TU SDG Seminars | งานวิจัยจะศึกษาและหนุนเสริมการลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ได้อย่างไร ชวนหาคำตอบจากบทสรุปสัมมนาการวิจัยด้านการลดความเหลื่อมลํ้าและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม

ชวนอ่านบทสรุปการสัมมนาการวิจัยหัวข้อ “การวิจัยระดับพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม” โดย ผศ.รณรงค์ จันใด และ รศ .ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีสัมมนาการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ผ่านระบบ Zoom Meeting

ด้วยประเด็นที่กล่าวถึงการลดความเหลื่อล้ำเชิงพื้นที่ผ่านการศึกษาวิจัย งานสัมมนาข้างต้นจึงมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง


01 – บทสรุปการสัมมนาหัวข้อ “การวิจัยระดับพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม”

การสัมมนาหัวข้อ “การวิจัยระดับพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม” มีประเด็นสำคัญที่ได้จากการนำเสนอของ ผศ.รณรงค์  ดังนี้

  • ประสบการณ์การทำงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า  งานวิจัยจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมให้ได้โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ ยิ่งเกิดการศึกษาวิจัยยิ่งต้องเป็นการทำให้ความเหลื่อมล้ำห่างไกลจากชุมชนมากขึ้น 
  • หลักในการทำวิจัย ได้แก่ 1) การทำงานในพื้นที่ต้องคำนึงถึงความหลากหลาย ฐานคิดของงานวิจัยไม่สามารถใช้เหมือนกันได้ในทุกพื้นที่ 2) กลุ่มเป้าหมาย ต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในโครงสร้างที่เสียเปรียบมีที่ยืน และรับรู้ว่าตนเองมีแรงผลักดัน ไม่เช่นนั้น ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งชัดเจนมากขึ้น คนจนไร้อำนาจจะถูกกดทับจากสังคม 3) การวิจัยต้องเสริมพลังทั้งในระดับบุคคลและกลุ่มเป้าหมายอย่างชุมชนท้องถิ่น 4) พิจารณาบริบทให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่
  • รูปแบบการวิจัย ยังใช้เป็นการวิจัยโดยทั่วไป แต่ในการทำงานจะเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนา เริ่มจากการพัฒนาฐานข้อมูล เนื่องจากฐานข้อมูลของไทยมีปัญหา ไม่มีฐานข้อมูลที่เป็นระบบ ทั้งที่ฐานข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตัดสินใจ การลงพื้นที่แต่ละครั้งต้องเก็บข้อมูลใหม่ พัฒนารูปแบบเเละกลไก ซึ่งปัญหาคือต่างฝ่ายต่างทำงาน กลไกสำคัญคือจะทำอย่างไรให้แต่ละพื้นที่มีบทบาทที่เชื่อมโยงกันและกัน อีกสิ่งที่สำคัญคือพื้นที่นำร่อง เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชุมชนอื่น ๆ รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมและบูรณาการความรู้ใหม่ให้แก่คนรุ่นถัดไป

ผศ.รณรงค์ ยังระบุถึงอุปสรรคและความท้าทายของการทำวิจัยในปัจจุบันว่าหน่วยงานของรัฐมีข้อจำกัดหลายประการในการจัดการงานในท้องถิ่น ส่งผลให้แม้จะมีแนวความคิดหรือมีใจในการพัฒนา แต่มักติดกับกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของหน่วยงาน นอกจากนี้ ความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ก็เป็นความท้าทายอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ พื้นที่หนึ่งโดดเด่นได้รับการสนับสนุน อีกพื้นที่ไร้กำลังเข้าไม่ถึงโอกาสในการพัฒนา ดังนั้น งานวิจัยในอนาคต หากต้องการให้เกิดความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือนักวิจัยควรมุ่งเน้นไปที่พื้นที่ที่ไร้กำลัง พิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาได้

ด้าน รศ .ดร.ภาวิณี นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจผ่านโครงการวิจัยของตนเองจำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1. โครงการการศึกษาความสอดคล้องเชิงนโยบายของการให้การสนับสนุนการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ที่ปลอดภัยเมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่นในเขตเมือง 

