., Miyazaki, H., & Taertulakarn, S. (2021). Disparities in healthcare services and spatial assessments of mobile health clinics in the border regions of Thailand. International Journal of Environmental Research and Public Health, 18(20), 10782.n, 2019.

ชื่อผู้วิจัย – สังกัด
หิรัญญา ศรีธาตุ1, กุศล ตันติวงส์2, Hiroyuki Miyazaki3, และ สมชาติ แตรตุลาการ1
1 คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2 คณะทันตแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
3 Center for Spatial Information Science, Tokyo University

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Last Updated on กุมภาพันธ์ 24, 2023

Author

  • Kanokphorn Boonlert

    Manager of Knowledge Communications | "The good life is a process, not a state of being. It is a direction not a destination." − Carl R. Rogers

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น