SDG Updates | สรุปสาระสำคัญจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของประเทศไทย พ.ศ. 2566

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นวาระระดับโลกที่หลายฝ่ายต่างดำเนินการร่วมกัน มาเป็นระยะเวลากว่า 8 ปี นับตั้งแต่องค์การสหประชาชาติและ 193 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ให้การรับรองไว้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 และมีหมุดหมายกำหนดว่าจะสามารถดำเนินการสำเร็จลุล่วงได้ ภายในปี พ.ศ. 2573 แต่การดำเนินการยังคงไม่เป็นไปตามแผน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ทางองค์การสหประชาชาติ จึงได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2564 เป็นจุดเริ่มต้นของศตวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action พ.ศ 2564 – 2573) เพื่อเร่งให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม จึงต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างพลังวิชาการ พลังสังคม และพลังนโยบาย เพื่อช่วยผลักดันในการประสานการมีส่วนร่วมของทุกระดับ

นำมาสู่การเกิดกระบวนการของ “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของประเทศไทย พ.ศ. 2566” (Thailand Sustainable Development Forum (TSDF) 2023) ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยการสะท้อนความคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการเชื่อมโยง SDGs ผ่านมุมมองของผู้คนในพื้นที่ บอกเล่าผ่านประสบการณ์จริง ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และตามบริบทของพื้นที่ โดยเข้าไปช่วยเน้นย้ำเเละสร้างความเข้าใจว่าการดำเนินงานระดับพื้นที่เป็นจุดเล็กที่สำคัญในการผนึกกำลังร่วมกันนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และชัดเจนยิ่งขึ้นซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องอาศัยพื้นที่มาเป็นรากฐานสำคัญในการพาไปสู่เป้าหมาย

เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญดังกล่าว สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานผู้สนับสนุนทุน จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมจัด เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2566 (Thailand Sustainable Development Forum 2023) ณ โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ตัวแทนจาก 5 พื้นที่ จากกระบวนการถอดบทเรียน “พื้นที่เรียนรู้ SDG รุ่นที่ 1” มาสร้างความรู้ ความเข้าใจ พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองตามบริบทของแต่ละพื้นที่ พร้อมรับฟังเสวนาสาธารณะจากนักวิชาการสำคัญที่มาให้ข้อเสนอแนะที่หลากหลายมุมมองที่จะนำไปสู่การก้าวผ่านการดำเนินงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

โดยมีวิทยากร 4 ท่าน ประกอบด้วย

  • ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ประธานคณะที่ปรึกษาเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ ประธานคณะที่ปรึกษาเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 17 – 18 
  • คุณสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ 
  • คุณชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 – 16

SDG Updates ฉบับนี้ ชวนทุกท่านสำรวจประเด็นสำคัญจากวงเสวนาฯ เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วน ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่หนึ่ง เป็นการบอกเล่าวัตถุประสงค์ของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ ช่วงที่สอง เป็นปาฐกถาพิเศษ: ขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG Localization) ซึ่งจะช่วยชี้ให้เห็นถึงลักษณะของการฟอก และสภาพการณ์ในปัจจุบัน SDGs เเละ ช่วงที่สาม เป็นการเปิดตัว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย: มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2566” และ “หนังสือเรื่องราวพื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1”  พร้อมอภิปรายปัจจัยในการสร้างความยั่งยืนของพื้นที่ ผ่านกรอบ “INSIGHT” เพื่อไขความเข้าใจว่าการที่ชุมชนยั่งยืนได้นั้นต้องอาศัยปัจจัยใดเป็นสำคัญ


Section 1: วัตถุประสงค์ของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ

01 – ทบทวนมุมมอง ‘วัตถุประสงค์’ ของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ประธานคณะที่ปรึกษาเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวเน้นย้ำในช่วงเริ่มต้นของงานว่าความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ไม่อาจแยกทั้งสามสิ่งนี้ออกจากกันได้ เช่นเดียวกับการพัฒนาด้านสุขภาพที่ไม่อาจแยกการพัฒนากายหรือสุขภาพจิตออกจากกันได้ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดสุขภาวะทางสังคมที่แข็งแรง ผ่านการเชื่อมโยงของทุกภาคส่วนทั้งจากชุมชน 5 พื้นที่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันสร้างความเชื่อมโยงของทุกภาคส่วนในสังคมในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านบริบทพื้นที่

