SDG Updates | สภาพความเป็นจริงที่รู้สึกได้ : ความแตกต่างในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคเหนือและภาคใต้

อ. ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ

01 – บทนำ

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร หรือ ฝุ่น PM2.5 ในระดับสูง แต่กระแสข่าวมักให้ความสนใจกับฝุ่นที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง เพราะมีผลกระทบกับคนมากกว่า 5 ล้านคนในกรุงเทพมหานคร ขณะที่จังหวัดใหญ่อื่น ๆ ก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะข้อความของ นายแพทย์กฤตไท ธนสมบัติกุล ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กเพจ “สู้ดิวะ” เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สื่อกระแสหลักเริ่มหันมาให้ความสนใจกับสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นภายนอกเขตกรุงเทพฯ คุณหมอหนุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงด้วยอายุเพียง 28 ปีได้กลายเป็นคนไข้โรคมะเร็งปอดที่อาจมีสาเหตุมาจากฝุ่น PM2.5 ที่หนาแน่นในจังหวัดเชียงใหม่ [1] แม้ว่าประเทศไทยเผชิญกับปัญหานี้มายาวนานกว่า 10 ปี แต่รัฐบาลเพิ่งประกาศใช้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ในปี พ.ศ. 2562 จนทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มตื่นตัวในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

ในฐานะที่ผู้เขียนได้เคยใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่เรียนในระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเชียงใหม่มาโดยตลอด และเมื่อเขียนบทความชิ้นนี้อยู่นั้นมีเหตุทำให้ต้องเดินทางกลับมาทำธุระส่วนตัวกับครอบครัวจึงได้ประสบกับสถานการณ์ในวันที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (US AQI index) อยู่ที่ระดับ 184 ส่งผลให้เชียงใหม่กลายเป็นจังหวัดที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 ส่งผลให้เกิดผู้เขียนเกิดความกังวลต่อการใช้ชีวิต การทำกิจกรรมกลางแจ้ง การขับรถ เกิดอาการหายใจติดขัด และมีอากาศคัดจมูกตลอดทั้งวัน

ภาพที่ 1: เมืองที่มีคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดในโลก
ที่มา: (Thairath, 2566)

เราคงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ฝุ่น PM2.5 ได้แพร่กระจายไปตามเมืองใหญ่ในหลายจังหวัด ความรุนแรงของฝุ่นชนิดนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย เช่น แหล่งที่มาของมลพิษ ภูมิประเทศ สภาพอากาศ และความหนาแน่นของจำนวนประชากร ประกอบการเมืองในหลายระดับ การรับมือจึงอาจไม่ใช่การใช้นโยบายเดียวทั่วประเทศ แบบ one size fits all แต่ภาครัฐจะต้องตอบสนองต่อการแพร่กระจายของฝุ่น PM2.5 ในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยการประสานงานกันมากขึ้น ภายใต้เจตจำนงทางการเมืองที่มุ่งมั่นในการแก้ปัญหามลพิษในระยะยาวและยั่งยืน


02 – สาเหตุและแหล่งที่มาของฝุ่น PM 2.5

ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาระดับชาติของประเทศไทย โดยจังหวัดต่าง ๆ กว่า 24 จังหวัดกำลังเผชิญกับค่าฝุ่นที่สูงเกินระดับมาตรฐานที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปรับปรุงใหม่ คือ ค่าเฉลี่ย 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรภายใน 24 ชั่วโมง [2] จังหวัดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของมลพิษในระดับที่แตกต่างกัน 

ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย มักปรากฎอย่างเด่นชัดในช่วงฤดูแล้งและอากาศเย็น [3] แหล่งที่มาของฝุ่นในกรุงเทพมหานคร มาจาก 3 แหล่งหลัก ได้แก่ (1) ท่อไอเสียรถยนต์ อันเนื่องมาจากการจราจร เพราะคนกรุงเทพใช้รถยนต์ส่วนตัวค่อนข้างมาก การจราจรที่คับคั่งและติดขัดในเมือง (2) การก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ ที่เกิดจากการขยายตัวของเมือง เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า และอาคารสูง (3) การเผาไหม้ของสารชีวมวล หรือการเผาไหม้ของเสียจากการเกษตร [4] ปัญหาฝุ่นควันในเมืองหลวงจะเลวร้ายลงก็ต่อเมื่อกรุงเทพฯ เผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน เช่น ภาวะอุณหภูมิผกผัน (temperature inversions)  อีกทั้งกรุงเทพฯ ยังมีจำนวนประชากรมากและอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น การปล่อยมลพิษกันเพียงปริมาณเล็กน้อยต่อคน จึงกลายเป็นมลพิษสะสมที่รุนแรงมากขึ้น [5] 

อีกด้านหนึ่ง ในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปางต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่เสมอ ซึ่งในอากาศจะมีความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 สูง จังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลกหลายครั้งในช่วงฤดูแล้งและอากาศเย็น ระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ มลพิษในภูมิภาคนี้มาจากการเผาไหม้ชีวมวลทางการเกษตร เช่น การเผาไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ไฟป่า และการเผาขยะ รวมทั้งการปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ปัจจัยทางสภาพอากาศยังพบว่าลมมรสุมฤดูหนาวในเอเชียมีอิทธิพลและสามารถพัดพาสารพิษทางอากาศมายังภาคเหนือของประเทศไทยได้ 2 ช่องทางหลัก คือ หนึ่ง ลมที่พัดจากเอเชียตะวันออกไปทางลาว และ สอง ลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย เช่น ฝุ่นควันจากการเผาไหม้ชีวมวลจากประเทศเมียนมา ประกอบกับอุณหภูมิต่ำและความเร็วลมในภาคเหนือทำให้ฝุ่นควันสามารถพัดไปยังจังหวัดใกล้เคียงได้ [6] 

นอกจากนี้ จังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้ เช่น สงขลาและสุราษฎร์ธานีได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากแหล่งที่มาที่ต่างกัน โดยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของฝุ่น PM2.5 ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ได้เก็บรวบรวมในฤดูแล้ง มีแหล่งที่มาจากกิจกรรมภายในภูมิภาคเอง เช่น การจราจร และโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ฝุ่น PM2.5 ในฤดูฝนมีแหล่งที่มาจากอิทธิพลของฝุ่นควันข้ามพรมแดนที่พัดมาจากไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย [7] 

เราจึงเห็นได้ว่า มลพิษจากฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นแต่ในเฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่กลายเป็นปัญหาที่ทั่วประเทศกำลังเผชิญ ดังนั้น การแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5 ไม่เพียงแค่ต้องอาศัยแนวทางที่หลากหลาย แต่ยังต้องการการประสานงานกันจากรัฐบาลในทุกระดับ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจไปพร้อมกัน


03 – การเมืองเรื่องมลพิษทางอากาศ: ความแตกต่างในกรุงเทพมหานคร และภูมิภาค

แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 เหมือนกัน แต่ผลกระทบในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศนั้นแตกต่างกัน การตอบสนองต่อมลพิษจากฝุ่น PM2.5 จึงต้องมีลักษณะที่แตกต่างกันเพื่อให้สอดคล้องกับแหล่งกำเนิด ความรุนแรง ภูมิประเทศ สภาพอากาศ และประชากรที่แตกต่างกัน อีกทั้งปัจจัยทางการเมืองล้วนส่งผลต่อแนวทางการจัดการปัญหาด้วยเช่นกัน

