TU SDG Seminars | งานวิจัยจะศึกษาและหนุนเสริมการผลิต บริโภค และท่องเที่ยวระดับพื้นที่ให้ยั่งยืนได้อย่างไร ชวนหาคำตอบจากบทสรุปสัมมนาการวิจัยด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนระดับพื้นที่

ชวนอ่านบทสรุปการสัมมนาการวิจัย หัวข้อ “การวิจัยด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนระดับพื้นที่”  
โดย ผศ. ดร.วิลาวัณย์ ภมรสุวรรณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีสัมมนาการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ผ่านระบบ Zoom Meeting

ด้วยประเด็นที่กล่าวถึงสนับสนุนการผลิต การบริโภค และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคนในชุมชน งานสัมมนาข้างต้นจึงมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่
เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน


01 – บทสรุปการสัมมนาหัวข้อ “การวิจัยด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนระดับพื้นที่”   

ผศ. ดร.วิลาวัณย์ ในฐานะนักวิจัยแนวหน้าของโครงการ TU – SDG Research ได้นำเสนอประเด็นจากประสบการณ์การทำงานวิจัยเกี่ยวกับการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนระดับพื้นที่โดยแบ่งเป็นประเด็นย่อยที่น่าสนใจ ดังนี้

ประเด็นแรก การนำเสนองานวิจัยและหัวข้อวิจัยที่ผ่านมา

ผศ. ดร.วิลาวัณย์ ได้กล่าวถึงงานวิจัยที่ผ่านมา 3 ด้าน ได้แก่ 

  • ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชน : งานวิจัยที่ทำเป็นงานวิจัยที่เสนอต่อจังหวัดปทุมธานี ผ่านสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ โครงการส่งเสริมการบริหารการจัดการขยะโดยชุมชน จังหวัดปทุมธานี ปี พ.ศ. 2559 และ โครงการส่งเสริมการจัดการน้ำเสียโดยชุมชน จังหวัดปทุมธานี ปี พ.ศ. 2561 โดยทั้ง 2 โครงการ จังหวัดปทุมธานีได้มอบหมายผู้วิจัยให้ส่งเสริมความรู้และแจกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แก่ชุมชนสำหรับการจัดการขยะ เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับการจัดการขยะและน้ำเสียโดยส่วนมากเกิดจากชุมชน ขณะที่โรงงานมีระบบติดตามและได้รับการตรวจสอบโดยกรมโรงงานอยู่แล้ว

    โครงการทั้งสองข้างต้น ยังช่วยให้ผู้วิจัยรู้จักจังหวัดปทุมธานีมากขึ้นผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และค้นพบว่า อสม. เป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงพื้นที่ โดยการลงพื้นที่ได้ใช้กระบวนการจัดเวที ให้ความรู้และจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจแก่ชุมชน และมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรม การลงพื้นที่ยังเป็นการเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการวิจัยกับชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ใกล้ชิดกับพื้นที่มากขึ้น รวมถึงทำให้ทราบว่า “แม้บ้านเมืองเจริญไปมาก แต่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดียังกระจุกอยู่เพียงหมู่บ้านจัดสรร ยังไม่มีการจัดการที่เหมาะสมกับชุมชนอย่างแท้จริง”
  • ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาเมือง/มรดกทางวัฒนธรรม : เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การดำเนินวิจัยของโครงการนี้มีลักษณะที่เป็นอิสระ ผู้วิจัยสามารถออกแบบโครงการได้เองตามโจทย์ที่ สผ. กำหนด ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสื่อกลางระหว่างหน่วยงานกับชุมชนในการก่อเกิดโครงการใหม่ ๆ ขึ้น โดยงานที่ได้รับมอบหมายสำหรับดำเนินวิจัยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน ดังนี้