ขณะที่ ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ ประธานคณะที่ปรึกษาเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 17 – 18  ได้กล่าวต่อว่าความสำคัญของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของประเทศไทย พ.ศ. 2566 ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะเป็นแนวปฏิบัติที่จะส่งไม้ต่อในปีถัดไป (พ.ศ. 2567) เนื่องจากการขับเคลื่อน SDGs ระดับพื้นที่ หรือ “SDG Localization” รุ่นที่ 1 นั้น ได้ฉายให้เห็นว่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศนั้นแข็งแกร่ง พร้อมตั้งรับต่อความท้าทายใหม่ ๆ 

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 เป้าหมาย ถือเป็นเวลากว่า 8 ปี ที่ทั่วโลกต่างเกิดการรับรู้รับทราบการดำเนินการเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ยังขาดคือการขับเคลื่อนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมโยงในมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ล้วนมีผลกระทบที่เชื่อมโยงกันอย่างเลี่ยงไม่พ้น 

ดังนั้น ดร.สัมพันธ์ จึงได้ขยายความถึงความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้น ผ่านประเด็นภาวะโลกร้อน โดยกล่าวว่าภายใน 70 ปี อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส ซึ่งคนรุ่นหลังจะอยู่อย่างไรด้วยสภาพอากาศโลกเช่นนี้ เพื่อชีวิตของคนรุ่นหลัง เราต้องนำจุดเเข็ง นั่นก็คือพื้นที่ที่แข็งแรงอยู่แล้วมาผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำเร็จบนโลกใบนี้มีปัจจัยสำคัญมาจาก “ความแข็งแรง” กล่าวคือ ต้องเกิดความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง การทำโครงการแล้วล้มเลิกหรือหยุดไป อาจทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่อง เช่นนั้น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นหัวเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศมาอย่างยาวนาน จะทำหน้าที่รวบรวมความสำเร็จจากจุดเล็ก ๆ ของทั่วทุกพื้นที่มาช่วยขยายผล สร้างเกราะแห่งความแข็งแรงและมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด 

ตอนท้าย ดร.สัมพันธ์ ได้ระบุว่าสิ่งที่สำคัญสุดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือสิ่งที่จะทำให้การต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้จะเกิดความยั่งยืนได้ เราจะต้องเตรียมพร้อมองค์ความรู้ให้แก่คนทุกวัย จึงถือโอกาสนี้ให้คำสัญญาอีกครั้งหนึ่งว่าสมัชชาสุขภาพ จะร่วมขับเน้นการดำเนินงานอย่างเฉพาะจุด มองเรื่องของคน ความยั่งยืน และการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดผลลัพธ์ที่สูงขึ้น


Section 2: ปาฐกถาพิเศษ

02 – เสวนาแลกเปลี่ยนความคิดผ่าน “ปาฐกถาพิเศษ: ขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG Localization)”

เมื่อทราบถึงความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเบื้องต้นแล้ว ต่อมาจึงเป็นการฉายภาพความเชื่อมโยงของการขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ หรือ SDG Localization ซึ่งเป็นปาฐกถาพิเศษ โดย คุณสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ นำเสนอมุมมองว่าเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องของทุกคน เพราะชีวิตของทุกคนนั้นล้วนเกี่ยวเนื่องกับเป้าประสงค์เหล่านี้ทั้งสิ้น ทั้งสังคม สภาพแวดล้อมที่มุ่งรักษา ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เพียงเป็นเรื่องเฉพาะของคนรุ่นเราที่ต้องทำเท่านั้น แต่เราต้องทำเพื่อคนรุ่นหลังด้วย ฉะนั้นคำว่า “เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในที่สุดแล้วจึงเป็นเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่เพียงเรื่องของรัฐบาลหรือหน่วยงานใด เพราะท้ายที่สุดแล้วการขับเคลื่อนของรัฐบาลอาจจะสู้การขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคมและชุมชนในพื้นที่ไม่ได้เลย ฉะนั้น จึงอยากให้พื้นที่เป็นกำลังสำคัญในการผนึกรวมเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

หากกล่าวถึงที่มาที่ไปว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นเป็นมาอย่างไร คุณสีหศักดิ์ ชวนย้อนทบทวนในฐานะนักการทูตว่า แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น อาจมีแนวทางความเป็นมาจาก 2 แนวทางหลัก คือ 

