กรุงเทพฯ ติดอันดับ 3 เมืองที่ ‘คนทำงานมากเกินตัว’ และอันดับ 2 ที่คนมี ‘Work-Life Balance’ น้อยที่สุด

การสำรวจล่าสุด “Cities with the Best Work-Life Balance 2021” หรือ เมืองที่คนมีสมดุลการทำงาน-การใช้ชีวิตที่ดีที่สุด 2564 โดยบริษัท Kisi ที่ปรึกษาด้านการทำงาน เก็บข้อมูล-เปรียบเทียบ 50 เมืองในโลก และให้คะแนนปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็น ‘Work-Life Balance’ อาทิ ความเข้มข้นในการทำงาน สถาบันทางสังคมให้การสนับสนุน กฎระเบียบข้อบังคับ และที่สำคัญคือการที่เมืองนั้นสามารถ ‘เอื้ออำนวยสมดุลชีวิต’ ให้กับผู้อยู่อาศัย รวมถึงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วย ‘โอกาส’ ให้ผู้คนได้หายใจจาก ‘ความเครียดที่มาจากการทำงาน’

โดยให้ 100 คะแนนสำหรับเมืองที่ส่งเสริมวิถีชีวิตที่สมดุลมากที่สุดตั้งแต่ก่อนจะมีโควิด-19 และ 50 คะแนนสำหรับเมืองที่ผู้อาศัยมีวิถีชีวิตสมดุลน้อยที่สุด กล่าวคือ คนในเมืองนั้น ‘ทำงานมากเกินตัว’ (overwork) เต็มเวลาที่มากกว่า 48 ชั่วโมง/สัปดาห์ ทั้งที่มาตรฐานของสมดุลการทำงานอยู่ที่ 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ ตามการอธิบายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

> 10 เมืองอันดับแรกที่คนทำงานมากเกินตัว (เฉพาะคะแนนด้าน ‘overworked populations’) ได้แก่ 1) ฮ่องกง 2) สิงคโปร์ 3) กรุงเทพฯ 4) บัวโนสไอเรส, อาร์เจนตินา 5) โซล, เกาหลีใต้ 6) โตเกียว, ญี่ปุ่น 7) ฮิวสตัน, รัฐเทกซัส, สหรัฐฯ 8) กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย 9) คาลการี, รัฐแอลเบอร์ตา, แคนาดา และ 10) ลอนดอน, สหราชอาณาจักร

> ขณะที่คะแนนรวมจากทุกปัจจัยที่ใช้ประเมิน อาทิ การเยียวยาโควิด-19 ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหรือเห็นต่าง ความปลอดภัยของเมือง และคุณภาพอากาศ พบว่า 3 เมืองอันดับแรกที่คนมีสมดุลชีวิต-การทำงานที่ดีที่สุด ได้แก่ 1) เฮลซิงกิ, ฟินแลนด์ 2) ออสโล, นอร์เวย์ และ 3) ซูริค, สวิตเซอร์แลนด์ โดยสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 18 ส่วนฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 45 และกรุงเทพฯ ที่ 49 โดยกัวลาลัมเปอร์เป็นลำดับสุดท้ายที่ 50

10 เมืองอันดับแรกที่คนมีสมดุลชีวิต-การทำงานที่ดีที่สุด ได้แก่
1) เฮลซิงกิ, ฟินแลนด์ (100 คะแนน)
2) ออสโล, นอร์เวย์ (98.6 คะแนน)
3) ซูริค, สวิตเซอร์แลนด์ (91.5 คะแนน)
4) สตอกโฮล์ม, สวีเดน (91.4 คะแนน)
5) โคเปนฮาเกน, เดนมาร์ก (90.4 คะแนน)
6) ออตตาวา, แคนาดา (89.1 คะแนน)
7) มิวนิค, เยอรมัน (89.1 คะแนน)
8) แวนคูเวอร์, แคนาดา (87.8 คะแนน)
9) อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์ (87.6 คะแนน)
10) ซิดนีย์, ออสเตรเลีย (86.8 คะแนน)

อย่างไรก็ดี การสำรวจชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการจะฉายภาพว่าเมืองใดที่เหมาะแก่การทำงานมากที่สุด แต่ต้องการแสดงให้เห็นถึง ‘ความสามารถของเมือง’ ที่จะเอื้อให้ผู้คนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีได้จากการทำงานและสมดุลในการใช้ชีวิต ผ่าน 4 เสาปัจจัยที่ใช้ประเมิน ดังนี้

  1. ความเข้มข้นในการทำงาน (Work Intensity) – งานที่ทำระยะไกล (remote jobs), ประชากรทำงานหนักเกินตัว, จำนวนวันลาขั้นต่ำ, วันลาพักผ่อน, การว่างงาน, จำนวนงานที่คนหนึ่งคนทำ (multiple jobholders) เช่น รับงาน 2 จ็อบ เป็นต้น และสิทธิในการลาคลอด / เลี้ยงดูลูก
  2. สังคมและสถาบัน – การสนับสนุน/เยียวยาในช่วงโควิด-19, การสาธารณสุข, การเข้าถึงบริการรักษาความเจ็บป่วยทางใจ ความครอบคลุม (inclusivity) ชนกลุ่มน้อยและ LGBT+ และความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหรือเห็นต่าง (tolerance)
  3. ความน่าอยู่ของเมือง (city livability) – ความสามารถที่จะจับจ่ายค่ากินค่าอยู่ (affordability), ความสุข วัฒนธรรม และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในเมือง, ความปลอดภัยของเมือง, พื้นที่ให้ทำกิจกรรมข้างนอก, คุณภาพอากาศในเมือง และการออกกำลังกาย-สุขภาวะที่ดี และ
  4. ผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ มาตรการล็อคดาวน์ การสูญเสียทางเศรษฐกิจ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ หลักการความครอบคลุม (inclusiveness) และ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี – (3.4) สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี 2573 และ (3.8 ) การเข้าถึงบริการสาธารณสุข
#SDG5 ความเสมอภาคทางเพศ
#SDG8 เศรษฐกิจและงาน – (8.5) การจ้างงานที่ดี มีคุณค่า เท่าเทียม สำหรับคนทุกกลุ่ม และ (8.8 ) สิทธิแรงงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย
#SDG11 เมือง การตั้งถิ่นฐาน ที่อยู่อาศัย และการคมนาคม – (11.1) การเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย จ่ายได้ (11.2) ความปลอดภัยทางถนน (11.3) การพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม บูรณาการ ยั่งยืน (11.6) คุณภาพอากาศในเมือง และ (11.7) การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว – พื้นที่สาธารณะ – พื้นที่นันทนาการที่ปลอดภัย
#SDG16 สังคมที่สงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดรับชอบ ครอบคลุมทุกคน

แหล่งที่มา:
https://www.humanresourcesonline.net/most-overworked-cities-in-the-world-2021-hong-kong-singapore-and-bangkok-top-rankings
https://www.getkisi.com/work-life-balance-2021

Last Updated on มิถุนายน 2, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น