SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่  1 เเละ 2 ประจำเดือนมีนาคม 2567

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  4 – 15 มีนาคม 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

นับตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัว เป็นปีที่ร้อนเร็วที่สุดและมีอุณหภูมิร้อนจัด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่เกิดขึ้นในปีนี้ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) อธิบายว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิกทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ส่งผลให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียฝนไม่ตกและเกิดความแห้งแล้ง  และแม้ไทยจะได้รับอิทธิพลของเอลนีโญในระดับปานกลาง แต่ก็ส่งผลให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับภาวะอุณหภูมิที่ร้อนจัด ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายว่าดัชนีความร้อนมีผลต่อร่างกายมนุษย์ ทำให้ต้องเฝ้าระวังระดับความร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทบต่อสุขภาพโดยตรง เช่น โรคฮีทสโตรก

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ

เข้าถึงได้ที่ : รับมือกับค่าดัชนีความร้อนพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม – The Reporters

หน่วยงานอุทยานทางทะเล Great Barrier Reef ยืนยันอย่างเป็นทางการว่า สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่าง ‘แนวปะการัง เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ’ ถูกคุกคามจากเหตุการณ์ฟอกขาวครั้งที่ 7 โดยในช่วงเวลา 8 ปี ที่ผ่านมา ได้เกิดการฟอกขาวขนาดใหญ่ไปแล้ว 5 ครั้ง ผลดังกล่าวเป็นการย้ำเตือนถึงวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตของระบบนิเวศทางทะเล โดย David Ritter ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซออสเตรเลีย-แปซิฟิก ระบุว่าการฟอกขาวครั้งใหญ่ของเเนวปะการัง เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ หลุดจากรายชื่อมรดกโลกทางธรรมชาติที่อยู่ในอันตราย (In Danger) เป็นครั้งที่เจ็ดถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตระหนกมาก โดยรัฐบาลออสเตรเลียสัญญาว่าจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องแนวปะการัง ซึ่งปฏิบัติการนี้ต้องรวมถึงการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในฐานะภัยคุกคามต่อแนวปะการัง และรับรองว่าแผนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของออสเตรเลียจะสอดคล้องกับขีดจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก 1.5 องศาเซลเซียส

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ และ SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน และ 14.c เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่ : แนวปะการังเกรท แบริเออร์ เผชิญกับเหตุการณ์การฟอกขาวขนาดใหญ่ครั้งที่ 7 ส่งคำเตือนที่สิ้นหวังในการยุติยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล – Greenpeace Thailand

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 รัฐกะเหรี่ยง จังหวัดพะอัน ประเทศเมียนมา บริเวณชายแดนติดกับประเทศไทย พร้อมกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก ลงพื้นที่ช่วยเหลือ มอบอาหาร ฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนโปลิโอ หัด ไอกรน รวมถึงวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือ HPV มาฉีดให้กับเด็ก ๆ เพื่อป้องกันโรคระบาด​ รวมถึงวางระบบน้ำประปา แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำไม่สะอาด เพื่อสุขอนามัยค่ายอพยพ ซึ่งค่ายลี้ภัยนี้พบเด็กหลายคนพลัดหลงพ่อแม่ระหว่างหนีภัยสงคราม หวั่นเด็กหลายคนกลายเป็นเด็กกำพร้า นอกจากนี้ ยังหวังที่จะยกระดับระเบียงมนุษยธรรมในพื้นที่ เนื่องจากอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ยังไม่มีมีความเคลื่อนไหว ในการยกระดับเป็นพื้นที่ปลอดการสู้รบ ซึ่งพยายามผลักดันให้พื้นที่นี้เป็นระเบียงมนุษยธรรม ปลอดภัย และความช่วยเหลือเข้าถึง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และ 16.b ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่ : วิกฤต! ค่ายลี้ภัย จ.พะอัน รัฐกะเหรี่ยง เด็กนับร้อยขาดอาหาร-น้ำสะอาด – The Active 

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เนื่องจากพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการทางอาญาตามมาตรฐานสากล ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น รูปแบบและโครงสร้างของคณะกรรมการราชทัณฑ์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษของผู้ต้องขัง ดังนั้น จึงควรแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อให้กระบวนการมีความรัดกุม โปร่งใส และสอดคล้องกับหลักการในทางสากล โดยประชาชนสามารถร่วมแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2567 ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : เปิดรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ปรับบทบัญญัติให้สอดคล้องมาตรฐานสากล – ประชาไท 

การประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotics Drug: CND) สมัยที่ 67 António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการต่อต้านการค้ายาเสพติด ลงทุนในการป้องกันการใช้ยา และสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการรักษา รวมถึงปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของทุกคน โดยพยายามให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นอันดับแรก ด้วยการไม่ตีตราและยุติการเลือกปฏิบัติและเสริมสร้างการป้องกัน ฟื้นฟู รวมถึงส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้สารเสพติด พร้อมขยายโครงการป้องกัน รักษา และบริการด้านสุขภาพ อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการร่วมกันในการต่อสู้กับยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เรียกร้องให้มีความสามัคคีระหว่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์จากสนธิสัญญาและกรอบการทำงานระหว่างประเทศเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหายาเสพติด

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิด และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.8 ขยายและเสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศ และ 16.a เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ

เข้าถึงได้ที่ : UN chief calls for people-centered approach to combat drug stigma – UN News

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่ประชุมวุฒิสภาที่มี ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณา รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอต่อสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส โดยแนะรัฐบาลเร่งผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และฉบับอื่น ๆ เนื่องจากการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังคงตั้งอยู่บนแนวคิดเรื่องระบบสองเพศ (Binary Sexes) ที่จำแนกเพศออกเป็นเพศชายและหญิง ทำให้กลุ่ม LGBTQIAN+ กลายเป็นคนส่วนน้อยที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและระบบกฎหมาย ซึ่งการผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ตามข้อเสนอภาคประชาชน จะช่วยส่งเสริมความเสมอภาค ขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียม โดยการขจัดกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : ‘วุฒิสภา’ ไฟเขียว รายงานข้อเสนอต่อสิทธิ LGBTQIAN+ – The Active

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on มีนาคม 18, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น