โครงการดังกล่าวเป็นการศึกษาความสอดคล้องเชิงนโยบายมาจนถึงการศึกษาระดับพื้นที่ที่ส่งผลให้เห็นว่าการเดินทางของคนในเมืองนั้นไม่ได้มีทางเลือกในการเดินทางใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีต้นทุนทางสังคมและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้น ความเป็นเมืองที่พยายามจะสร้างสรรค์ทางเลือก กลับกลายเป็นว่าช่วยเพิ่มทางเลือกแก่คนบางกลุ่มเท่านั้น โดยผลการศึกษาพบว่า จักรยานยนต์เป็นตัวเลือกที่มีผู้ใช้เยอะมาก แต่ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ใช้จักรยานยนต์ก็ยังระบุว่าตัวเองมีความเสี่ยง เช่นนั้นโจทย์ของการศึกษาคือ การหาสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นเลือกที่จะยอมรับความเสี่ยงดังกล่าว

หลังจากการหารือร่วมกันทั้งกับภาครัฐและภาคเอกชน ทุกกลุ่มเห็นตรงกันว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำจากความเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนน ได้กลายเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนที่ทุกคนเห็นว่าไม่เป็นปัญหาและเคยชินกับพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนแบบผิด ๆ

จากการศึกษาและวางแผนจนได้ออกมาเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่สามารถส่งต่อให้แก่ผู้ทำงานภาคปฏิบัติมาขับเคลื่อน เพื่อแก้ไขปัญหาในกรุงเทพมหานคร มีทั้งการปรับปรุง การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ การสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดการกระจายข้อมูลข่าวสาร โดยในข้อเสนอในการปรับปรุงมีทั้งทางกายภาพ เช่น สำรวจถนน ป้ายต่าง ๆ รวมถึงด้านนามธรรม เช่น การปลูกฝังค่านิยมในการใช้ถนนอย่างถูกต้องและคำนึงถึงปลอดภัย

2. ชุดโครงการการบูรณาการแผนเมืองอัจฉริยะเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่เมืองมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน 

โครงการนี้เป็นการใช้งบประมาณของภาครัฐในการศึกษาชุมชนหรือท้องถิ่นโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านองค์ความรู้ที่เข้าไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่และพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยการพัฒนาจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษามีโจทย์การพัฒนาแผนเมืองอัจฉริยะ 7 เสาหลัก จากความพยายามในการหาโจทย์ในพื้นที่ ปัญหาที่พบเด่นชัดคือการจราจรที่แออัด ซึ่งผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่การเสียเวลา แต่ยังรวมถึงมลพิษ อุบัติเหตุ ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่โจทย์เชิงพื้นที่คือ ‘Smart Living’ กล่าวคือ จะทำอย่างไรให้คนมีสุขภาวะที่ดี ท้ายที่สุดโจทย์เหล่านี้นำไปสู่โครงการย่อยอีก 11 โครงการ เพื่อแก้ปัญหาทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ดังนั้นสิ่งสำคัญในการดำเนินงานของโครงการจึงอยู่ที่การตีโจทย์ ผู้วิจัยต้องเข้าใจพื้นที่ ส่วนใดสามารถเข้าไปดำเนินการได้ และการดำเนินการต้องใช้เครื่องมือใดจึงจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งการที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จได้ ชุดข้อมูลที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

3. ชุดโครงการกลไกความร่วมมือในการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านพื้นที่การเรียนรู้ของจังหวัดปทุมธานี

พื้นที่ในการศึกษา คือ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ติดกับคลอง จึงมีแนวคิดในการพัฒนาเมืองสู่การเรียนรู้ด้วยหลักที่ว่าถ้าคนได้ใช้เมืองที่ดี จะเกิดความรักต่อเมือง เนื่องจากปทุมธานีมีคนหลากหลาย ทั้งคนในพื้นที่และผู้ที่เข้ามาเรียนหรือทำงาน อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เลือกอาศัยอยู่ในจังหวัด ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ปทุมธานีมีหลายสิ่งที่น่าสนใจ หลังจากมหาวิทยาลัยร่วมมือกับท้องถิ่น ได้เกิดเป็นภาคีเครือข่ายและพื้นที่นำร่องขึ้น

4. โครงการการศึกษาปัจจัยในการลดความเหลื่อมล้ำด้านรูปแบบทางเลือกของการเดินทางที่หลากหลาย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

โครงการนี้เป็นการต่อยอดจากโครงการที่หนึ่ง โดยศึกษาปัญหาเรื่องการเดินทางเชิงพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากขึ้น การทำความเข้าใจผังเมืองและเครื่องมือต่าง ๆ พบว่า พื้นที่ตัวเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว สวนทางกับการเข้าถึงการคมนาคม นอกจากนี้ ผู้คนยังมีความแตกต่างด้านปัจเจกที่หลากหลาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความเชื่อ ทัศนคติ รวมไปถึงนโยบายการพัฒนาที่ไม่ทำความเข้าใจถึงตัวปัญหาและขาดดัชนีชี้วัดการพัฒนาเมือง 

ความท้าทายของโครงการจึงเริ่มตั้งแต่การตั้งโจทย์ ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงเป็นการทำความเข้าใจให้ได้ว่า การเชื่อมโยงโจทย์ปัญหาต้องใช้ความหลากหลายทางความเชี่ยวชาญ และไม่สามารถแก้ได้ด้วยนักวิจัยเพียงคนเดียว แต่ต้องทำความเข้าใจรากฐานที่แท้จริงของปัญหา ทำความเข้าใจปัจจัยทั้งภายในและภายนอกและสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น


02 – ประเด็นสำคัญที่ได้จากการแลกเปลี่ยนพูดคุยในห้องสัมมนา

การสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ร่วมสัมมนากับนักวิจัยแนวหน้าทั้ง 2 ท่าน มีประเด็นสำคัญอย่างน้อย 6 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การศึกษาไม่ใช่ปัญหาของทุกความเหลื่อมล้ำ แม้การศึกษาจะเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกจำนวนมากที่เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ การมองในมุมกว้างขึ้นจะทำให้สามารถค้นพบวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้น้อยลงได้

ประเด็นที่ 2 คำถามที่ผู้วิจัยต้องหาคำตอบคือการผลิตชุดข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ผู้วิจัยสามารถใช้วิธีหรือเครื่องมืออะไรบ้างที่ช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และข้อมูลเหล่านั้นนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไรบ้าง 

ประเด็นที่ 3 ผู้เข้าร่วมสัมมนาขอคำแนะนำจากนักวิจัยแนวหน้าเนื่องจากกำลังทำโครงการเกี่ยวกับแอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัยพิบัติต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยของการเคหะแห่งชาติ โดยนักวิจัยแนวหน้าเสนอว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทำให้ค้นสามารถค้นหาพื้นที่ที่ตรงกับความต้องการของตนได้ หากผลักดันให้ภาครัฐนำข้อมูลจากการวิจัยมาพัฒนาต่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลเหล่านี้ได้ จะเป็นเรื่องที่ส่งผลดี

ประเด็นที่ 4 การดำเนินงานนโยบายของภาครัฐในปัจจุบันมีการออกนโยบายโดยคิดเพียงว่าประชาชนเป็นฐานล่างของสังคมและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

ประเด็นที่ 5 ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องเปราะบางและซับซ้อน การติดตามสถานการณ์ทุกพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ควบคู่ไปกับการทำให้ประชาชนไม่รู้สึกแปลกแยก สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการทำโครงการจะต้องมีความต่อเนื่องและสร้างเครือข่ายที่เหมาะสม

ประเด็นที่ 6 ความเหลื่อมล้ำรอบมหาวิทยาลัย เนื่องจากนักวิจัยแนวหน้าเคยทำโครงการ ‘Campus Town’และได้ศึกษาว่า จังหวัดปทุมธานี ได้รับการจัดเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจทางด้านการศึกษาและอุตสาหกรรม แต่ทั้งสองส่วนไม่ได้พึ่งพากัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าความเหลื่อมล้ำอาจเกิดตั้งแต่การไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานหรือไม่ได้ใช้สอยอย่างคุ้มค่าและขาดการหารือร่วมกัน

กล่าวโดยสรุป นักวิจัยแนวหน้าทั้งสองท่านได้นำเสนอแนวทางการทำงานวิจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ทั้งในเชิงกระบวนการและเป้าหมาย โดยเน้นย้ำความสำคัญของการกระจายการศึกษาวิจัยให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดกำลังคนและเครื่องมือทางการศึกษาซึ่งไม่สามารถดำเนินการวิจัยได้ด้วยตนเอง 

รับชมวิดีโอบันทึกจากงานสัมมนาย้อนหลัง ได้ที่นี่ :  https://youtu.be/DaYTpTWyDsk
ติดตามสรุปสัมมนาในโครงการทั้ง 12 เวที ได้ที่ : sdgmove.com

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.2) ภายในปี 2573 จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ เป็นพิเศษ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

ตวงขวัญ ลือเมือง – ถอดความ
อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Last Updated on เมษายน 11, 2023

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น