การเมืองส่งผลต่อแนวนโยบายและเครื่องมือที่ใช้เพื่อลดมลพิษทางอากาศ แสดงให้เห็นความแตกต่างของรูปแบบการเมืองส่งผลต่อการใช้อำนาจที่แตกต่างกัน โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเมืองหลวง มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่มีทรัพยากรและเงินทุนมากในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การขยายระบบขนส่งมวลชนและการควบคุมสถานที่ก่อสร้าง มีนวัตกรรมในการจัดการฝุ่น เช่น โครงการ ‘Sensor for All’ นวัตกรรมเครื่องมือตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีม ‘นักสืบฝุ่น’ ในการวิจัยหาต้นเหตุของฝุ่น PM2.5 การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง การบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และนวัตกรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ [8] แต่ในทางตรงกันข้าม การบริหารราชการส่วนภูมิภาคอยู่ภายใต้การจัดการที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล และได้รับการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง จึงทำให้มีทรัพยากรและความสามารถในการจัดการกับมลพิษจากฝุ่น PM2.5 น้อยลง จังหวัดต่าง ๆ จึงมีข้อจำกัดในการจัดการกับ PM2.5 มากกว่าในเขตกรุงเทพฯ สิ่งที่ส่วนภูมิภาคทำได้ คือ การบังคับใช้กฎระเบียบเพื่อลดการเผากลางแจ้ง เพิ่มการตรวจสอบคุณภาพอากาศ และกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ก่อมลพิษ 

นอกจากนี้ ระดับการรับรู้และการมีส่วนร่วมของสาธารณะยังส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการฝุ่น PM2.5 ประชาชนในกรุงเทพฯ มีความตื่นตัวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกรุงเทพฯ มีประชากรจำนวนมาก มีการนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 อย่างกว้างขวาง และการเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียที่ทำให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงปัญหาจากฝุ่น PM2.5 ที่ใกล้ตัวทุกคน ขณะที่ประชาชนในต่างจังหวัดอาจมีข้อจำกัดในการรับรู้ปัญหา แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคประชาสังคมในท้องถิ่นในเมืองใหญ่ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ หรือจังหวัดสงขลา มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ปัญหา และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อให้ประชาชนมีความตื่นตัวทางสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งมาก

ในจังหวัดทางภาคเหนือที่ประสบปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5 อย่างรุนแรงมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งรัฐบาลและภาคประชาสังคมได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา นั่นคือ รัฐบาลใช้มาตรการในการควบคุมปริมาณฝุ่น PM2.5 เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ขอความร่วมมือให้งดเผาขยะและเศษเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่กลางแจ้ง นอกจากนี้ ทางจังหวัดได้เพิ่มการตรวจสอบคุณภาพอากาศและกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ก่อมลพิษ แต่การบังคับใช้กฎหมายยังเป็นความท้าทายสำหรับการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นอย่างมาก เพราะคำสั่งห้ามเผาเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและกิจวัตรที่ชาวบ้านทำเป็นประจำมาอย่างยาวนาน ขณะที่ ภาคใต้ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตามคุณภาพอากาศ และบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ จังหวัดสงขลาได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด หรือในภาคกลาง เช่น จังหวัดสมุทรสงครามได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และอีก 23 จังหวัดอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมเปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ ต่อไป[9] 

ภาพที่ 2: ป้ายขอความร่วมมืองดเผาของผู้ว่าฯ เชียงใหม่หน้ามหาวิทยาลัยแม่โจ้
ที่มา: ผู้เขียน, 2 มีนาคม 2566

