TU SDG Seminars | สะท้อนความคิดและการศึกษางานวิจัยความยากจน มีอุปสรรคและความท้าทายอย่างไร – ชวนหาคำตอบจากบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม

ชวนอ่านบทสรุปการสัมมนา ครั้งที่ 2 หัวข้อ “การวิจัยด้านการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม” โดย รศ. ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดและนำเสนองานวิจัยของนักวิจัยแนวหน้า โดยแบ่งประเด็นการแลกเปลี่ยนออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ฉายภาพรวมกระบวนการในห้องย่อย พร้อมส่องประเด็นจากกิจกรรมการประชุมปฏิบัติการ และ 2) ทบทวนประเด็นสำคัญจากงานวิจัยที่เกี่ยวกับ ‘การลดความเหลื่อมล้ำ’ ของนักวิจัยแนวหน้า และ 3) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองจากกระบวนในห้องย่อยระหว่างนักวิจัย – ผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีสัมมนาการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ผ่านระบบ Zoom Meeting

ด้วยประเด็นที่กล่าวถึงการให้ความสำคัญกระบวนการวิจัยเชิงนโยบาย และข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำ งานสัมมนาจากประเด็นการแลกเปลี่ยนทั้ง 3 ส่วน จึงมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ และ เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


01 – ฉายภาพรวมกระบวนการในห้องย่อย พร้อมส่องประเด็นจากกิจกรรมการประชุมปฏิบัติการ

ภาพรวมงานวิจัยที่นักวิจัยแนวหน้าได้นำเสนอและประเด็นที่เกิดขึ้นจากกระบวนการในห้องย่อย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

รศ. ดร.ณัฐพงษ์ ได้เปิดประเด็นพูดคุยการวิจัยด้านการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยได้หยิบยกตัวอย่างงานวิจัยชื่อดังจากต่างประเทศเรื่อง “เวนิสและความเหลื่อมล้ำ” พร้อมกับแนะนำงานวิจัยของ รศ. ดร.ณัฐพงษ์ ที่จัดทำเสร็จสมบูรณ์ในเรื่อง “การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำด้วยข้อมูลดาวเทียม” (Predicting Poverty Using Geospatial Data in Thailand) โดยได้เชื่อมโยงประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย พร้อมอธิบายการนำเครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้ในการวิเคราะห์ ซึ่งเครื่องมือที่ได้นำมาใช้ คือ Machine Learning หรือ การทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ร่วมกับการใช้ข้อมูล Big Data จากหลายแหล่ง มาวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในแต่ละประเด็นของประเทศไทย   

นอกจากการนำเสนองานวิจัยข้างต้น ภายในห้องย่อยได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานวิจัยร่วมกับวิทยากรประจำกลุ่มในประเด็นด้านอุปสรรคและความท้าทายการทำงานวิจัยในปัจจุบัน ซึ่ง รศ. ดร.ณัฐพงษ์ ได้ฉายภาพให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงและการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐร่วมกับการทำงานวิจัย พร้อมบอกเล่ามุมมองต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ให้ข้อเสนอแนะในการบูรณาการความรู้ด้านการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งตอบข้อซักถามและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นด้านการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยใช้เครื่องมือวิจัยต่าง ๆ ร่วมกับผู้สัมมนา ซึ่งในภาพรวมได้รับมุมมองที่หลากหลายจากผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มาจากทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


02 – ทบทวนประเด็นสำคัญจากงานวิจัยที่เกี่ยวกับ ‘การลดความเหลื่อมล้ำ’ ของนักวิจัยแนวหน้า