หนึ่ง เป็นแนวคิดที่มาจากเรื่องความมั่นคง ย้อนกลับไปในยุคก่อน เรามักมองความมั่นคงของประเทศ เป็นเรื่องของรัฐ และต่อมามองว่าภัยคุกคาม คือเรื่องของการทหารและสงคราม แต่ในปัจจุบันแนวคิดเรื่องความมั่นคงเปลี่ยนแปลงไป เพราะเริ่มหันมามุ่งเน้น ‘ความมั่นคงของมนุษย์’ มากยิ่งขึ้น ด้วยรูปแบบของภัยต่อความมั่นคงที่มีรูปแบบใหม่แตกต่างจากเดิมในอดีต ตัวอย่างเช่น ภัยต่อความมั่นคงที่ไร้พรมแดน เช่น โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงภูมิสภาพอากาศ ภัยพิบัติ และกระบวนการค้ามนุษย์ ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นความสำคัญของความมั่นคงมนุษย์มากยิ่งขึ้น

ขณะที่ แนวคิดที่ สอง แนวคิดนี้พิจารณาการพัฒนาการด้วยตัวเลขหรือตัวชี้วัด ซึ่งที่ผ่านมาเรามักวัดการพัฒนาเศรษฐกิจกันที่ตัวเลข ซึ่งการพัฒนาที่แท้จริงแล้วควรมองถึง ‘คุณภาพชีวิต’ ของผู้คนเป็นสำคัญ ฉะนั้นเราต้องหันกลับมามองการพัฒนาในมุมมองอื่น ๆ อย่างรอบด้านทั้งการพัฒนามนุษย์และความสุขในการดำรงชีวิต 

ดังนั้น จากทั้งสองแนวทางได้มีการถกแถลงกัน (debate) กันมาโดยตลอดทั้งในระดับรัฐบาล ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน จนนำมาสู่ปลายทางสำคัญที่ได้ประกาศให้ทุกคนได้รับรู้รับทราบ นั่นก็คือ เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 เป้าหมาย ซึ่งทุกข้อนั้นล้วนมีความเกี่ยวโยงกันและครอบคลุมทุกด้านรวมถึงเรื่องการพัฒนาของมนุษย์และความมั่นคงของมนุษย์ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 1 การขจัดความยากจน SDG 2 การยุติความหิวโหย และ SDG 8 การสร้างงานที่มีคุณค่า และ ด้านของสังคม จะสอดคล้องกับ SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ SDG 5 ความเสมอภาคระหว่างเพศ SDG 10 การลดความเหลื่อมล้ำ และสำหรับมิติที่สำคัญอย่างมาก ณ ตอนนี้ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม จะสอดคล้องกับ SDG 13 การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ SDG 14 ระบบนิเวศทางทะเล และ SDG 15 การอนุรักษ์ระบบนิเวศบนบก เป็นต้น 

นอกจากนี้ ประเด็นที่ คุณสีหศักดิ์ อยากชวนมองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าในแต่ละข้อนั้นไม่สามารถแยกออกจากกันได้หรือมองแบบไซโล (silo) เพราะทั้ง 17 เป้าหมายมีความเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หมายความว่า การดำเนินงานจะต้องมีความคืบหน้าทั้ง 17 เป้าหมายควบคู่กันไป ตัวอย่างเช่น เรื่องการศึกษานั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน ขณะที่เรื่องสุขภาพก็เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้นจึงอยากชวนมองเป้าหมายเหล่านี้ในลักษณะที่เชื่อมโยงกัน  

อย่างไรก็ดี เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 8 ปี ซึ่งนับว่ามาถึงครึ่งทางแล้ว นับตั้งแต่ได้รับการรับรอง ซึ่งตามกำหนดเราจะต้องบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573  แต่จากการประเมินและการรายงาน การปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นดำเนินการถึงได้เพียง 15 -18 % เท่านั้น ทั้งที่เวลาผ่านมาถึงครึ่งทางแล้ว และโดยเฉพาะเมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นยิ่งทำให้การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายเป้าหมายไม่อาจคืบหน้าได้ หรืออาจถอยหลังไป จึงนำมาสู่คำถามว่าเราทุกคนจะทำอย่างไรต่อไป 

