ไฟไหม้ดอยช้าง ซ้ำเติมวิกฤติ PM2.5 ภาคเหนือ จนถึงตอนนี้ภาคส่วนต่าง ๆ เคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง?

ตั้งแต่คืนวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา เกิดไฟไหม้บริเวณจุดชมวิวและสุสานบนดอยช้างพื้นที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ล่าสุด GISTDA รายงานข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ว่าไทยพบจุดความร้อนมากที่สุด 5,572 จุด สูงสุดในรอบปี 5 ขณะที่เมียนมาสูงถึง 10,563 จุด ตามด้วย ลาว 9,652 จุด, กัมพูชา 1,342 จุด เวียดนาม 870 จุด และ มาเลเซีย 22 จุด

ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาจากเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนดังกล่าวคือฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มหนักขึ้น โดยข้อมูลจาก ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานหลายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ อุทัยธานี บึงกาฬ หนองคาย เลย อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู ชัยภูมิ และอุบลราชธานี เฉพาะพื้นที่ในภาคเหนือตรวจวัดได้ 37 – 550 มคก./ลบ.ม. และจากรายงานคุณภาพอากาศจากแอปพลิเคชัน IQAir ณ ช่วงเช้าของวันนี้ (28 มีนาคม 2566) พบว่าอำเมืองของจังหวัดเชียงราย ค่าฝุ่นอยู่ในระดับอันตรายอย่างมาก ที่ 531 AQI สูงกว่าค่ามาตรฐานหลายเท่าตัว 

วิกฤติฝุ่นที่ร้ายแรงหนักขึ้นและไม่มีทีท่าจะบรรเทาลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ภาคประชาชนซึ่งกังวลถึงผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่จึงรวมตัวกันเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน อาทิ เครือข่ายชาวอำเภอแม่สาย รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมเรียกร้องให้แก้ไขไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน โดยยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อ นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย ให้แก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวคือเจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน ผลักดันให้เป็นวาระของอาเซียน รวมถึงผลักดันให้ภาคเอกชนที่ไปส่งเสริมทำการเกษตรได้แก้ไขปัญหาเพื่อลดการเผาป่าจนเกิดเป็นฝุ่นละอองหนาแน่นดังกล่าวร่วมกัน นอกจากกลุ่มดังกล่าวยังมีการรับบริจาคอุปกรณ์ น้ำดื่ม ฯลฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าในพื้นที่อีกด้วย 

ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยกำลังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการระดมเจ้าหน้าที่กว่าพันนายใช้อุปกรณ์ดับไฟต่าง ๆ และเฮลิคอปเตอร์ขนน้ำเข้าไปดับไฟกว่าร้อยเที่ยวต่อวัน ทั้งขนน้ำและลำเลียงคน ที่สำคัญคือ มีการปิดอุทยานในพื้นที่แล้ว หากพบเห็นผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ จะดำเนินการจับกุมในทันที พร้อมระบุถึงข้อจำกัดเพิ่มเติมว่า “พื้นที่ป่าสงวนอีก 40% ภารกิจในการดับไฟป่าถูกถ่ายโอนจากกรมป่าไม้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่น กว่า 10 ปีแล้ว กรมป่าไม้จึงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะไม่มีทั้งงบประมาณและบุคลากรในการช่วยดับไฟป่า จึงต้องขอความร่วมมือไปทางจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดตั้งงบประมาณขึ้นมาดำเนินงานตามที่มีอำนาจหน้าที่ในส่วนของท้องถิ่นนั้น ส่วนพื้นที่เกษตรอีก 15% ต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล”

ขณะที่ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เดินทางไปประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สาย ชายแดนไทย-เมียนมา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง และหมอกควัน พร้อมระบุว่ากรณีมีการขอให้ทางจังหวัดได้ประสานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการเผาพื้นที่ทางการเกษตรนั้น คงต้องนำเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการเพราะถือเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้ว่าระดับจังหวัดจะมีความสัมพันธ์ต่อกัน แต่สภาพของปัญหาเกิดขึ้นในวงกว้าง และประเทศเพื่อนบ้านก็มีความหลากหลายของกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตนั้น ๆ 

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ การเปิดเผยสาเหตุและเสนอนโยบายจัดการปัญหาของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ระบุว่า ต้นตอของสาเหตุที่ทำให้ PM2.5 รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มาจากการเผา โดยเฉพาะการเผาเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม แต่เบื้องหลังของการเผาเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม คือธุรกิจการเกษตรที่ทำธุรกิจอย่างไม่รับผิดชอบ สาเหตุของการเผาทั้งหมดนี้ พิธาชี้ว่า เกิดจากประเทศไทย เรานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา ลาว กัมพูชา) เพิ่มขึ้นจากประมาณ 770 ล้านบาท ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 14,325 ล้านบาทในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 18 เท่า

และเสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า ประเทศไทยต้องมีกฎหมายให้ผู้มีส่วนในการสร้างหมอกควันพิษต้องรับผิดชอบทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง และประชาชนสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้หากพิสูจน์ได้ว่าบริษัทใดรับซื้อหรือมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษลอยเข้ามาในประเทศไทย หลักการเดียวกันกับ ‘กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน’ หรือ Transboundary Haze Pollution Act ของประเทศสิงคโปร์

นอกจากนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมเรื่องการรักษาพยาบาลดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งยา เวชภัณฑ์เพื่อดูแลเรื่องระบบทางเดินหายใจ โดยยอมรับว่าไม่ใช่วิกฤติหนักเพียงจังหวัดเชียงราย แต่เป็นทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามเนื่องจากอยู่ภายใต้รัฐบาลรักษาการ จึงเน้นมอบหมายภารกิจประจำให้ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอย่างเต็มที่ ตนเองพยายามหลีกเลี่ยงการสั่งการ การมอบนโยบาย แต่หากเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต่อประชาชนก็พร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับข้าราชการประจำอย่างเต็มที่ 

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามแก้ปัญหาวิกฤติฝุ่น PM2.5 ที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี มีความน่าสนใจว่าแม้หลายภาคส่วนจะแสดงท่าทีและเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาแล้วแต่ทำไมการจัดการฝุ่น PM2.5 จึงยังเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก และเป็นเรื่องเรื้อรังที่ไทยก้าวข้ามไม่พ้นมาหลายปี ซึ่งหากพิจารณาจาก “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “Sustainable Development Report (SDR)” โดย SDSN พบว่า เป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573 สถานะของไทยอยู่ในระดับท้าทายมาต่อเนื่องหลายปี 

วันนี้ ไฟไหม้ดอยช้างจึงเป็นเพียงโจทย์ใหม่ที่เข้ามาเป็นตัวแปรเติมให้วิกฤติฝุ่นร้ายแรงขึ้น แต่รากของปัญหาหรือฟืนที่สุมปัญหาให้คุกรุ่นมาตลอดอย่างการเผาเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเชื่อมโยงกับทุนใหญ่ธุรกิจด้านการเกษตร  นั่นคือโจทย์ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาจต้องหารือและทำงานอย่างประสานความร่วมมือกันมากขึ้น ก่อนที่ฝุ่นร้ายจะคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่านี้ 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติปรับลดค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในรอบ 12 ปี ใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานของ WHO มากขึ้น
– WHO ออกเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่ในรอบ 15 ปี หวังช่วยลดการเสียชีวิตจาก PM2.5 ได้หลายล้านคนต่อปี 
– การแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน : เมื่อการสร้างความตระหนักไม่เพียงพอ
– SDG Insights | ส่องเพื่อนบ้าน III : ฝุ่น PM2.5 ในเวียดนาม 
– SDG Updates | พ.ร.บ. อากาศสะอาด หลักประกันให้คนไทยกลับมาสูดอากาศที่ดีต่อลมหายใจ
ฝุ่น PM2.5 อีกภัยคุกคามก่อโรค ‘มะเร็งปอด’ หวั่นกระทบสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเชียงใหม่ครองค่าฝุ่นติดอันดับโลก
SDG Updates | สภาพความเป็นจริงที่รู้สึกได้ : ความแตกต่างในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคเหนือและภาคใต้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา:
วันที่ 27 มีนาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ในเฟสบุ๊ก พูดถึงสถานการณ์ฝุ่นและต้นต่อ (Environman) 
‘วราวุธ’ รับ PM 2.5 ปีนี้สาหัสกว่าปีก่อนมาก เผย ทส.กำลังระดมดับไฟในพื้นที่ป่าอยู่ ส่วนพื้นที่เกษตร วอนชาวบ้านให้ความร่วมมือ ระบุ อย่าให้ถึงขั้นต้องประกาศเคอร์ฟิว (The Reporter) 
ชาวแม่สาย รวมตัวร้องผ่านนายอำเภอ ขอรัฐแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดนวิกฤตสูงสุด (The Reporter) 
อนุทิน ยืนยัน กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อม ยา เวชภัณฑ์ ดูแลโรคทางเดินหายใจ หลัง PM 2.5 วิกฤตในหลายพื้นที่ (The Reporter)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย 

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น