    กลุ่มที่ 1 คือ การประกาศเขตเมืองเก่า เป็นงานที่มีประโยชน์และระดับชาติ โดยปัจจุบันมีการประกาศเป็นมติคณะรัฐมนตรี ทั้งสิ้น 36 เมือง แต่ที่ผู้วิจัยได้รับมอบหมายในการทำงานวิจัยมีทั้งสิ้น 21 เมือง 
    กลุ่มที่ 2 คือ มรดกโลก มีทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ทว่า มรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก ระยะหลังจึงมีความพยายามผลักดันมรดกโลกที่อยู่ในเมือง เช่น เมืองเก่าสงขลา เมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้ การขยับเป็นมรดกโลกจะพิจารณาด้านสถานที่อย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องพิจารณาบริบทของท้องถิ่นร่วมด้วย ชุมชนโดยรอบจึงต้องมีการปรับตัวหลายประการเพื่อมีส่วนร่วมกับการผลักดันพื้นที่เป็นมรดกโลก
    กลุ่มที่ 3 การท่องเที่ยว ในช่วงแรกมีการดำเนินโครงการด้วยการทำคู่มือเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการถอดบทเรียนเมืองเก่าต่าง ๆ ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์อาคาร แต่รวมถึงการอนุรักษ์มรดกที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำหนังสือคู่มือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำกรณีต่างประเทศมาคาดคะเนเทียบเคียงกับประเทศไทย  
  • ด้านท่องเที่ยวชุมชน : งานวิจัยที่ทำเป็นโครงการที่เสนอต่อองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) เกี่ยวกับการจัดการแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ส่วนใหญ่นำมรดกทางวัฒนธรรมมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ตลาดน้ำ อย่างไรก็ดีการท่องเที่ยวเป็นเหมือนดาบสองคม ด้านหนึ่งช่วยพัฒนาเศรษฐกิจทำให้คนมีรายได้ แต่หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสม สถานที่เหล่านั้นอาจเสื่อมโทรมลงได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตชุมชน ผศ. ดร.วิลาวัณย์ ได้รับมอบหมายจาก อพท. ให้ช่วยอบรมเจ้าหน้าที่และชุมชน จังหวัดเลย โดยเน้นการทำให้ชุมชนตั้งรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับความเชื่อของชุมชนซึ่งถือเป็นการสร้างความยั่งยืนรูปแบบแบบหนึ่ง  เพื่อไม่ให้การท่องเที่ยวเบียดกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนมากนัก 

ประเด็นที่สอง ขั้นตอนหรือกระบวนการวิจัยที่มีความสำคัญต่องานวิจัย

ผศ. ดร.วิลาวัณย์ แสดงความเห็นว่า สิ่งสำคัญของกระบวนการวิจัย คือการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการมีส่วนร่วมต้องมาจากความเข้าใจและการเห็นค่าในสิ่งที่กำลังทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่อย่างยั่งยืน คนในพื้นที่และหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่ทำมีความสำคัญอย่างไร การดำเนินการด้วยกระบวนการใด และผลลัพธ์จะยั่งยืนอย่างไร

ดังตัวอย่าง “กระบวนการวิจัยของโครงการเมืองเก่า” ที่นอกจากจะพิจารณาจากลักษณะกายภาพของบ้านเมืองและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ยังต้องอาศัยคนในชุมชนที่ต้องเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นด้วย ซึ่งการที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม กระบวนการเมืองเก่าที่มุ่งให้เกิดการเชิดชูวัฒนธรรมจึงเป็นนโยบายที่จะช่วยขับเคลื่อนและสร้างกลุ่มคนให้ดูแลเมืองของตน 

นอกจากนี้ ผศ. ดร.วิลาวัณย์ เปิดเผยว่าระยะแรกของการลงพื้นที่พูดคุยกับหน่วยงานราชการนั้นค่อนข้างยากลำบาก เพราะหน่วยงานเหล่านั้นไม่สนใจและไม่เห็นความเกี่ยวข้องกับบทบาทหรือภารกิจของตน การออกแบบกระบวนการปรับกระบวนทัศน์ใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่และเป็นสื่อกลางในการเข้าถึงผู้คน โดยในแง่ของกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม ต้องเริ่มจากการค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ แล้วจึงพัฒนาเป็นการเปิดเวทีหรือพื้นที่พูดคุยอย่างเป็นทางการ โดยต้องแก้ไขความเข้าใจว่าเมืองเก่าไม่ใช่การแช่แข็งเมือง และต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาเมืองไปพร้อม ๆ กับอนุรักษ์ด้วยกันให้ได้ 