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จึงมีการจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ SGD Summit 2023 ในวันที่ 18-19 กันยายน 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นการจัดประชุมพิเศษ หรือที่เรียกว่า “การประชุมสุดยอดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่ง คุณสีหศักดิ์ มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการประชุมดังกล่าว มีประเด็นสำคัญ คือการมุ่งเน้นว่าเราจะกอบกู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร จะระดมความร่วมมือระหว่างประเทศหรือการทำงานของทุกภาคส่วนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งทุกคนต่างยืนยันว่าเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายมีความสำคัญอย่างมากและยังยืนยันว่าจะมีการดำเนินการอย่างเต็มที่ 

คุณสีหศักดิ์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่อาจแน่ใจได้ว่าสิ่งที่สัญญาไว้นั้น จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าศักยภาพของแต่ละประเทศที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นไม่เท่าเทียมกัน เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศมีศักยภาพสูง แต่สำหรับประเทศยากจนหรือประเทศที่ด้อยพัฒนาอาจมีข้อจำกัด ดังนั้น คำว่า “Partnership” จึงมีความหมายสำคัญมากในความร่วมมือระหว่างประเทศ เพราะประเทศที่มีศักยภาพมากกว่าจะได้เข้ามาช่วยเหลือประเทศที่มีศักยภาพน้อยกว่า 

นอกจากเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ ‘การทำงานของทุกภาค’ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการหารือร่วมกันของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ว่าเราจะระดมกำลังของทุกภาคส่วนได้อย่างไร เพราะในที่สุดเรื่องนี้จะเป็นแค่เป้าหมายในเชิงนโยบายของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวไม่ได้? 

ดังนั้นคำว่า “Localization” จึงถูกหยิบยกขึ้นมา เพราะมีความสำคัญต่อการนำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่  และด้วยในแต่ละพื้นที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน ตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่ว่า “There is no one-size-fits-all” กล่าวคือสูตรสำเร็จเดียวไม่สามารถเหมาะสำหรับทุกพื้นที่ ฉะนั้นการปฏิบัติแต่ละพื้นที่ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ไปพร้อมกับการฟังเสียงของคนในพื้นที่

สำหรับประเทศไทยนั้นมีความก้าวหน้าที่สำคัญอย่างประกาศเจตนารมณ์ทั้ง 76 จังหวัด หรือ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา” ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าของการพัฒนาที่สำคัญ โดยกระทรวงมหาดไทยให้แต่ละจังหวัดทำข้อตกลงกับองค์การสหประชาชน (UN) ผ่านสำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย โดยหลังจากการดำเนินการไม่ถึง 1 ปี ได้มีการตกลงกันกำหนดจังหวัดนำร่องขึ้นมา 15 จังหวัด ในทั่วทุกภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา เชียงราย อุบลราชธานี ตาก อุดรธานี แม่ฮ่องสอน กรุงเทพมหานคร สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา โดยแต่ละจังหวัดมีโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสภาพปัญหาภายในจังหวัด ยกตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ เช่น โครงการหมู่บ้านยั่งยืน โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้คือโครงการที่กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ ซึ่งนำไปดำเนินการทั้ง 76 จังหวัด รวมถึงโครงการอื่น ๆ 

และนอกจากตัวอย่างข้างต้น เรายังมี “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ของไทย ที่เป็นหนึ่งในการพัฒนามิติด้านสุขภาพที่โดดเด่นไปทั่วโลก โดยระบบนี้ทำให้คนไทยได้ประโยชน์ถึง 99.25 % ขณะที่ประชากรโลกอีกกว่า 4.5 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาสุขภาพที่ดีได้ แต่คนไทยเกือบทั้งประเทศสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้เกิดขึ้นจาก Localization กล่าวคือ เป็นการเข้าถึงในระดับพื้นที่ เพราะประเทศไทยมีระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีผู้ปฏิบัติหน้าที่ถึง 1 ล้านคนทั่วประเทศทำหน้าที่ให้ข้อมูลด้านสุขภาพซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น 

