TU SDG Seminars | เจาะลึกแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาและความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มเปราะบาง – ชวนหาคำตอบจากบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม

ชวนอ่านบทสรุปการสัมมนา ครั้งที่ 2 หัวข้อ “การวิจัยด้านการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม” โดย ผศ. ดร.วสิศ ลิ้มประเสริฐ วิทยาลัยสหวิทยาการ และ รศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิด โดยแบ่งประเด็นการพูดคุยออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยผ่านมุมมองของ ผศ. ดร.วสิศ ลิ้มประเสริฐ 2) การนำเสนอผลงานวิจัยที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น และหัวข้อการวิจัยในอนาคต และ 3) ช่วงถามตอบประเด็นการวิจัยจากผู้เข้าร่วมในห้องสัมมนา ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีสัมมนาการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ผ่านระบบ Zoom Meeting

ด้วยประเด็นที่กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา การเข้าถึงความรู้และทรัพยากร รวมถึงคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบาง จึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 4 เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ


01 – ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยผ่านมุมมองของ ผศ. ดร.วสิศ ลิ้มประเสริฐ

ผศ. ดร.วสิศ เปิดประเด็นการพูดคุยการวิจัยด้านการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยแสดงความเห็นคิดเกี่ยวกับ การเข้าถึงความรู้และการศึกษาอย่างเท่าเทียม จะสามารถนำพาประเทศสู่ความก้าวหน้าได้ ผศ. ดร.วสิศ ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและธนาคารในประเทศไทยหลายแห่ง พบว่า ประชากรไทยส่วนมากขาดข้อมูลและเครือข่ายในการทำธุรกิจ จำเป็นต้องมีการพัฒนาเครื่องมือที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำจากการขาดแคลนทรัพยากร เช่น การเข้าถึงความรู้ของเด็กนักเรียน การลงทุนกับเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด ปัจจุบัน ผศ. ดร.วสิศ กำลังทำโครงการวิจัยร่วมกับหน่วยงานรัฐ จึงเสนอแนวทางที่มหาวิทยาลัยช่วยได้ในการลดความเหลื่อมล้ำ ตัวอย่างเช่น

  • การให้ทุนการศึกษากับนักเรียน/นักศึกษาที่ขาดโอกาส
  • การให้ความรู้กับคนยากจนที่ขาดโอกาส เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถสร้างรายได้และขยับชนชั้นทางสังคมของตนเองได้
  • มหาวิทยาลัยสามารถช่วยเหลือโรงเรียนในท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้มากขึ้น
  • งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่ค่อยถูกเผยแพร่ หรือมักจะจบแค่ที่การตีพิมพ์ผลงาน จึงอยากเชิญชวนนักวิจัยลองมองหาช่องทางในการนำโจทย์ของพื้นที่มาพัฒนา เพื่อช่วยเหลือธุรกิจและสังคมที่อยู่ในพื้นที่
  • มหาวิทยาลัยอาจสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ของผู้ประกอบการและนักเรียนในพื้นที่ ในแง่ของความรู้ พื้นที่ หรือสิ่งพื้นฐานที่สามารถช่วยได้
  • สร้างเครือข่ายธุรกิจท้องถิ่น (local business network) เพื่อแบ่งปันฐานข้อมูลเครือข่ายให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ผศ. ดร.วสิศ ยังกล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ (business challenge) ประกอบด้วย การขาดเครือข่ายธุรกิจและลูกค้า การขาดความรู้ด้านเทคโนโลยีหรือวัตถุดิบ การขาดโอกาสในการขาย เช่น ตลาด พื้นที่ที่มีความต้องการ และการขาดการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ


02 – การนำเสนอผลงานวิจัยที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น และหัวข้อการวิจัยในอนาคต