ความเข้าใจเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสนใจของท้องถิ่น โจทย์ใหญ่คือทุกภาคส่วนในพื้นที่รับรู้ได้ถึงความมีคุณค่าในตนเองหรือการมีใจต่อเมืองหรือไม่ เพราะสุดท้ายหากไม่มีใจที่จะอนุรักษ์ กระบวนการต่าง ๆ ก็จะประสบความสำเร็จได้ยาก

ประเด็นที่สาม อุปสรรคและความท้าทายของการทำวิจัยในปัจจุบัน

ความท้าทายในการทำวิจัยที่ ผศ. ดร.วิลาวัณย์ ระบุถึง 2 เรื่องที่เป็นอุปสรรคและความท้าทายของการทำวิจัย ได้แก่ เรื่องแรก การสร้างความเข้าใจ การยอมรับ และความร่วมมือในการบริหารจัดการเมืองและชุมชน โดยสิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจด้วยหลักเหตุผล อีกเรื่องคือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างกัน การถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษาและทีมงานรวมไปถึงหนุนเสริมความรู้แก่พื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้แล้วยังต้องคำนึงถึงการสร้างการเชื่อมโยงระหว่างกันด้วย

ประเด็นที่สี่ ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการทำวิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การพัฒนาระดับใดหรือประเภทใดก็ตาม สถาบันการศึกษาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาชุมชนในหลากหลายด้าน ซึ่งการพัฒนาที่จะยั่งยืนได้ต้องใช้พื้นที่ตัวเองและการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ รวมถึงเป็นตัวเชื่อมในการทำงานร่วมกันให้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน 


02 – ประเด็นสำคัญที่ได้จากการแลกเปลี่ยนพูดคุยในห้องสัมมนา

การสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ร่วมสัมมนากับนักวิจัยแนวหน้า มีประเด็นสำคัญอย่างน้อย 3 ประเด็น ดังนี้

1. ศิลปะในเมืองรอง : ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนว่าตนจัดทำคลิปอาร์ตชื่อ ร้อยแรงบันดาลไทย เป็นการศึกษาและสนใจเกี่ยวกับศิลปะในเมืองรอง เพื่อนำมาสร้างวิดีโอให้ชุมชนนำไปใช้ต่อหรือดำเนินการเองได้

2. การเสริมศักยภาพของเมืองเก่า : แนวคิดเมืองเก่าถูกคิดมาเพื่อให้สอดรับกับนโยบายเมืองรอง ในการนำเสนอศักยภาพของจังหวัดหรือพื้นที่ที่มักถูกมองข้ามจากนักท่องเที่ยว 

3. ความเชื่อเรื่องความเจริญที่จะมาเปลี่ยนผ่านพื้นที่ : หลายชุมชนเกิดความขัดแย้งกันเองด้วยปัญหาแนวทางการแก้ไขสมัยใหม่ จนต้องเกิดการไกล่เกลี่ยที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ และหากชุมชนไม่เกิดความเข้าใจ การขับเคลื่อนก็จะทำต่อได้ยาก จนต้องใช้การสื่อสารด้วยกลวิธีต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น

กล่าวโดยสรุป การสัมมนาหัวข้อข้างต้นได้เปิดเผยให้เห็นถึงประสบการณ์การทำงานวิจัยในการหนุนเสริมการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่และวัฒนธรรมที่ยั่งยืน โดยมีชุมชนเป็นแกนกลางสำคัญของการขับเคลื่อน การนำเสนอของ ผศ. ดร.วิลาวัณย์ ครอบคลุมทั้งประเด็นแนวทางการดำเนินการและอุปสรรคท้าทาย ทั้งยังได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจการวิจัยด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนระดับพื้นที่อีกด้วย

รับชมวิดีโอบันทึกจากงานสัมมนาย้อนหลัง ได้ที่นี่ : https://youtu.be/tNVkreZJMYU
ติดตามสรุปสัมมนาในโครงการทั้ง 12 เวที ได้ที่ : sdgmove.com

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.9) ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี 2573
#SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.a) สนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
– (11.4) เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก
#SDG12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2563
– (12.b) พัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือเพื่อติดตามผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

ตวงขวัญ ลือเมือง – ถอดความ
อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Last Updated on เมษายน 11, 2023

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น