รศ. ดร.ณัฐพงษ์ หยิบยกนำงานวิจัยชื่อดังจากต่างประเทศในเรื่อง “เวนิสและความเหลื่อมล้ำ” จากหนังสือ “Why Nations Fail: The Origins of Power, Prosperity, and Poverty” อธิบายแนวคิดหลักเรื่องของสถาบันในเชิงเศรษฐกิจ อันประกอบด้วยปัจจัยหลัก คือ การปกครองและกฎหมายที่เป็นตัวแปรสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ จากหนังสือสะท้อนให้เห็นว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง หรือมีการเติบโตทางเศรษฐกิจถดถอยมาก  (extractive political institutions) จะมีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์ และกลับผลักคนส่วนมากออกจากนอกระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ หรือมีการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัว (inclusive economic institutions) จะยิ่งสามารถดึงดูดให้คนได้ผลประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเวนิส คือ สัญญาค้าขายคอมเมนดา (commenda) ซึ่งเป็นสัญญาเฉพาะ เพื่อการค้าระยะสั้น หรือ หนึ่งรอบการเดินเรือ โดยกำหนดให้ผู้ที่มีถิ่นพำนักในเวนิส เป็นผู้ลงทุนและผู้ที่ออกเดินเรือจะเป็นผู้ใช้แรงงานในการทำงาน และเมื่อได้กำไรจะนำมาแบ่งกันตามเนื้อหาสัญญา โดยสัญญานี้ จะทำให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ขึ้น เนื่องจากผู้คนจะเดินทางไปใช้แรงงานและสะสมเงินทุน เพื่อเลื่อนสถานะทางสังคม ทำให้เวนิสจึงกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าขาย เมื่อวิเคราะห์ถึงเบื้องหลังของสัญญานั้น พบว่า มีการพัฒนาโครงสร้างของกฎหมายและระบบยุติธรรม คือ การให้ความเป็นธรรมกับคู่สัญญา ส่งผลให้เวนิส จึงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าเมืองอื่น ๆ แต่ภายหลัง เมื่อมีคำสั่งห้ามใช้สัญญาคอมเมนดา เพื่อต้องการที่จะรักษาสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของกลุ่มผู้มั่งคั่งเดิมไว้ รัฐบาล จึงได้เข้ามาควบคุมการค้าของเวนิสทั้งหมด เกิดการจัดเก็บภาษีเอกชนในอัตราที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบให้โอกาสทางเศรษฐกิจของเวนิสลดลง และทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเวนิสนั้นล่มสลายลงในที่สุด

นอกจากนี้ รศ. ดร.ณัฐพงษ์ ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยล่าสุด โดยนำเครื่องมือทางภูมิสถิติ (spatial statistics) แสดงให้เห็นถึงการกระจุกตัวของรายได้ครัวเรือน รายได้ของแรงงาน และประสิทธิภาพของสถานประกอบอุตสาหกรรมในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงบางจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งขอบเขตบริเวณดังกล่าวสอดคล้องกับบริเวณที่มีความหนาแน่นของแสงไฟในเวลากลางคืน (Nighttime Light: NTL) ในระดับสูงซึ่งแสดงถึงความหนาแน่นของประชากรและความเป็นเมือง จากผลการศึกษา พบว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยยังพึ่งพิงกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเมื่อสะท้อนตามมุมมองทางเศรษฐศาสตร์จะแบ่งเรื่องความยากจนได้เป็น 2 มิติ คือ หนึ่ง เส้นความยากจน (absolute poverty) ใช้วัดสัดส่วนประชากรที่มีรายได้อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และ สอง ความยากจนเชิงสัมพัทธ์ (relative poverty) ใช้ดูการกระจายตัวของรายได้ประชากร ซึ่งงานวิจัยของ รศ. ดร.ณัฐพงษ์ จะมุ่งเน้นไปดูที่เส้นความยากจนเป็นหลัก ซึ่งพบว่าในภาพรวมสัดส่วนประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีจำนวนลดลง แต่ในส่วนการกระจายตัวรายได้ประชากรนั้น พบว่า มีความยากจนในเขตเมืองและนอกเมืองจำนวนมากพอสมควร ในกระบวนการวิจัย ได้ทำการดึงข้อมูลผังอาคารในบริเวรพื้นที่ที่ต้องการศึกษา (global urban footprint) ผังบริเวณที่อยู่อาศัยของมนุษย์ (global human settlement layer) ลักษณะการใช้พื้นที่ (U.S. Geological Survey : USGS) และ European Space Agency Cover (ESA-LC) มาใช้เปรียบเทียบกับข้อมูลในระดับตำบลของประเทศไทย ซึ่งได้จากการพล็อตตำแหน่งบนแผนที่และทดสอบทางสถิติของข้อมูลรายได้พื้นฐานของประชากร ซึ่งมีความแม่นยำมากที่สุดถึงร้อยละ 85 

ท้ายที่สุด รศ. ดร.ณัฐพงษ์ กล่าวถึง ความท้าทายการทำวิจัยในปัจจุบันว่า แนวทางการหาข้อมูลจากแหล่งใหม่ เช่น ข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลจากช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เช่น facebook twitter และข้อมูลจากบริษัทเครือข่ายมือถือ เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่บางครั้งหน่วยงานเจ้าของข้อมูลไม่ได้ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล เพื่อทำการศึกษาหรือยังไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นไว้ภายในหน่วยงาน  

นอกจากนี้ รศ. ดร.ณัฐพงษ์ สะท้อนมุมมองต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในคณะ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ควรจะเลือกลำดับความสำคัญในขอบเขตที่มีส่วนในการลงมือปฏิบัติ ซึ่งสามาถแบ่งได้เป็น 2 มิติ คือ หนึ่ง การตั้งโจทย์วิจัยให้ตรงกับตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  และ สอง นำโจทย์ที่ระบุตัวชี้วัดนั้น ใช้ในการกำกับหรือเขียนแผนของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงาน เช่น การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย และการจัดการด้านปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในที่ทำงาน เป็นต้น