ผลงานวิจัยของ ผศ. ดร.วสิศ ที่ผ่านมา สามารถแบ่งตามหัวข้อความสนใจได้เป็น 2 หัวข้อหลัก คือ (1) งานวิจัยด้านการส่งเสริมการศึกษา และ (2) งานวิจัยด้านเศรษฐกิจ โดยงานวิจัยด้านการส่งเสริมการศึกษาที่เคยทำ ได้แก่ การพัฒนาสถานศึกษา 15 แห่งทั่วประเทศไทย ในการสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) การส่งเสริมศักยภาพของนักศึกษาในด้านวิทยาการคำนวณ (data science) เพื่อให้สามารถเข้าไปทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความต้องการ และการพัฒนาหลักสูตรความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber security) ในรูปแบบออนไลน์ ร่วมกับบริษัท Microsoft สำหรับงานวิจัยด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย (trade analytics for SMEs) โดยวิเคราะห์ศักยภาพผู้ประกอบการ แรงงาน และกิจกรรมต่าง ๆ การศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ ผศ. ดร.วสิศ เชื่อว่า การพัฒนาภาคธุรกิจจะทำให้มีเงินเข้าประเทศมากขึ้นและมีกำลังในการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ต่อไป

ปัญหาในการทำงานวิจัยของ ผศ. ดร.วสิศ เป็นเรื่องของเวลาที่ค่อนข้างจำกัดและการทำให้งานออกมาตามมาตรฐาน จึงมีการนำเครื่องมือ เช่น ISO2911 มาใช้ เพื่อช่วยให้สามารถดำเนินงานได้ตามกำหนดเวลาและมีมาตรฐานมากขึ้น

ส่วนหัวข้อการวิจัยที่น่าสนใจในอนาคต ผศ. ดร.วสิศ เสนอการวิจัยที่เน้นไปที่ประเด็นเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันนักเรียนส่วนใหญ่เรียนเพื่อสอบ แต่ไม่มีประสบการณ์และความสำเร็จในเรื่องอื่น ๆ จึงควรส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความมั่นใจและกล้าทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ สินค้าของไทยยังไม่ค่อยมีบทบาทในตลาดโลกมากนัก อาจเริ่มจากการสร้างสินค้าของไทยให้เป็นที่รู้จักภายในประเทศและเริ่มส่งออกเพื่อตีตลาดต่างประเทศ มหาวิทยาลัยอาจช่วยเหลือในแง่ของการส่งเสริมความรู้ เงินทุน เครือข่ายต่าง ๆ

สำหรับ รศ. ดร.ชุมเขต มีความสนใจในกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ต้องขัง และคนชายขอบ การทำงานเชื่อมโยงกับประเด็นด้านความเสมอภาค ทั้งการวิจัย การสอน และงานบริการวิชาการ ในฐานะสถาปนิก รศ. ดร.ชุมเขต พยายามออกแบบสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเสมอภาค ผ่านการมองตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ในแง่ของปัจจัยสี่ คุณภาพชีวิต ที่อยู่อาศัย ระบบพาหนะขนส่ง อาคารสถานที่ และพื้นที่สาธารณะ ต้องส่งเสริมให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นและมีสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่ โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการหนุนเสริม ผลงานวิจัยที่ผ่านมาของ รศ. ดร.ชุมเขต ตัวอย่างเช่น การรวบรวมฐานข้อมูลผู้สูงอายุเพื่อนำมาใช้ช่วยเหลือการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ การปรับปรุงบ้านที่เสื่อมโทรมของผู้สูงอายุรายได้น้อย การจัดการศูนย์สุขภาพและบูรณาการสำหรับผู้สูงอายุ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมเพื่อคนพิการ ที่จอดรถสำหรับคนพิการ สิ่งอำนวยความสะดวกและขนส่งสาธารณะเพื่อคนพิการ กระบวนการที่สำคัญที่สุดในการทำงานคือ การมีส่วนร่วม รับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้กลุ่มเป้าหมายอยากจะพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ตนอยู่อาศัย และสามารถนำไปต่อยอดในมิติเศรษฐกิจได้ ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม (SDG10) และเมืองยั่งยืน (SDG11) รศ. ดร.ชุมเขต เชื่อว่า หากเราสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและความคิดของคนหนึ่งคนได้ เมื่อเขารับผิดชอบตัวเองได้ เขาจะขยับไปสู่การรับผิดชอบสังคม สิ่งแวดล้อม และโลกต่อไป