คุณสีหศักดิ์ ทิ้งท้ายปาฐกถาพิเศษโดยเน้นย้ำว่า แม้เราจะเดินมาถึงครึ่งทางแล้ว แต่เราควรกลับมาทบทวนว่าประเทศไทยอยู่ในจุดไหน เพราะหากมองเพียงตัวเรา คำตอบคงบอกว่าเราทำสำเร็จอย่างมาก แต่หากมองภาพกว้างในระดับโลก ไทยยังคงรั้งท้ายอยู่ในอันดับที่ 43 เท่านั้นจากจากทั้งหมด 166 ประเทศ ทำให้เรายังต้องทำงานอีกพอสมควร แต่ในระดับเอเชียยังถือว่ามีการขับเคลื่อนที่มุ่งมั่นจนติดอยู่ในอันดับที่ 3 ในส่วนนี้เราควรจะมีความภูมิใจ เพื่อเป็นแรงในการผลักดันต่อไป ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับทุกคน ที่ไม่เพียงต้องขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย แต่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ซึ่งได้ผลมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่ที่การมีส่วนร่วมของทุกคน 


03 – ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการยึดหลักสิทธิ  เน้นความครอบคลุม เป็นธรรม เเละให้ประชาชนมีส่วนร่วม

คุณชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15-16 ปาฐกถาเสนอ “กรอบแนวคิดการพัฒนาบนพื้นฐานแห่งสิทธิ” หรือการนำ “Right Based Development Approach” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ร่วมงาน โดยชี้ว่าการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนมีหลักคิดและแนวปฏิบัติตามหลักการสากลของสิทธิมนุษยชนมาเป็นฐาน และต้องไม่ใช่การทำงานแบบฉายเดี่ยว แต่ควรมีหลักหรือโซ่ข้อกลางมาร้อยเรียงกัน ตัวอย่างเช่นพื้นที่ตัวอย่าง 5 พื้นที่ ที่โครงการ SDG Localization คัดเลือกและนำเสนอ จะพบว่ามีวิธีการและกระบวนการเป็นหลักร้อยเรียง ซึ่งหลายท่านอาจทราบอยู่แล้วเป็นเบื้องต้น

คุณชาญเชาวน์ ขยายพรมแดนทางความรู้ในเรื่องการทำงานโดยใช้เรื่องสิทธิเป็นตัวตั้งผ่านการแบ่งปันประสบการณ์การทำงานของตนเพิ่มเติมว่า “สิทธิในการพัฒนาได้พัฒนาตัวเองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเนื่องมาจากโลกมีความเหลื่อมล้ำมาก ผมคิดว่าเราได้ยินคำว่าประเทศกำลังพัฒนากับประเทศที่พัฒนาแล้ว กระบวนการคิดเรื่อง Right to Development ได้ใช้เพื่อทดสอบเป้าหมายจาก MDGs มาแล้ว จนเคลื่อนตัวไปสู่ SDGs ในวันนี้ และในที่สุดแนวคิดเรื่องสิทธิจึงเป็นกรอบในการเชื่อมโยงแบบหลอมรวมไปกับวิธีคิดหรือวิธีดำเนินการของการพัฒนาที่ยั่งยืน ปรากฏในรูปของสิทธิประชาชนที่ควรจะได้รับการมองเป็นหุ้นส่วน (partnership) หุ้นส่วนระหว่างประชาชนด้วยกันเอง หุ้นส่วนระหว่างประชาชนกับรัฐ สอดคล้องกับข้อค้นพบของโครงการ SDG Localization กับประชาชนในพื้นที่ 5 แห่ง พร้อมทั้งค้นพบอีกว่าการพัฒนาชุมชนทั้ง 5 แห่งมีความเชื่อมโยงกับ SDGs คือ สิ่งที่ถูกค้นพบและโครงการนี้ได้เขียนระบุไว้อย่างชัดเจน” 

“หากมีคำถามว่าทำไมจึงเชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวสามารถส่งผลให้มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจได้ สำหรับตัวผม ตอนทำงานมักจะตั้งเป้าหมายว่า ทุกอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายในข้ามคืน ซึ่งทุกคนเข้าใจดี ผมเชื่อในคำว่า “การพลิกโฉมทางสังคม” (Social Transformation) ซึ่งพวกเราทำกันอยู่ทุกคน ผมได้รับประสบการณ์จากการทำงานในพื้นที่ว่าถ้าหากเรามุ่งสู่การทำงานโดยการลดความขัดแย้งเพื่อสร้างสันติภาพ (peace) มุ่งไปสู่การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ และมุ่งไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี (well being) รวมทั้งการรักษาสภาพแวดล้อมแน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ได้จะส่งผลไปสู่อนาคตได้อย่างต่อเนื่อง และมีศักยภาพในการปรับตัว แก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นได้ต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาเป้าหมายอย่างยั่งยืนนั่นเอง”