03 – ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองจากกระบวนในห้องย่อยระหว่างนักวิจัย – ผู้เข้าร่วมสัมมนา

โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองจากกระบวนในห้องย่อย 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. การทำให้ประเทศไทยเกิด “Inclusive Economics” หรือ “เศรษฐกิจแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้าง”

A: รศ. ดร.ณัฐพงษ์ ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีรากฐานการพัฒนาที่สำคัญ โดยรัฐบาล มีหน้าที่ทำให้ประชาชนทุกคน มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีหน้าที่ทำให้ประชาชน ได้รับค่าแรงสูงขึ้นตามประสิทธิภาพของแรงงาน ดังนั้น รัฐบาล จึงมีหน้าที่ทำให้ประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา สาธารณสุข ระบบสวัสดิการสังคม ระบบคมนาคมภายในประเทศ และกลไกตลาดแรง ที่ควรให้ความเป็นธรรมกับแรงงาน ประเทศสิงคโปร์ จึงมุ่งเน้นระบบการพัฒนาแรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

2. จุดร่วมของ “การสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาที่นำมาสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพ”

A: รศ. ดร.ณัฐพงษ์ เห็นด้วยว่า คุณภาพพื้นฐานของประชากร ควรมีรากฐานมาจากการศึกษา และประชาชน จำเป็นต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ซึ่ง ‘สิทธิ’ ที่ประชาชนมีนั้น คือ หน้าที่ของรัฐ ซึ่งการเคารพและเข้าใจในประเด็นเหล่านี้จะช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนามากขึ้น

3. จากมุมมองของนักวิจัย ในฐานะอดีตคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมีทัศนะต่อตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร

A: รศ. ดร.ณัฐพงษ์ มองว่าตัวชี้วัด (indicators) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะมีรูปแบบเปลี่ยนไปในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะผู้จัดทำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะนำบทเรียนไปปรับแก้ไขต่อไปอย่างไร

4. เรื่องประเด็นของการพัฒนาที่ยั่งยืน คำว่า “พัฒนา” มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด หากนำแนวคิดเรื่อง Reverse Development ของประเทศญี่ปุ่นมาคิดวิเคราะห์ จะปฏิบัติได้อย่างไร

A: รศ. ดร.ณัฐพงษ์ ให้ข้อคิดเห็นว่า การพัฒนาในโลกปัจจุบัน หากพิจารณาตามประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศในอุดมคติ จะทำให้เข้าใจถึงเป้าหมายในการพัฒนาได้ตรงกัน ซึ่งมองว่าการพัฒนาเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานของการเข้าถึงบริการ การศึกษา สาธารณสุข และอื่น ๆ ในการพัฒนาต้องยอมรับว่าหากรายได้ประชากรต่ำ การเสียภาษีจะเป็นไปได้น้อย และจะทำให้เงินสวัสดิการจะน้อยตามไปด้วย ดังนั้น การพัฒนา ควรพัฒนาให้ถึงจุดที่ประชากร มีรายได้ที่เพียงพอ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ส่งกลับมาเป็นสวัสดิการ

กล่าวโดยสรุป งานสัมมนาการวิจัยด้านการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม จากกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ซึ่งพยายามฉายภาพให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในหลากหลายแง่มุม แนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พร้อมอธิบายการนำเครื่องมือใหม่ ๆ ที่มีความก้าวหน้าและล้ำสมัยมาใช้ในการวิเคราะห์ถึงเส้นความยากจนและเส้นวัดความเหลื่อมล้ำ พร้อมถกประเด็นแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้สัมมนาและนักวิจัยแนวหน้าที่เกิดขึ้นในกระบวนการวิจัยที่พบในปัจจุบัน พร้อมตอบโจทย์วิจัยที่ตรงกับตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในการการจัดการด้านปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและพัฒนาไปสู่อนาคต

รับชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ : https://youtu.be/kDXq9MvzCF0
ติดตามสรุปสัมมนาในโครงการทั้ง 12 เวที ได้ที่ : ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
– (8.2) บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านความหลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานเป็นหลัก (Labour intensive)
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.1) บรรลุการเติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนของรายได้ของประชากรที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40% ให้มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี 2573
– (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.1) เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถภายในประเทศในการเก็บภาษีและรายได้อื่น ๆ ของรัฐ
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

ณิญาพรรน์ภักร์ ประทุมรัตน์ – ถอดความ
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Last Updated on มีนาคม 8, 2023

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น