นอกจากนี้ จังหวัดต่าง ๆ ได้ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพ มีการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ลดกิจกรรมกลางแจ้งให้อยู่แต่ภายในอาคาร มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับระดับคุณภาพอากาศผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียเพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนในการตัดสินใจการใช้ชีวิตกิจกรรมประจำวันได้อย่างปลอดภัย ขณะเดียวกัน กลุ่มภาคประชาสังคมก็มีความเข้มแข็ง พวกเขามีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อมลพิษจากฝุ่น PM2.5 ในภูมิภาค หลายองค์กรได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังและช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การแจกหน้ากากอนามัยและเครื่องฟอกอากาศให้กับประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและผู้สูงอายุ เครือข่ายประชาสังคมดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น “สวนเจริญประเทศ” ป่ากลางเมืองเชียงใหม่ ขนาด 9 ไร่ เพื่อเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นสวนผักคนเมือง และสวนสาธารณะริมน้ำปิงแห่งใหม่ [10] อีกทั้งยังมีการฟ้องร้องดำเนินคดีหน่วยงานรัฐที่ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่และทวงคืน “อากาศสะอาด” ให้แก่ประชาชน เช่น คดีหมอกควัน PM 2.5 ในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดำเนินการประกาศเขตควบคุมมลพิษใน 4 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอนภายใน 30 วัน [11] และกรณีมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจเชียงใหม่/ภาคเหนือ และนักกิจกรรมทางสังคมเป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีปกครองต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี พ.ศ. 2562 [12] 

ฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย ในเมืองหลวงและจังหวัดใหญ่อื่น ๆ ต่างกำลังเผชิญกับมลพิษจากฝุ่น PM2.5 ที่มี “ธรรมชาติ” ของปัญหาที่แตกต่างกัน  การแก้ไขปัญหาจึงต้องมีลักษณะที่สอดคล้องกันในแต่ละพื้นที่ สภาพอากาศ และปัจจัยทางการเมือง แต่ยังจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลทุกระดับ ทั้งหน่วยงานระดับท้องถิ่นและระดับชาติเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม การเมืองในทุกระดับจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับฝุ่น PM2.5 


04 – อุปสรรคและความท้าทายในการลดปัญหาฝุ่น PM2.5

แม้ว่าจะมีความพยายามในการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันทุกปี อุปสรรคที่สำคัญคือ การขาดกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการฝุ่นควันโดนตรง แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายอย่างน้อย 6 ฉบับที่ให้อำนาจในการจัดตั้งหน่วยงานและดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการวิกฤตฝุ่นควัน เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 หรือ พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2535 แต่การทำงานที่แยกส่วนอย่างชัดเจนของหน่วยงานรัฐหลายกระทรวงส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ การจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 จึงต้องอาศัยกฎหมายที่ระบุถึงมลพิษทางอากาศโดยตรง ความท้าทายของภาคประชาสังคมคือความพยายามในการเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. … นำโดยเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย (ThaiCan) เพื่อเป็นหลักประกันและคุ้มครองสิทธิของคนไทยที่จะได้หายใจอากาศสะอาด [14] 

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะในภาคเหนือ การเผาหญ้า ฟาง และวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นวิถีชีวิตที่ประชาชนทำมานานหลายชั่วอายุคน การเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านโดยอาศัยระเบียบหรือกฎหมายที่เคร่งครัดอาจส่งผลสะท้อนกลับที่รุนแรงหรือแย่กว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การบังคับใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม จึงเป็นอุปสรรคอย่างชัดเจน ซึ่งอาจยังไม่รวมถึงการทุจริตหรือการออกใบอนุญาตที่ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษบางประเภทสามารถหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษและสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ในขณะที่บางอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองสามารถหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคและเป็นความท้าทายที่แสดงให้เห็นความอ่อนแอทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้นายทุนดำเนินกิจการของตนได้โดยขาดความรับผิดชอบ และก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5

นอกจากนี้ รัฐบาลในบางประเทศให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าความเหลื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย เมียนมา หรืออินโดนีเซียที่ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจมาก โดยเน้นการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ส่งเสริมการตั้งโรงงานโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ เช่น อินโดนีเซียเน้นการทำสวนปาล์มน้ำมัน และมีสาเหตุทางธรรมชาติคือ ภูเขาไฟระเบิด และไฟป่าพรุ ทำให้จังหวัดในภาคใต้ต้องเผชิญกับมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างรุนแรงอยู่เป็นประจำ

รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เช่น การรณรงค์ให้สาธารณชนรับรู้ การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ และการใช้มาตรการต่าง ๆ และมีระบบตรวจสอบค่ามลพิษ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเพื่ออากาศสะอาดโดยตรง มีการบังคับใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น และมีแนวทางที่ครอบคลุมและประสานงานกันมากขึ้น


05 – บทสรุป

การกลับมาเชียงใหม่ครั้งนี้ได้เปลี่ยนความรู้สึกของผู้เขียนโดยสิ้นเชิง เชียงใหม่ที่เต็มไปด้วยฝุ่นและควันอาจไม่ใช่เมืองที่น่าอยู่อีกต่อไป คุณหมอกฤตไทไม่ใช่คนเดียวที่กำลังเผชิญกับมะเร็งปอด แต่ผู้คนในภาคเหนือกำลังมีอายุสั้นลงทีละน้อย ๆ จากอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น [13]  เชียงใหม่ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายจังหวัดที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 มายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว แต่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มตื่นตัวในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเมื่อรัฐบาลประกาศแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองในปี พ.ศ. 2562 แสดงให้เห็นว่าฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อชาวไทยจำนวนไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม สาเหตุ แหล่งที่มา ภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ และประชากรเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความแตกต่างและความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5 ในภูมิภาคต่าง ๆ ส่งผลให้การจัดการกับฝุ่นควันนั้นแตกต่างกันเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยสำคัญเหล่านี้ ขณะเดียวกันการเมืองก็ส่งผลโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น เนื่องจากกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวง มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลจึงมีทรัพยากรและเงินทุนมาก ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ อยู่ภายใต้การบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่ขึ้นต่อรัฐบาลโดยตรง จึงมีทรัพยากรและเงินทุนที่จำกัด แต่กลับมีกลุ่มภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง มีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อมลพิษจากฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค และสามารถดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับรัฐบาลที่ละเลยการแก้ปัญหาฝุ่น ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายอีกไม่น้อย เช่น การประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นควันโดยตรง การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการเผาของประชาชนในที่โล่งแจ้ง การบังคับใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่โปร่งใสและเป็นธรรม และการจัดการกับมลพิษทางอากาศที่ข้ามพรมแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน การจัดการกับฝุ่น PM2.5 จึงต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองและความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาระยะยาวและยั่งยืน เช่น แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจและกำหนดนโยบายให้มากขึ้น

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ฝุ่น PM2.5 อีกภัยคุกคามก่อโรค ‘มะเร็งปอด’ หวั่นกระทบสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเชียงใหม่ครองค่าฝุ่นติดอันดับโลก
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติปรับลดค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในรอบ 12 ปี ใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานของ WHO มากขึ้น 
ปาย แม่ฮ่องสอน ติด 100 อันดับแรกของเมืองอากาศแย่ที่สุดในโลก และอีกเกือบครึ่งอยู่ในอินเดีย
การแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน : เมื่อการสร้างความตระหนักไม่เพียงพอ
WHO ออกเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่ในรอบ 15 ปี หวังช่วยลดการเสียชีวิตจาก PM2.5 ได้หลายล้านคนต่อปี
SDG Updates | พ.ร.บ. อากาศสะอาด หลักประกันให้คนไทยกลับมาสูดอากาศที่ดีต่อลมหายใจ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

เอกสารอ้างอิง
[1] PPTV. (2023, March 2). หมอเพจ “สู้ดิวะ” อัปเดตรักษามะเร็งปอด พ้อเวลาเหลือน้อยทุกที ห่วง PM2.5 กระทบเด็กรุ่นหลัง. Retrieved March 3, 2023, from PPTVHD36 website: https://www.pptvhd36.com/health/news/2918

[2] อติรุจ ดือเระ. (2565). คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติปรับลดค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในรอบ 12 ปี ใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานของ WHO มากขึ้น. Retrieved March 1, 2023, from SDG Move website: https://www.sdgmove.com/2022/05/26/pm2-5-air-pollution-neb-thailand/