“ส่วนหลักคิดสำคัญของการทำงานที่มีกระบวนทัศน์ซึ่งจัดวางประชาชนทุกคนให้มีสิทธิที่จะได้รับการพัฒนานั้นหมายความว่า ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม (equity) ความเท่าเทียม (equally) และความยุติธรรม (justice) ซึ่ง 3 คำนี้น่าจะเป็นแกนกลางในการร้อยรัดเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมายเข้าด้วยกัน เป็นการทำให้เกิดผลกับประชาชนทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกระดับของความมั่งคั่ง ซึ่งโดยธรรมชาติประชาชนต่างกลุ่มจะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ทุกกลุ่มจะมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ไปด้วยกัน และที่สำคัญหากมองในมิติของสิทธิจะเกิดพันธสัญญาร่วมในการแสวงหาเป้าหมายร่วม ซึ่งผมคิดว่าทุกสังคมในโลกขณะนี้ ต้องการสิ่งที่เรียกว่า “เป้าหมายร่วมกัน (Common Goal)” สำหรับบ้านเรามีเป้าหมายร่วมอยู่ตรงไหน เรามีความหลากหลายในพื้นที่ เรามีความหลากหลายในปัญหา แต่เราต้องการ “Common Goal” ทว่าตอนนี้การขับเคลื่อนในสังคมเราไม่ได้ไปด้วยกัน จึงเป็นความท้าทายว่าทำอย่างไรที่จะให้เกิดความร่วมมือแบบหุ้นส่วน และรัฐต้องทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกที่ดี (facilitator) และอาจคาดหมายได้ว่าเป้าหมายในการพัฒนาเชิงพื้นที่จะสามารถสานพลังกันเป็นการพัฒนาระดับประเทศที่ยั่งยืนได้ โดยมุ่งสะท้อนมุมมองที่เป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับหลักการของ SDGs ที่ค้นหาเพื่อพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำ ลดการเอารัดเอาเปรียบในสังคม ลดความรุนแรง และเป็นการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusiveness)”

คุณชาญเชาว์ ชี้ต่อว่า “เนื้อหาของสิทธิในการได้รับการพัฒนา (right to development) จะมีพลังในการจุดประกายประชาชน ให้สามารถสานพลัง ขยายเครือข่ายของความเป็นหุ้นส่วน เกิดพันธสัญญาร่วม มุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน โดยหลักการที่สำคัญในเรื่องนี้ ได้แก่ 1) การพัฒนาไม่ใช่งานสังคมสงเคราะห์ ที่เป็นการรับการช่วยเหลือเพียงทางเดียว หรือเป็นเพียงการแสดงความเมตตากรุณา 2) การพัฒนาที่สำเร็จจะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 3) การพัฒนาจะต้องกระจายความมั่งคั่งและเทคโนโลยี 4) การพัฒนาควรมุ่งเน้นประเด็นการพัฒนาจากประชาชน จะต้องเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นจากประชาชน และผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาจะต้องได้รับและครอบคลุมทั้งปัจเจกชนและประชาชนทั่วไป (collective) และ 5) มุมมองในเชิงสิทธิเป็นหน้าที่ของรัฐ (state of ligation) ที่จะต้องกำหนดนโยบายและสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของการพัฒนาที่ชัดเจน

