WHO ออกเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่ในรอบ 15 ปี หวังช่วยลดการเสียชีวิตจาก PM2.5 ได้หลายล้านคนต่อปี

เมื่อวานนี้ (22 กันยายน 2021) องค์การอนามัยโลก(WHO) เผยแพร่ กณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศระดับโลก (Air Quality Guidelines – AQGs) ฉบับใหม่ ที่ได้กำหนดค่าแนะนำของคุณภาพอากาศใหม่ที่ปรับลดระดับมลพิษทางอากาศตัวสำคัญเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยเป็นการปรับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศครั้งแรกในรอบ 15 ปี ขององค์การอนามัยโลก

ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เป็นมลพิษที่มีขนาดเล็กที่สุดและยังเป็นอันตรายที่สุด ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้นก่อนให้เกิดการระคายเคืองตา จมูก ลำคอ เกิดการไปและการหายใจเสียงหวีด และด้วยขนาดที่เล็กมากเมื่อหายใจเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไป มลพิษเหล่านี้จะสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลในปี 2019 พบว่า มากกว่า 90% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 เกินค่าที่เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกกำหนด

เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศระดับโลกปี 2021 นี้ได้ปรับลดค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 จากเกณฑ์ในปี 2005 จาก 10 µg/m3 ลดลงเป็น 5 µg/m3 และยังปรับค่ามลพิษทางอากาศที่สำคัญอื่น ๆ อีก รวมทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) โอโซน (O3) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)

WHO_Air Pollution Slides_200921_CC Air Quality guidelines

ในแต่ละปี การรับสัมผัสมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลกถึง 7 ล้านคน หากรัฐบาลทุกประเทศใช้เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศฉบับปี 2021 นี้เพื่อกำหนดกฎระเบียบด้านคุณภาพอากาศทั้งภายนอกและภายในอาคารให้ได้ตามเกณฑ์ดังกล่าว องค์การอนามัยกล่าวว่า จะช่วยลดตัวเลขผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 ต่อปีลงได้เกือบ 80% หรือน้อยลงถึง 3.3 ล้านคน

มลพิษทางอากาศคุกคามสุขภาพควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการดำเนินการเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศต้องเป็นไปพร้อมกับความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่นี้ได้สะท้อนถึงข้อสรุปของรายงานทางวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศชิ้นสำคัญของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งเรียกร้องให้มีการลดการปล่อยมลพิษต่าง ๆ ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กและไนโตรเจนไดออกไซด์ให้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีส่วนทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้นและยังทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลงไปด้วย

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดในราคาที่จ่ายได้
- (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน
- (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่นๆ ภายในปี 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

ที่มา :
Millions of deaths could be avoided under new air quality guidelines, WHO says (CNN)

New WHO Global Air Quality Guidelines aim to save millions of lives from air pollution (WHO)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น