SDG Updates | สรุปเสวนา “การควบรวมดัชนีความเปราะบางทางสังคมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน: กรณีศึกษา กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล” โครงการย่อยที่ 1 

ชวนอ่านบทสรุปเวทีเสวนา ในหัวข้อ “การควบรวมดัชนีความเปราะบางทางสังคมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน: กรณีศึกษา กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล” ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ผ่านระบบ Zoom Meeting ภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา

โดยวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ประกอบด้วย

  • คุณอัญชลี ตันวานิช ที่ปรึกษาด้านการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง
  • คุณทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
  • คุณวิทยา เรืองฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
  • รศ. ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

SDG Updates ฉบับนี้ จะพาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาฯ ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดย ช่วงแรก เป็นการนําเสนอผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนการควบรวมดัชนีความเปราะบางทางสังคมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน: กรณีศึกษา กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล และ ช่วงที่สอง เป็นการเสวนาข้ามภาคส่วน ผู้ร่วมเสวนาจะร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “โอกาสการบูรณาการข้อมูลดัชนีความเปราะบางทางสังคมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน (SoVI) : กรณีศึกษา กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล” เพื่อนำเสนอผลการศึกษาสำคัญจากนักวิจัยและร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดกับหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานการวางแผนการใช้ประโยชน์จากที่ดิน


Section 1: การนําเสนอผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

01 – การขับเคลื่อนการควบรวมดัชนีความเปราะบางทางสังคมจาก ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ เข้าสู่การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 

รศ. ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ เริ่มต้นฉายภาพรวมของที่มาและความสำคัญที่เริ่มศึกษางานวิจัย ประเด็นแรก เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบูรณาการร่วมกัน ในระดับเป้าหมายย่อย (target) ที่ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนรู้ทั้งด้านข้อมูลและนโยบาย เช่นเดียวกับงานวิจัยนี้ที่มุ่งศึกษาเรื่องของเมือง กลุ่มเปราะบาง และผลกระทบที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายย่อยของ SDGs หลัก 3 ข้อ ได้แก่ 1.5  11.5  และ 13.1 แต่แน่นอนว่าไม่ได้เชื่อมโยงแค่เป้าหมายข้างต้น แต่เพื่อพัฒนาตัวชี้วัด (indicator) ในเชิงวิชาการจำเป็นต้องเฉพาะเจาะจง 

ขณะที่ ประเด็นที่สอง รายงานวิชาการที่ช่วยสนับสนุนความเปราะบางทางสังคมของภาครัฐเองที่มีจำนวนมาก ซึ่งฐานะฝ่ายวิชาการจึงพัฒนาตัวชี้วัดนี้เพื่อหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาจจะสะท้อนในเรื่องของความเปราะบางทางสังคมมากขึ้น และสามารถบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปได้ นั่นเป็นที่มาทำให้ศึกษาวิจัยดังกล่าว อย่างไรก็ดี โดยหลักมุ่งเน้นการศึกษาที่การวางแผนใช้ที่ดินที่มีดัชนีตอบโจทย์กลุ่มคนเปราะบางและเข้าใจเรื่องสภาพอากาศมากขึ้น

จากการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว สามารถอธิบายได้เป็น 4 ส่วน โดย รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ระบุว่า ส่วนที่หนึ่ง คือเรื่อง SDGs และกรอบแนวคิดที่จะศึกษา จากเป้าหมายย่อยหลัก 3 เป้าหมาย ได้แก่ 1.5  เกี่ยวข้องกับสร้างภูมิต้านทานให้คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง ลดผลกระทบจากภัยพิบัติและความรุนแรงด้านต่าง ๆ  11.5  เรื่องการลดจำนวนการตายคนได้รับผลกระทบ แล้วก็เรื่องของเศรษฐกิจจากภัยพิบัติโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับน้ำ และ 13.1 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว ซึ่งจาก 3 เป้าหมายย่อยนั้น และมี 6 ตัวชี้วัด ซึ่งมีตัวชี้วัดที่ใช้ร่วมกันอยู่ดังตาราง จะเห็นว่าตัวชี้วัดแรกจำนวนผู้เสียชีวิตสูญหายจากภัยพิบัติต่อประชากร จะเห็นว่าใช้ตัวชี้วัดร่วมกันทั้ง 3 ข้อ ขณะที่บางข้อใช้เพียงตัวชี้วัดเดียว เช่น ข้อ 4 ตัวชี้วัดที่ 11.5.2 ความสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากภัยพิบัติเทียบเคียงกับ GDP เป็นต้น โดยเราจะพัฒนาตัวชี้วัดเหล่านี้

จากการวิจัยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ ได้เเก่ หนึ่ง เพื่อสร้างข้อมูลชุมชนโดยรวม (community profile) และ ดัชนีความเปราะบางทางสังคม (social vulnerability index : SoVI) ทั้งเชิง Spatial และ Non-Spatial และจัดทำ SoVI Mapping ของชุมชน เพื่อบอกภาพรวมว่าในเชิงพื้นที่ส่วนใดมีความเปราะบางมากกว่ากัน เช่น รายได้น้อยนอกระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล สอง เพื่อวิเคราะห์ความเปราะบางของชุมชนรายได้น้อยต่อน้ำท่วมและแล้ง และสาม เพื่อการควบรวมดัชนีความเปราะบางทางสังคม เข้าสู่กระบวนการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ขณะที่ กรอบแนวคิดในการศึกษา คือการใช้ SoVI เป็น ดัชนี เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ (climate risk) ตามกรอบคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) โดยมีองค์ประกอบดัชนีของ SoVI ครอบคลุมทุกมิติ และการวางแผนการใช้ที่ดิน (Land Used Planning) เป็นเครื่องมือนโยบายในการบูรณาการการพัฒนาเมืองทุกมิติเพื่อบรรลุ SDGs ให้มีทิศทางการพัฒนาเมืองที่บูรณาการในทุกมิติ อาจบรรลุ SDGs ได้มากขึ้น 

ถัดมา รศ. ดร.วิจิตรบุษบา พบว่า ส่วนที่สอง คือผลการศึกษา เพื่อตอบวัตถุประสงค์แรก ได้มีการจัดทำดัชนีความเปราะบางทางสังคม เพื่อให้ได้ SoVI Mapping โดยดัชนีที่ได้นั้นมาจากข้อมูล Spatial และ Non Spatial จากการเก็บแบบสอบถาม นอกจากนี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) พยายามผลักดันเรื่องความเปราะบางของคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในเมือง เพราะเป็นสมมติฐานว่าถ้ากลุ่มคนเปราะบางสามารถปรับตัวได้ คนทั่วไปก็น่าจะปรับตัวได้เช่นเดียวกัน จึงมองว่าความเปราะบางจะประกอบไปด้วยทั้งความล่อแหลมที่เป็นภยันตราย (hazard vulnerability) ซึ่งการที่จะสร้างความสามารถในการรับมือจำเป็นต้องเริ่มจากสิ่งนี้ ซึ่งสำหรับระดับเมืองอาจยังไม่สะท้อนกลุ่มคนเปราะบางในประเทศไทยเท่าไหร่

ดังนั้น เพื่อความชัดเจนสำหรับพัฒนาตัวชี้วัดมดัชนีความเปราะบางทางสังคม จึงต้องมีนิยามรวบรวมนิยามคำว่า “กลุ่มคนเปราะบาง” สำหรับงานนี้ ตามที่ IPCC ให้นิยามอย่างกว้างว่ากลุ่มคนเปราะบางทางสังคม คือ “ใครก็ตามที่ไม่สามารถรับมือได้” ซึ่งหมายรวมถึงความแปรปรวนรุนแรงที่ไม่อาจรับมือได้ ซึ่งอาจไม่ใช่เพียงแค่คนที่มีรายได้น้อย แต่รวมถึงกลุ่มคนเปราะบางอาจจะเป็นคนอยู่ในพื้นที่เสี่่ยง ขณะที่ กรมการพัฒนาชุมชน ให้ความหมายกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง คือเด็ก ผู้สูงวัย ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลือในกรณีวิกฤต หรือครัวเรือนรายได้น้อย นอกจากนี้ เพื่อจัดทำ SoVI Mapping ของชุมชน จำเป็นต้องนิยามว่า “ชุมชนแออัด” คืออะไร ตามที่การเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ชุมชนแออัดนิยามคือ พื้นที่ที่คนส่วนใหญ่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่น และมีโครงสร้างพื้นฐานที่อาจไม่พอเพียง มีความชำรุดทรุดโทรม 

รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ระบุว่า เมื่อได้นิยามดังกล่าวแล้ว ทำให้นำมาจำกัดความว่าการดำเนินงานวิจัยนี้ จะศึกษากลุ่มเปราะบางทั้ง 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง ชุมชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งหมายรวมถึงชุมชนที่อยู่นอกระบบ หรืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการ และ สอง คือศึกษาครัวเรือนในชุมชน นั่นคือครัวเรือนเปราะบาง ตามคำนิยามที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้ระบุไว้ เมื่อมองดังนั้นแล้วนำมาสู่การพัฒนาข้อมูลฐานของตัวชี้วัด นั่นคือ SDGs ซึ่งการที่จะพัฒนาต่อได้ในอนาคต ตัวชี้วัดจำเป็นต้องมีข้อมูลฐานนั้น ๆ ก่อน  เพื่อศึกษาดัชนีความเปราะบางทางสังคม จึงต้องอาศัยข้อมูลฐานก่อน กล่าวคือต้องรวบรวมข้อมูลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สำหรับนำมาทำเป็นฐานข้อมูลไว้ นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีการรวบรวมฐานข้อมูลอย่าง Climate/Hazard จากแผนที่ความเสี่ยงด้วยภูมิอากาศของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมให้มาอยู่ในแผนข้อมูลเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการต่อยอดในอนาคต 

กล่าวโดยสรุปทำ ‘Baseline Indicator’ เพราะ หนึ่ง ทำเพื่อแสดงถึงตัวชี้วัดที่สะท้อนความเปราะบางของชุมชนรายได้น้อยให้มากขึ้น และ สอง คือสะท้อนผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นนั้นตัวชี้วัดของเราที่เป็นความเปราะบาง (vulnerability) จะถูกแบ่งเป็นสอง รูปแบบ คือ โครงสร้างครัวเรือน และข้อมูลทางสังคม เช่น รายได้ อัตราว่างงาน ซึ่งล้วนสะท้อนถึงการอยู่อาศัยของคน ขณะเดียวกันด้านกายภาพ จะเข้าไปศึกษาถึงโครงสร้างพื้นฐาน อัตราความหนาแน่นทางถนน เช่น หากมีถนนทางเข้าออกง่ายอาจจะลดความเปราะบางได้ อย่างไรก็ดี แต่ละประเด็นมีสมมติฐานของประเด็นนั้น ๆ กล่าวคือการจัดทำดัชนีเพื่อนำไปใช้ จำเป็นต้องทำจากฐานข้อมูลแผนที่ความเสี่ยง (risk map) ด้วย


02 – ค้นหาวิธีการที่เหมาะสมการศึกษาดัชนีความเปราะบางทางสังคมสู่การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 

ส่วนที่สาม คือ วิธีการวิจัย (research methods) มีวิธีเก็บข้อมูล 4 วิธี ได้แก่ แบบที่ 1 วิธีที่ง่ายที่สุด คือรวบรวมตัวชี้วัดและพร็อกซี (proxy) ข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ แบบที่ 2 คือการถอดแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากแผนที่ความเสี่ยงของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม แบบที่ 3 คือข้อมูลชุดหนึ่งอาจไม่สะท้อนการอยู่อาศัยคนเปราะบางหรือการอยู่อาศัยในเมือง ทำให้ต้องมีการการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ เช่น เรื่องอาคาร พื้นที่ และความหนาแน่น เพราะความหนาแน่นช่วยสะท้อนความเป็นเมืองและความแออัดของชุมชนได้มากกว่า จึงต้องวิเคราะห์ก่อนเพื่อสร้างตัวชี้วัดกลับไปที่แผนที่และใช้ JIS วิเคราะห์ และ แบบที่ 4 คือแบบสอบถาม 500 ชุด จากครัวเรือนเปราะบางตามกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อให้รับรู้ว่ามีการรับมือทั้งในระดับสูง ปานกลาง ต่ำ เพื่อนำกลับมาสู่มาตรการชุมชน 