[3] Fold, N. R., Allison, M. R., Wood, B. C., Thao, P. T. B., Bonnet, S., Garivait, S., … Pengjan, S. (2020). An Assessment of Annual Mortality Attributable to Ambient PM2.5 in Bangkok, Thailand. International Journal of Environmental Research and Public Health, 17(19), 7298. https://doi.org/10.3390/ijerph17197298

[4] ChooChuay, C., Pongpiachan, S., Tipmanee, D., Suttinun, O., Deelaman, W., Wang, Q., … Cao, J. (2020). Impacts of PM2.5 sources on variations in particulate chemical compounds in ambient air of Bangkok, Thailand. Atmospheric Pollution Research, 11(9), 1657–1667. https://doi.org/10.1016/j.apr.2020.06.030

[5] วิจิตรบุษบา มารมย์. (2562). การแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน: เมื่อการสร้างความตระหนักไม่เพียงพอ. Retrieved March 1, 2023, from SDG Move website: https://www.sdgmove.com/2019/10/11/bangkok-pm-2-5/

[6] Amnuaylojaroen, T., Inkom, J., Janta, R., & Surapipith, V. (2020). Long Range Transport of Southeast Asian PM2.5 Pollution to Northern Thailand during High Biomass Burning Episodes. Sustainability
, 12(23), 10049. https://doi.org/10.3390/su122310049

[7] Promsiri, P., Tekasakul, S., Thongyen, T., Suwattiga, P., Morris, J., Latif, M. T., … Dejchanchaiwong, R. (2023). Transboundary haze from peatland fires and local source-derived PM2.5 in Southern Thailand. Atmospheric Environment, 294, 119512. https://doi.org/10.1016/j.atmosenv.2022.119512

[8] WorkpointToday. (2565a). กทม.จัดทีม “นักสืบฝุ่น” ปฏิบัติการตามแผนลดฝุ่นพิษ. Retrieved March 3, 2023, from WorkpointTODAY website: https://workpointtoday.com/bkk-pm2-5-15/

[9] Thai PBS. (2566). 14 จังหวัด เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ ฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานติดต่อกัน 3 วัน. Thai PBS. Retrieved from https://www.thaipbs.or.th/news/content/324174

[10] คมชัดลึกออนไลน์. (2566). นวัตกรรมลดฝุ่น “PM2.5” ฟอกปอดให้คนล้านนา รับมือวิกฤตทางอากาศ. คมชัดลึกออนไลน์. Retrieved from https://www.komchadluek.net/news/society/541697

[11] วัชลาวลี คำบุญเรือง. (2564). เมื่อหมอกควัน PM2.5 เยือนห้องพิจารณาคดี: ถอดบทเรียนคำพิพากษาคดีฝุ่นพิษภาคเหนือ. Retrieved March 3, 2023, from https://themomentum.co/ruleoflaw-pm2-5/

[12] กรุงเทพธุรกิจ. (2565). “ฟ้องทะลุฝุ่น” ทวงคืน “อากาศสะอาด” สิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน. กรุงเทพธุรกิจ
. Retrieved from https://www.bangkokbiznews.com/social/995056

[13]  WorkpointToday. (2565b). เปิดสถิติ “มะเร็งปอด” ในเชียงใหม่-ภาคเหนือ สูงกว่าภาคอื่น. Retrieved March 3, 2023, from WorkpointTODAY website: https://workpointtoday.com/statistics-lung-cancer/

[14] SDG Move. (2564). พ.ร.บ. อากาศสะอาด หลักประกันให้คนไทยกลับมาสูดอากาศที่ดีต่อลมหายใจ. Retrieved March 3, 2023, from SDG Move website: https://www.sdgmove.com/2021/05/13/sdg-updates-thailandcan-clean-air-act-for-thai-people/ 

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น