นอกจากนี้ คุณชาญเชาว์ ยังเน้นย้ำให้เห็นถึงแนวทางที่สำคัญของ  SDGs โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 17 ซึ่งมีสาระสำคัญมาจากการดำเนินการแบบหุ้นส่วน (partnership) ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ระหว่างประชาชนกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ ภายใต้แนวคิดและการทำงานที่ว่า การพัฒนาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอีกขั้นหนึ่ง โดยเฉพาะการหาคำตอบว่าอะไรคือรูปธรรมของหน้าที่รัฐ (state of ligation) ในเรื่องนี้จะเสริมให้สังคมไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการทำงานเชิงพื้นที่ได้อย่างไร คำตอบคือ ประการแรก การสร้างความตระหนักและการพัฒนาศักยภาพให้กับประชาชนในระดับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายเชิงประเด็นในการพัฒนาต่าง ๆ มีความเชื่อมั่นว่าทุกคนย่อมมีสิทธิในการพัฒนาที่ต้องส่งผลในการสร้างความเป็นธรรม สร้างความเสมอภาค และความยุติธรรม และต้องถือว่าเป็นหลักประกันของการดำรงชีพที่เราเข้าใจกันว่าความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจและเกิดความเชื่อมั่นว่าเป็นการสร้างพลังเพื่อชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ โดยมีรัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวก ประการที่สอง สิทธิเป็นหลักประกันให้ประชาชนเข้าถึงการพัฒนาที่ครอบคลุมการบริการสาธารณะของรัฐที่เชื่อมโยงทั้งสิทธิทางการเมือง สิทธิการเป็นพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนา (determinants of development) ประการที่สาม ต้องมีโครงสร้างของการบริหารจัดการภาครัฐ ที่มุ่งต่อกันเพื่อพัฒนาเป้าหมายที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ ที่สามารถเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงทุกพื้นที่ และเชื่อมโยงระดับประเทศได้

เช่นที่เห็นในภาพ เป็นกฎหมายที่ประกาศใช้เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่รู้สึกว่าจะมีน้อยคนที่จะที่จะเข้าใจ และมองเห็นกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร คือ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ เนื้อหาที่สำคัญที่อยากให้ทุกท่านได้ดูในวันนี้คือ การอธิบายและขยายความการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการของฝ่ายบริหารที่เข้าใจในขณะนี้ว่าคืออะไร นั่นคือ การบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการต้องเป็นไปตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องให้ความสุข (happiness) ตอบโจทย์ประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเน้นคำว่าอำนวยความสะดวก (facilitator) และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และมีส่วนขยายต่อไปอีกว่า หลักการที่ว่านี้ มีหลักการพัฒนาในพื้นที่อย่างไร อันดับแรกคือการพัฒนาแบบองค์รวม (holistic) เน้นที่คำว่าคุณภาพชีวิต ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ตรงนี้คือ หลักการที่สำคัญ เป็น State of Ligation ในสังคมไทย และบอกด้วยว่าเครื่องมือในการทำงานในพื้นที่ให้มุ่งไปสู่แผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัด และระดับภาค ประการที่สาม ให้ใช้การทำงานที่มุ่งสู่การบริหารแผนและทำงานด้วยกันโดยใช้ดิจิตอล  ประการที่สี่น่าสนใจมากเพราไม่เคยเห็น กฎหมายใดบอกว่าขอให้ทำงานด้วยความจริงใจ ซึ่งนี่เป็นกฎหมายฉบับแรกที่เป็นเหมือนการขอร้อง ประการที่ห้า เน้นย้ำว่าการกระจายอำนาจตัดสินใจ ให้ลงไปลงไปข้างล่าง และเน้นย้ำที่การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นแล้วว่ามันมีโครงสร้างเหล่านี้อยู่ แล้วเราจะมองในเรื่องนี้อย่างไร ถ้าหากมองเป็นเรื่องสิทธิกับหน้าที่ นับเป็นโจทย์คิดสำคัญที่เราต้องทบทวนเเละสำรวจต่อไป


Section 3: เปิดตัวรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2566

04 – ถ่ายทอดปัจจัยความสำเร็จผ่าน “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย: มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2566” 

สำหรับปี พ.ศ. 2566 การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ ได้ให้ความสำคัญไปที่กลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับพื้นที่ (SDG Localization) เพื่อสื่อสารความรู้ไปสู่นโยบายอย่างมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดนนำตัวแทน “พื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1” ที่ได้รับคัดเลือก ทั้ง 5 พื้นที่ ได้แก่

