SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 5 ประจำเดือนมกราคม 2567

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  29 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน จากกรณีนักเรียน ชั้น ม.2 ก่อเหตุทำร้ายเพื่อนจนเสียชีวิต โดยย้ำถึงรากฐานของความรุนแรง ว่าเกิดจากสภาพสังคมและครอบครัวที่เปลี่ยนไป ระบบการศึกษาบีบให้คัดเด็กบางส่วนหล่นหายไปจากระบบ รวมถึงชุมชน และสถาบันครอบครัวที่เป็นปัจเจกมากขึ้น อาจทำให้หลงลืมและกีดกันเด็กบางส่วนออกไปจากสังคมจนเกิดเป็นความรุนแรงในที่สุด 

จากข้อมูลสถิติในปี 2561 สำรวจสถานการณ์การใช้ความรุนแรงของเด็กอายุ 13 – 15 ปี ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอันดับว่ามีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และงานวิจัยในไทยอย่างการศึกษาเรื่อง ‘ต้นทุนชีวิต’ ของเด็ก จากการเก็บข้อมูลเด็ก เยาวชนอายุ 12 ปี ระหว่างปี 2552 – 2564 ที่สำรวจความรู้สึกของเด็กผ่านตัวชี้วัด 5 มิติ รอบตัว ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน เพื่อน และตัวเอง ซึ่งพบข้อสังเกตว่า เด็กไทยเริ่มอยู่ในภาวะวิกฤตตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ทั้งตัวชี้วัด 5 มิติพบว่าเด็กมีความสุขลดน้อยลงต่อเนื่องทุกปี งานวิจัยนี้เป็นเหมือนเสียงสะท้อนว่าวิกฤตทางสุขภาพจิตของเด็กไทย

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน  SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี พ.ศ. 2573 และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก

เข้าถึงได้ที่ : วิจัยชี้ เด็กไทย ‘ความสุข’ ลดลงทุกปี – ภาคกลางวิกฤตหนัก – The Active 

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เผยการเปลี่ยนวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) เป็นวิธีการเก็บเซลล์เยื่อบุปากมดลูกออกมาตรวจ มาเป็นชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองในระดับดีเอ็นเอ HPV self-sampling ช่วยเพิ่มความสะดวกและลดความเขินอายของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเดิมการเข้าตรวจที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน มักจะมีปัญหากลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้หญิง มีความเขินอายเจ้าหน้าที่ ประกอบกับส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร แต่เวลาคัดกรองคือเวลาราชการ ทำให้มีว่างไม่ตรงกัน

ภายหลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปลี่ยนมาใช้ชุดตรวจ HPV self-sampling  จึงทำให้รับการตรวจได้มากขึ้นจนสามารถตรวจได้ครบ 100% ในพื้นที่ที่โรงพยาบาลรับผิดชอบ เพราะในแต่ละหมู่บ้านมี อสม. 1 คนจะรับผิดชอบ 10 หลังคาเรือน เมื่อได้รับกลุ่มเป้าหมายแล้ว อสม.  เข้าไปอธิบายเบื้องต้นให้รับทราบถึงประโยชน์ของการตรวจคัดกรอง จึงทำให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้ารับการตรวจอย่างทั่วถึง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

เข้าถึงได้ที่ : รพ.แจ้ห่มชี้ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองปัจจัยหลักเอื้อให้คัดกรองกลุ่มเป้าหมายได้ครบ 100% – ประชาไท 

ผู้นำในอุตสาหกรรมด้านสาธารณสุขในที่ประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันหารือเกี่ยวกับความสำคัญของการวางแผนรับมือโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก ที่เรียกว่า “โรคเอ็กซ์” (Desease X) เนื่องจากก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำเตือนว่า การเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่นที่เห็นระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ระบบสาธารณสุขอาจไม่สามารถรองรับปัญหาได้ ทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่าราวล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี ชื่อดังกล่าวเป็นเพียงชื่อเรียกสมมติโดยองค์การอนามัยโลก เพื่ออ้างถึงสภาวะการติดเชื้อที่ยังไม่สามารถทราบได้ในขณะนี้ แต่ยังสามารถเป็นต้นเหตุของโรคระบาด หรือ หากเกิดการแพร่ระบาดในหลายประเทศหรือหลายทวีป ก็จะกลายเป็นการระบาดใหญ่ได้ ศัพท์นี้ถูกคิดค้นขึ้นมาก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นหนึ่งในบัญชีโรคที่เฝ้าระวัง (priority disease) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นแผนและแนวทางการทำวิจัยและพัฒนา (R&D Blueprint) ประกอบด้วย แผนการเตรียมความพร้อมที่จะช่วยให้กระบวนการวิจัยและพัฒนาเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในระหว่างที่เกิดโรคระบาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งขั้นตอน เพื่อมีความพร้อมสำหรับการทดสอบที่มีประสิทธิภาพ วัคซีน และเวชภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยชีวิต และหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤตขนาดใหญ่

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

เข้าถึงได้ที่ : อะไรคือ โรคเอ็กซ์ ต้องเตรียมรับมือโรคระบาดใหม่อย่างไร – BBC News ไทย 