รศ. ดร.ชุมเขต เสนอแนวทางการข้ามผ่านอุปสรรค โดยพยายามมองให้เห็นความหลากหลาย มองหลายมิติ ลองหาวิธีที่ทำให้ผ่านไปได้ อาจจะช้าบ้างก็ไม่เป็นไร อยากให้ทำความเข้าใจว่าปัญหาเกิดจากอะไร และถ้าหากมีคนช่วยก้าวข้ามอุปสรรค เช่น การทำงานแบบมีส่วนร่วมและบูรณาการหลายศาสตร์ จะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น
หัวข้องานวิจัยในอนาคตที่น่าสนใจ รศ. ดร.ชุมเขต เสนอการปรับมุมมองโดยเปลี่ยนปัญหาเป็นความท้าทาย ปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว หากสามารถเปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาส สร้างนวัตกรรมหรือการเข้าถึงผู้สูงอายุให้มากขึ้น เศรษฐกิจก็จะเติบโตได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เวลาผู้สูงอายุไปเที่ยวมักจะไปเป็นกลุ่มใหญ่ ซื้อของจำนวนมากและนึกถึงคนรอบตัว หากเจาะกลุ่มตลาดผู้สูงอายุอาจทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น ดังนั้น การเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก เท่าทันปัญหา เปลี่ยนเป็นความท้าทาย จะสามารถต่อยอดไปสู่โอกาสได้ทันที


03 – ช่วงถามตอบประเด็นการวิจัยจากผู้เข้าร่วมในห้องสัมมนา

หนึ่งคำถามน่าสนใจจากผู้เข้าร่วมในห้องสัมมนา คือ “ควรใช้ระเบียบวิธีการวิจัย (methodology) แบบใดในการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (computer science) เนื่องจากมีการบูรณาการข้ามศาสตร์ค่อนข้างเยอะ” ซึ่ง ผศ. ดร.วสิศ และ รศ. ดร.ชุมเขต ได้ให้คำตอบที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

ผศ. ดร.วสิศ กล่าวว่า สามารถใช้วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ได้ แต่ในการประยุกต์ใช้กับงานวิจัยทางสังคมศาสตร์จำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลก่อน สำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ ส่วนใหญ่จะมีผู้ใช้งานและงบประมาณก่อน แล้วจึงเริ่มดำเนินการวิจัย ซึ่งเป็นการนำแนวคิดจากงานวิจัยต่างประเทศมาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับประเทศไทย

ขณะที่ รศ. ดร.ชุมเขต จะมีส่วนช่วยในการตั้งโจทย์การวิจัย ความต้องการใช้ข้อมูล และจัดทำแพลตฟอร์ม (platform) ในการเก็บข้อมูลขึ้นมา เพื่อจะได้ข้อมูลที่สามารถนำมาประมวลผลได้ทันที ซึ่งช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น นอกจากนี้ รศ. ดร.ชุมเขต กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้งหรืองานวิจัยแบบใดก็ตาม หากมีกระบวนการและโจทย์การวิจัยที่ดี งานนั้นจะถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างคุณค่าแก่สังคม รวมถึงเสนอแนะการทำงานวิจัยบูรณาการแบบข้ามศาสตร์ เนื่องจากสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายและส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

กล่าวโดยสรุป งานสัมมนาการวิจัยด้านการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ฉายภาพให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษา การเข้าถึงความรู้และทรัพยากรต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงความเหลื่อมล้ำในประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและผู้พิการ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจะเป็นส่วนหนึ่งที่มาช่วยหนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้

รับชมวิดีโอบันทึกจากงานสัมมนาย้อนหลัง ได้ที่นี่ : https://youtu.be/1G7Ifg5dIIQ
ติดตามสรุปสัมมนาในโครงการทั้ง 12 เวที ได้ที่ : อ่านสรุปสัมมนาทั้งหมด

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.4) ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนและกลุ่มผู้เปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน การถือกรรมสิทธิ์ และใช้ประโยชน์เหนือที่ดินและทรัพย์สิน
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่จำเป็นรวมถึงทักษะทางเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่ดีและการเป็นผู้ประกอบการภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่สมควรความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรมและส่งเสริมการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อยขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งรวมถึงผ่านทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงการให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติ พันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรืออื่นๆ ภายในปี 2573

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

ขนิษฐา สมศรี – ถอดความ
กนกพร บุญเลิศ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น