  1. บ้านมั่นคงเมืองชุมแพ จังหวัดขอนแก่น : ความมั่นคงทางที่อยู่อาศัยต่อยอดไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน
  2. ข้าวเม่านายอ จังหวัดสกลนคร : การยกระดับภูมิปัญญาดั้งเดิมสู่มาตรฐานความปลอดภัย 
  3. รักษ์ยั่งยืนเชียงของ จังหวัดเชียงราย : การสร้างนวัตกรรมสิ่งทอเส้นใยใบสับปะรดจากวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ ช่วยสร้างรายได้ให้คนพื้นเมือง ต่อยอดภูมิปัญญาชุมชน
  4. ธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี : การอนุรักษ์และส่งเสริมการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล จากความร่วมมือของชุมชนและการสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วน
  5. อาศรมวงศ์สนิท จังหวัดนครนายก : การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้รู้จักตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันพร้อมนำเสนอกรอบสำคัญที่นำมาสู่การที่ทำให้ชุมชนสร้างความยั่งยืนได้ซึ่งจากการทำงานกับชุมชน จากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้คนในพื้นที่หลายคน และนักวิชาการจากหลากหลายมหาวิทยาลัย ทำให้ได้มาซึ่งปัจจัยปัจจัยในการสร้างความยั่งยืนของพื้นที่ หรือที่เรียกว่ากรอบ “INSIGHT” โดยให้ความหมายไว้ ดังนี้

ความสอดคล้องกันของกฎกติกาและนโยบายที่เกี่ยวข้อง (Institutional and Policy Coherence) หรือ I : หากจะมีความยั่งยืนได้ต้องทำตามกฎหมาย กติกา และนโยบายต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ในการทำงานร่วมกัน 

เครือข่ายและความร่วมมือ (Network and Partnership) หรือ N : ทั้ง 5 พื้นที่สำเร็จได้เพราะมีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการอย่างมหาวิทยาลัยในพื้นที่ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้แต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึงความยั่งยืนได้ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่างมีบทบาท เอกชนในพื้นที่สะท้อนให้เห็นว่าเครือข่ายมีความสำคัญมาก ต่อการสร้างความยั่งยืนของพื้นที่

องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จำเป็น (Science, Technology, and Innovation) หรือ S : เป็นการนำเอาขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จำเป็น มาใช้ในการผลักความยั่งยืนของพื้นที่ เช่น การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องทะเล การศึกษาเกี่ยวกับปูม้า การศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ทั้งสิ้น 

ระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องและข้อมูลสถิต (Information System and Statistic) หรือ I : ชุมชนหลายพื้นที่ต้องการที่จะเก็บข้อมูล อาจเป็นช่องว่างที่เหลืออยู่ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มในอนาคต ซึ่งความสำคัญของการเก็บข้อมูล คือ เพื่อให้เรียนรู้ได้ว่าชุมชนมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นถ้าเราไม่สามารถเก็บข้อมูลมาเปรียบเทียบในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้ 

ระบบการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อน และผู้รับผิดชอบ/ผู้นำ ในการขับเคลื่อน (Governance and Leadership) หรือ G : เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือการหาผู้นำที่มีความรับผิดชอบ โปร่งใส มีความสามารถในการตัวเชื่อมสร้างจุดกึ่งกลางระหว่างชุมชน ทั้งคนในชุมชน นอกชุมชม ภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าด้วยกัน ปัจจัยนี้มีความสำคัญมากเพราะหากขาดผู้นำที่แข็งแกร่ง ก็ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้ในการขับเคลื่อนแก่คนในพื้นที่ขึ้นมาได้

ทรัพยากรมนุษย์และการเสริมสร้างศักยภาพ (Human Resource and Capacity Building) หรือ H : ทุกพื้นที่เริ่มต้นการเรียนรู้ผ่านทรัพยากรจากทุนทางมนุษย์ในพื้นที่ของตนเอง ผ่านการมองจุดแข็งและจุดอ่อน นำไปสู่การพยายามผลักดัน ปรับเปลี่ยนเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งเป็นแก่นสำคัญของการพัฒนาในพื้นที่ เพราะถ้าหากเราไม่ศักยภาพตนเอง เราก็ไม่อาจดึงจุดเด่นสำคัญมาใช้ว่าสามารถผลักดันสิ่งใดได้

ทรัพยากรทางการเงินสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนา Treasury (Finance for Development) หรือ T : ปัจจัยที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีความสำคัญมากที่ทำให้ทุกพื้นที่เกิดการพัฒนาได้นั้น ต้องมีทุนทรัพย์ จากการถอดบนเรียนแต่ละพื้นที่พบว่า หลายพื้นที่มีการระดมทุน มีการขับเคลื่อนภายในชุมชนเอง หรือมีการจัดตั้งกองทุนออมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้โครงการการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน 


แพรวพรรณ ศิริเลิศ และ อติรุจ ดือเระ – ผู้เรียบเรียง
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น