UNESCO ให้คำมั่นจะทำแผนที่พื้นมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อย 80% ภายในปี 2573 จาก 20% ในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 9 – 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ การประชุมสูงสุด “มหาสมุทรหนึ่งเดียว” หรือ One Ocean Summit โดยมีฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศความมุ่งมั่นว่า จะต้องทำแผนที่อย่างน้อย 80% ของพื้นมหาสมุทรหรือก้นทะเล (seabed) ให้ได้ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปัจจุบันซึ่งมีฐานอยู่ที่ 20% เท่านั้น ซึ่งยังเป็นจำนวนที่น้อยเกินไป แต่เราจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้ก็ด้วยหุ้นส่วนความร่วมมือของชุมชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรัฐสมาชิก 150 ประเทศของคณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Oceanographic Commission: IOC) และภาคเอกชน

ทั้งนี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่มากขึ้น เข้าใจมหาสมุทรมากขึ้น และสามารถปกป้องมหาสมุทรและปกป้องความเป็นอยู่ของประชากรโลกได้ดียิ่งขึ้น

การประชุมดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อระดมพลให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมกันดำเนินการอย่างเป็นรูปธรมในการลดผลกระทบทางลบที่มีต่อมหาสมุทร ยกระดับความมุ่งมั่นในประเด็นทางทะเลและมหาสมุทร โดยเน้นที่การปกป้องระบบนิเวศทางทะเล การทำประมงที่ยั่งยืน การต่อสู้กับมลพิษโดยเฉพาะพลาสติก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลทางทะเล (ocean governance)

ทำไมการทำแผนที่แสดงพื้นที่สูงต่ำและความลึกของพื้นมหาสมุทรจึงมีความสำคัญ? UNESCO อธิบายว่า การทำเช่นนั้นจะช่วยทำความเข้าใจพื้นที่ตั้งของรอยเลื่อนมหาสมุทร (ocean faults) เข้าใจการพัดพาของเชิงตะกอน รวมไปถึงกระแสน้ำ (currents) ในมหาสมุทรและกระแสน้ำขึ้นน้ำลง (tides) ว่ามีการทำงานอย่างไร โดยเราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ เพื่อปกป้องประชากรโลกในแง่การประเมินความเสี่ยงที่จะการเกิดสึนามิ การบ่งชี้ว่าพื้นที่ธรรมชาติใดที่จำเป็นต้องได้รับการปกป้อง พื้นที่ทรัพยากรทางทะเลใดควรจะต้องได้รับการอนุรักษ์ไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากการทำประมงที่ไม่ยั่งยืน การวางแผนสร้างโครงสร้างพื้นฐานนอกชายฝั่งที่สามารถตอบสนองต่ออุบัติภัยได้อย่างรวดเร็ว อาทิ น้ำมันรั่วในทะเล เครื่องบินตกในทะเล หรือเรือจมในทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ ทะเลและมหาสมุทรยังมีบทบาทสำคัญในการประเมินผลกระทบในอนาคตของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

อันที่จริง โครงการ Seabed 2030 programme โดยความร่วมมือของ Nippon Foundation ของญี่ปุ่น UNESCO ร่วมกับองค์กรอื่น ๆ  ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2560 โดยมีจุดหมายสำคัญของการทำแผนที่พื้นมหาสมุทรให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งในช่วงแรก การใช้เครื่องมือโซนาร์และการเก็บข้อมูลโดยส่งเสริมให้หลายรัฐแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพื้นมหาสมุทรใกล้กับชายฝั่งของตน ช่วยทำให้เห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม คือสามารถทำแผนที่ได้ 6% ทำให้โครงการนี้เป็นหนึ่งสลักสำคัญในการขับเคลื่อนข้อมูลและพัฒนาแผนที่ดังกล่าวต่อไป โดยปัจจุบัน สามารถทำแผนที่พื้นมหาสมุทรได้แล้ว 20%

UNESCO ชี้ว่า การได้มาซึ่งแผนที่นั้น จะทำได้ดียิ่งขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย เช่นที่ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2503 ได้ใช้เครื่องมือโซนาร์ซึ่งมีการพัฒนาเรื่อยมาเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการพัฒนาแผนปฏิบัติการอย่างจริงจังเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้ภายในปี 2573 จะต้องอาศัยองค์ประกอบเหล่านี้ร่วมด้วย

  • การใช้กองเรือ 50 ลำสำหรับการทำแผนที่พื้นมหาสมุทรเป็นการเฉพาะ
  • การใช้เรือไร้คนขับ (autonomous vessels) อย่างจริงจัง
  • การแลกเปลี่ยนข้อมูลแผนที่ของรัฐบาลและบรรษัทต่าง ๆ
  • การใช้งบประมาณสนับสนุนโครงการทำแผนที่นี้ โดยเฉลี่ยที่ 625 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2573

ภายในปี 2566 เราจะจัดตั้งเครื่องมือติดตามระดับโลกที่สามารถรายงานความคืบหน้ารายปีของการทำแผนที่และการระบุชี้ช่องว่างที่ยังมีอยู่ แผนที่พื้นมหาสมุทรจะเป็นหนึ่งในมรดกตกทอดที่สำคัญของทศวรรษแห่งสมุทรศาสตร์ (UN Decade of the Oceans)

– Vladimir Ryabinin นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ UNESCO และเลขานุการบริหารของ IOC

นอกจากนี้ ในการประชุม One Ocean Summit เลขาธิการสหประชาชาติ António Guterres ได้เน้นย้ำว่า วิกฤตการณ์ 3 อย่างที่โลกเผชิญ ทั้งสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ และมลพิษ ทำให้ “มหาสมุทรต้องแบกรับภาระเหล่านี้เป็นอย่างมาก” และมีอีกหลายสิ่งที่เราต้องทำเพื่อความยั่งยืนจากการใช้ประโยชน์ของทะเลและมหาสมุทร ทั้งการให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้สมุทรศาสตร์ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue economy) การส่งเสริมให้การขนส่งและโลจิสติกส์ทางทะเลช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ nature-based solutions เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนรอบชายฝั่งและการขจัดปัญหามลพิษทางทะเลที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์บนบก การสร้างพลังงานหมุนเวียนนอกชายฝั่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย UNCLOS

จับตากิจกรรมต่อไป: UN Ocean Conference ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2565 กับบทบาทของทะเลและมหาสมุทรในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | ท่ามกลางคราบน้ำมัน และ Climate Change: ทะเลและมหาสมุทรยังเป็นความหวังใหม่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทะเลและมหาสมุทร
-(14.a) เพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเลของคณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาล (IOC) เพื่อจะพัฒนาคุณภาพของมหาสมุทรและเพิ่มพูนให้ความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็กและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
-(14.c) เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการให้เกิดผลตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่สะท้อนใน UNCLOS ซึ่งเป็นกรอบทางกฎหมายสำหรับการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 158 ของเอกสาร The Future We Want
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
World must ‘change track’ to protect oceans from climate crisis: Guterres (UN News)
One Ocean Summit: UNESCO pledges to have at least 80% of the seabed mapped by 2030 (UNESCO)
One Ocean Summit (IISD)
Nearly a fifth of world’s ocean floor now mapped in Seabed 2030 Project (oceanographic)

Last Updated on กุมภาพันธ์ 15, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น