พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ประกาศเพิ่มบทบัญญัติ มาตรา 23/1 สนับสนุนสิทธิลูกจ้างในการทำงาน Work from Home

แม้จะเป็นการทำงานที่บ้านหรือที่ออฟฟิศ ก็ควรมีสิทธิได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เผย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ หรือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 เพื่อสนับสนุนการทำงานจากที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือ Work from Home โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ วันที่ 18 เมษายน 2566 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นการเปิดแนวทางให้ทางนายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงเวลาทำงาน พักผ่อน วันลา ซึ่งกันและกันให้ชัดเจน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สิทธิลูกจ้างปฏิเสธการติดต่อสื่อสารหลังเวลางานได้ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงานที่สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ลูกจ้างและองค์กรต่าง ๆ หันมาทำงานนอกสถานประกอบการมากขึ้น

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันที่รูปแบบการทำงานในองค์กรธุรกิจต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยมี ‘การทำงานจากที่พักอาศัยของลูกจ้าง’ หรือ ‘เวิร์กฟรอมโฮม’ (Work From Home) หรือจากสถานที่อื่น ๆ ซึ่งอยู่นอกสถานประกอบการของนายจ้างมากขึ้น ด้วยเหตุผลข้างต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและออก พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 โดยได้เพิ่มเติมบทบัญญัติที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้ได้ความคุ้มครอง เป็นประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง ตลอดจนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิง ซึ่งได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ หรือ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 เป็นต้นไป

สรุปสาระสำคัญของพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ได้แก่ 

  • พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) ได้เพิ่มบทบัญญัติ มาตรา 23/1 ให้นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงให้ลูกจ้างนำงานในทางการที่จ้าง ที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติงานนอกสถานประกอบการหรือนอกสำนักงานของนายจ้าง ไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือ ตกลงให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ ได้ 
  • การตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อาจตกลงให้มีรายละเอียด เช่น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา การลา ขอบเขตหน้าที่ของลูกจ้าง การกำกับควบคุมของนายจ้าง ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นที่มาจากการทำงานด้วย
  • โดยเมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่มีการตกลงกันแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าในทางใด ๆ กับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน

อย่างไรก็ดี การกำหนดกฎหมายไว้อย่างชัดเจน แม้จะเป็นการทำงานที่บ้านหรือสถานที่ใด ๆ ที่นอกเหนือจากสถานประกอบการก็จะสามารถช่วยให้ลูกจ้างได้รับสิทธิและอยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานอย่างครอบคลุมตามที่ควรจะได้รับ เช่นเดียวกับ ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการ พร้อมทั้งช่วยให้ลูกจ้างมีความยืดหยุ่นการทำงานมากยิ่งขึ้นภายใต้กรอบมาตรการการทำงานที่ชัดเจนและคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ที่ตนเองควรได้รับ

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
รายงานของ ILO ชี้ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ช่วยให้ความสมดุลระหว่างงานและชีวิตดีขึ้น
กรุงเทพฯ ติดอันดับ 3 เมืองที่ ‘คนทำงานมากเกินตัว’ และอันดับ 2 ที่คนมี ‘Work-Life Balance’ น้อยที่สุด 
WHO/ILO เตือน คนทำงานเกิน 55 ชม./สัปดาห์ เสี่ยงตายจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจขาดเลือด
งานหนักต้องไม่ฆ่าใคร: บริษัทญี่ปุ่นเริ่มปรับลดวันทำงานจาก 5 วันเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ 
SDG Updates | เทรนด์ของที่อยู่อาศัยหลัง COVID-19 เมื่อผู้คนต้องใช้เวลากับที่อยู่อาศัยมากขึ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย

แหล่งที่มา:
มีผลบังคับใช้ 18 เม.ย.นี้ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ สนับสนุน WFH –  workpointtoday
กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ หลังเวลา Work from Home ปฏิเสธติดต่อเรื่องงานได้ – thestandard
เผย กมธ.แก้ กม.คุ้มครองแรงงาน เห็นพ้อง ‘Work From Home’ มีสิทธิคุ้มครองเท่าเทียมกับที่ออฟฟิศ | ประชาไท Prachatai.com 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น