สภาล่างฝรั่งเศสลงมติเห็นชอบให้บรรจุสิทธิทำแท้งไว้ในรัฐธรรมนูญ หากสามารถผ่านกฎหมายนี้ได้ ฝรั่งเศสจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ ‘การทำแท้ง’ เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การลงมตินี้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 เป็นผลจากการผลักดันของรัฐบาลประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ที่ต้องการให้มาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดเสรีภาพสตรี ครอบคลุมถึงการทำแท้งด้วย

โดยรัฐบาลมาครงให้เหตุผลที่เสนอกฎหมายนี้ว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่ศาลสูงสุดมีคำวินิจฉัยในปี 2565 ยกเลิกกฎหมายรับรองสิทธิการทำแท้งที่ใช้มานานกว่า 50 ปี ซึ่งมาจากผลของคำวินิจฉัยในคดี ‘โรกับเวด’ (Roe v. Wade) ในปี 2516 ซึ่งตอนต้นของข้อเสนอระบุว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาไม่ได้แยกออกจากประเทศอื่น ๆ แม้แต่ในยุโรป ตอนนี้มีความเห็นมากมายที่พยายามจะขัดขวางเสรีภาพในการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิง

จากการลงมติผล 493 ต่อ 30 คะแนนในสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ รัฐบาลยังต้องการเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภา แม้ว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสไม่คัดค้านสิทธิการทำแท้ง แต่สมาชิกวุฒิสภาในกลุ่มอนุรักษนิยมจะวิจารณ์ถ้อยคำในข้อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ยังไม่มั่นใจว่าจะผ่านไปอย่างราบรื่น เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา จากนั้นต้องผ่านการลงประชามติ หรือผ่านการลงมติด้วยคะแนน 3 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.1 ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิดมีชีพ 1 แสนคน และ 3.7 สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ และ SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.6 สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า

เข้าถึงได้ที่ : ฝรั่งเศสเตรียมเป็นชาติแรกในโลกที่ ‘สิทธิการทำแท้ง’ ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ – Thairath plus

มุสลิมโรฮิงญาที่ยังเหลืออยู่ในพม่ากับชาวพุทธ (กลุ่มชาติพันธุ์อาระกัน) ชาวพุทธยะไข่ เริ่มมีสันติภาพหลังจากพลังคนหนุ่มสาว และความเข้มแข็งของกองทัพอาระกัน (Arakan Army: AA) โดยมีจุดเริ่มต้นจากที่คนพุทธต้องการให้เด็กไปโรงเรียน ทำให้มุสลิมโรฮิงญาที่ยังเหลืออยู่ได้เข้าเรียนหนังสือหลังจาก 10 ปีที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียน ส่งผลให้มุสลิมโรฮิงญาจึงมีเสรีมากขึ้น รวมถึงต่างฝ่ายอดทนอดกลั้นมากขึ้น เผยนโยบาย Arakan Dream เอกภาพในความหลากหลายที่ต้องรวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน ขณะที่ โจทย์ใหญ่เรื่องการรับผู้ลี้ภัยกลับมายังไม่มีใครอยากพูดถึง อนาคตโรฮิงญาหาก AA เอาชนะทหารพม่าได้ ซึ่งไม่มีคำตอบชัดเจน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG4 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.1 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และไม่มีค่าใช้จ่าย และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก

เข้าถึงได้ที่ : มุสลิมโรฮิงญา-ชาวพุทธยะไข่ เริ่มมีสันติภาพจากพลังคนหนุ่มสาวและความเข้มแข็งของกองทัพอาระกัน – ประชาไท

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ครบรอบ 3 ปี  ของรัฐประหารเมียนมา ซึ่งสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมียนมานั้นยังเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ จากแหล่งข่าวยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 554 ราย ตั้งแต่เดือนตุลาคม ขณะที่ จำนวนพลเรือนที่ถูกสังหารโดยทหารเพิ่มขึ้นกว่า 1,600 ราย ในปี 2566  เพิ่มขึ้น 300 รายจากปีก่อนหน้า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยรวมแล้วมีผู้ถูกจับกุมเกือบ 26,000 คนด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ 19,973 คน ยังถูกควบคุมตัว โดยมีรายงานว่าบางรายถูกทรมานและทารุณกรรม และไม่มีความหวังที่จะได้รับการไต่สวนอย่างยุติธรรม 

ขณะเดียวกัน 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตในขณะถูกควบคุมตัวโดยทหารประมาณ 1,576 ราย ด้วยเหตุนี้  Volker Türk ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จึงเรียกร้องให้รัฐสมาชิกใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขวิกฤติ รวมถึงพิจารณากำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อกองทัพเพิ่มเติม เพื่อจำกัดความสามารถในการกระทำการละเมิดอย่างร้ายแรงและเพิกเฉยต่อกฎหมายระหว่างประเทศ จำกัดการเข้าถึงอาวุธ น้ำมันเครื่องบิน และเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ เรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มเงินทุนจำนวน 500 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 17,760 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก และ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : Myanmar demands greater focus urges UN rights chief, three years after coup –  UN News

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น