กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่าร้อยละ 40 ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง 1.8 ล้านคน ต้องเผชิญปัญหาชีวิตรอบด้าน จำเป็นต้องมีระบบคุ้มครองเด็ก และมาตรการให้พ่อแม่นักเรียนยากจนพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งหากพบเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงได้รับอันตราย สามารถแจ้งเหตุได้ผ่านไลน์ OA “ESS Help Me” ตลอด 24 ชั่วโมงในทุกจังหวัดของประเทศ
กสศ. ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ พัฒนาระบบดังกล่าวขึ้น เพื่อชี้เป้า เฝ้าระวัง ป้องกันเหตุฉุกเฉินทางสังคมแก่เด็กและเยาวชนตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศโดยมีทีมสหวิชาชีพร่วมดูแล ขณะที่ในระบบโรงเรียน คุณครูสามารถใช้ ระบบ OBEC for Care เพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการเป็นรายบุคคล
จากการทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. และ 6 หน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษาตลอด 5 ปีที่ผ่าน พบว่าสถานการณ์ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง 1.8 ล้านคน หรือ กว่าร้อยละ 40 ของนักเรียนผู้รับทุนเสมอภาคและทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกันจึงต้องอาศัยอยู่กับ ญาติ ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน หรือผู้พิการ
ดังนั้น การจัดสรรทุนเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนที่ครัวเรือนมีความเปราะบางแต่เพียงลำพังจึงไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งหมด จำเป็นต้องสำรวจ ดูแลนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การบูรณาการความช่วยเหลือ ด้านสวัสดิการ และทรัพยากรจากชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านสุขภาพ สังคม และครอบครัว สำหรับเข้ามาดูแลเด็กเเละเยาวชนและครัวเรือนเปราะบางแก่นักเรียนทุนที่ประสบวิกฤตปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่าเรื่องความยากจนและต้องการความช่วยเหลือในหลายมิติอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ จากการวิจัยของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา 848 กรณี พบว่า เด็กในกลุ่มวิกฤตการศึกษาจำนวนร้อยละ 73 มีปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่า 1 ปัญหา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกายจิตใจ สวัสดิภาพความปลอดภัย ซึ่งครัวเรือนเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง ไม่เห็นโอกาสที่จะหลุดพ้นจากวิกฤติทาการเงิน การว่างงาน ซึ่งเป็นผลพวงส่งผลกระทบไปยังทัศนคติทางการศึกษาของบุตรหลาน โดยยึดโยงทุกมิติ ทั้งด้านความยากจน คุณภาพและสภาพแวดล้อมของเด็ก เช่น การพนัน ยาเสพติด การใช้ความรุนแรง ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อความเสี่ยงด้านพฤติกรรมและการศึกษาของเด็กทั้งสิ้น
จากปัญหาดังกล่าว กสศ. จึงได้กำหนดมาตรการเชิงรุกในสองส่วน คือ
- หนึ่ง พัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมเพื่อเด็กและเยาวชน โดยเชื่อมโยงทุกหน่วยงานในระดับชุมชน ท้องถิ่น ให้ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้อง ดูแล คุ้มครอง เด็กและเยาวชนในทุกมิติ ทั้งสุขภาพกาย ใจ ครอบครัว สังคมและการศึกษา โดยเฉพาะจากสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพความปลอดภัย ซึ่งส่วนกลางต้องสนับสนุนให้กลไกพื้นที่เข้มแข็ง
- สอง มีมาตรการให้พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจนสามารถยืนหยัดขึ้นมาพึ่งพาตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวแต่ไม่สามารถแก้ปมปัญหาที่แท้จริงได้
การแก้ปัญหาทางด้านการศึกษาไม่ได้เป็นเรื่องของการสนับสนุนเงินทุนแต่เพียงเท่านั้น แต่ควรมีการสนับสนุนดูแลควบคู่ไปกับความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กเหล่านั้นทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางด้านการศึกษาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นแก่เด็กและเยาวชนทุกคน แม้จะอยู่ในกลุ่มเปราะบางก็ตาม
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– UN และพันธมิตรเปิดตัวแคมเปญ #LetMeLearn ก่อนการประชุมสุดยอดด้านการศึกษา – หลังพบว่าเด็ก 260 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือ
– ยูเนสโกประกาศ ‘การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ต้องเป็นองค์ประกอบหลักของระบบการศึกษาทุกระดับภายในปี 2568
– ผู้นำโลกทุ่มเงินบริจาคกว่า 826 ล้านดอลลาร์ฯ แก่ ‘กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน’ – เพื่อช่วยเหลือเด็กทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่ยืดเยื้อ
– สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอนและรวันดา ทุ่มงบประมาณพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ หวังผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้น เพิ่มการเข้าถึงแก่ทุกคน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573
– (4.5) ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
แหล่งที่มา: กสศ. ชี้ ช่วยเด็กให้พ้นภาวะวิกฤตการศึกษา ทิ้งปมครอบครัวไม่ได้ – eef
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย