UNESCO รับรอง ‘โคราชจีโอพาร์ค’ เป็นอุทยานธรณีแห่งที่ 4 ของโลก

จากการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 (216th session of the Executive Board) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 24 พฤษภาคม ที่องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้มีมติรับรองให้ “โคราชจีโอพาร์ค” (KHORAT Geopark) เป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) ส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมา กลายเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 2 ของประเทศไทย เป็นเมืองที่ 4 ของโลกต่อจากประเทศอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ที่มีดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก (Triple Crown) ในจังหวัดเดียวกัน 

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ผศ. ดร.ประเทือง จินตสกุล ในฐานะผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากปี 2565  ยูเนสโก ได้มอบหมายให้ Dr.Marie Luise Frey ผู้ประเมินอาวุโสจากสหพันธรัฐเยอรมนี ร่วมกับ Ms.Sarah Gamble ผู้ประเมินจากประเทศแคนาดาและคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจประเมินภาคสนามจำนวน 17 แหล่งสำคัญ ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ของจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลและเก็บหลักฐานประกอบการรับรองอุทยานธรณีโคราชให้เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ซึ่งการประกาศรับรองจะช่วยผลักดันการท่องเที่ยวให้ก้าวไปข้างหน้าและกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

จีโอพาร์ค (Geopark) หรืออุทยานธรณี เป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ภูมิประเทศและแหล่งธรณีวิทยามีคุณค่าในระดับนานาชาติ รวมทั้งแหล่งธรรมชาติอื่นมีแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญสัมพันธ์กับแหล่งธรณีวิทยา และมีการบริหารจัดการแบบองค์รวม ทั้งในด้านการอนุรักษ์ การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการจากล่างสู่บน (bottom-up) เชื่อมโยงความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ทำให้จังหวัดนครราชสีมา เป็น Korat The UNESCO Triple Heritage City รวม 3 แห่ง ประกอบด้วย 1) มรดกโลก (World Heritage) ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 2) พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช  และ 3) โคราชจีโอพาร์ค (KHORAT Geopark)

ภาพ : Geotourism map of Khorat Geopark

โคราชจีโอพาร์ค (KHORAT Geopark) ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำภอต่อเนื่องกันในบริเวณลุ่มน้ำลำตะคองตอนกลางถึงตอนล่าง คือ อำเภอเมือง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีภูมิประเทศเขาเควสตา (เขารูปอีโต้) และฟอสซิล 3 ยุค ได้แก่ ยุคครีเทเชียส ยุคนีโอจีน และยุคควอเทอร์นารี ซึ่งมีความแตกต่างจากจีโอพาร์คโลกที่มีอยู่ 147 แห่งทั่วโลก คือ เป็นดินแดนแห่งเควสตาและ ฟอสซิล  (Cuesta & Fossil Land)

การประกาศรับรองดังกล่าว ยูเนสโกต้องการให้เกิดการอนุรักษ์บรรพชีวิตและธรณีวิทยา โดยให้ชุมชนมีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและพัฒนาก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวในเชิงธรณีวิทยาและเชิงวัฒนธรรม  เกิดการสร้างงานใหม่ มีการสร้างหลักสูตรการอบรมที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจีโอพาร์ค อาจกลายเป็นแหล่งรายได้เสริมใหม่ของชุมชน ผ่านการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ ขณะเดียวกัน ทรัพยากรทางธรณีวิทยาก็ได้รับ การปกป้องและอนุรักษ์ไปด้วยพร้อมกัน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
Brookings Report 2022 – ผู้นำท้องถิ่นใช้ SDGs ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเมือง 
ยูเนสโกประกาศ ‘การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ต้องเป็นองค์ประกอบหลักของระบบการศึกษาทุกระดับภายในปี 2568
UNESCO ให้คำมั่นจะทำแผนที่พื้นมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อย 80% ภายในปี 2573 จาก 20% ในปัจจุบัน
UNESCO สนับสนุนเงินคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและช่วยเหลือศิลปินในยูเครนให้สร้างสรรค์งานได้ต่อเนื่อง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.4) เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา: 
โคราชเฮ ! ยูเนสโกรับรอง ‘โคราชจีโอพาร์ค’ เป็น UNESCO Global Geopark แห่งที่ 4 ของโลก – มติชนออนไลน์
ยูเนสโกรับรอง “โคราชจีโอพาร์ค” เป็นอุทยานธรณีโลก | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส 
โคราชจีโอพาร์ค สู่จีโอพาร์คโลกยูเนสโก – โคราชจีโอพาร์ค
นายกฯ ยินดียูเนสโกรับรอง “โคราชจีโอพาร์ค” อุทยานธรณีโลก | INN News | LINE TODAY 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น