นอกจากนี้ ในการควบรวมดัชนีความเปราะบางทางสังคม เข้าสู่กระบวนการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากตัวอย่างงานวิจัยในต่างประเทศคือ การวางแผนการใช้ที่ดิน (Land Used Planning) การวางแผนใช้ที่ดินสากลไม่ว่าจะเป็นวาระการพัฒนาเมืองใหม่ (New Urban Agenda: NUA) หรือแม้ประเทศที่พัฒนาผังเมืองให้ทันสมัย ก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผังเมืองอย่างรอบด้าน 

ตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการทำดัชนีสำคัญโดยใช้ SoVI  สำหรับวางแผนการตอบสนองต่อภัยและโรคระบาดต่าง ๆ แล้ววิเคราะห์กลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มสูงอายุ เด็ก หรือผู้ป่วย ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลักของสหรัฐอเมริกาอย่างสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (Federal Emergency Management Agency :FEMA) ได้ใช้ SoVI เข้าไปปูทางมาตรการด้วย เช่น มาตรการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถ้าเข้าดัชนีความเปราะบางทางสังคม ทำให้การออกมาตรการครอบคลุมถึงกลุ่มคนเปราะบาง 

ขณะที่ ประเทศแคนาดา ได้นำ SoVI มาใช้ในการพัฒนาด้านสุขภาพเรื่องของแผนภูมิความร้อน (heat map) นำมาวิเคราะห์ร่วมกับพื้นที่น้ำท่วม เพราะความร้อนในยุโรป อเมริกา ผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาคารอาจได้รับผลกระทบ หรือกลุ่มเปราะบาง เช่น แรงงานที่ทำงานอยู่ในอาชีพที่จะต้องเผชิญสภาพอากาศร้อนสิ่งนี้ก็จะช่วยในการเตือนภัย เครื่องนี้จึงมีความสำคัญในการกำหนดนโยบาย สำหรับแก้ไขและวางแผนรับมือในการปรับตัวอย่างรอบด้าน ซึ่งช่วยในการสนับสนุนการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและส่งเสริมความยั่งยืน

รศ. ดร.วิจิตรบุษบา กล่าวเพิ่มเติมว่าในส่วนจัดทำ SoVI Mapping ของชุมชนสามารถใช้ระดับยุทธศาสตร์ ระดับนโยบาย ซึ่งนำไปช่วยใช้ในการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ โดยพิจารณาดัชนีความเปราะบางทางสังคม (SoVI) แบบองค์รวม ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัญหาสำคัญของประเทศไทยคือ เมื่อนำสิ่งที่ต้องการศึกษาพิจารณาร่วมกันแล้ว ก็อาจจะยังไม่ค่อยเข้าถึงความยั่งยืนในมิติของนิยามเท่าไหร่นัก ฉะนั้นการมองแบบภาพรวมจึงสำคัญนำมาสู่การทำดัชนีความเปราะบางทางสังคมที่สามารถเห็นภาพรวมได้นั่นเอง ขณะที่ ดัชนีส่วนใหญ่มักสะท้อนความเป็นเปราะบางสังคมและในพื้นที่เมืองมากกว่า ฉะนั้นจึงพยายามให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดการดำเนินการในระดับพื้นที่ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่การดำเนินงานแบบม้วนเดียวจบ แต่ต้องมีการตรวจสอบติดตาม ซึ่งหากนำดัชนีความเปราะบางทางสังคมมาใช้ในการติดตามอาจทำให้สะท้อนปัญหาที่แท้จริงและแก้ไขได้ทันท่วงทีมากขึ้น

ส่วนเรื่องประเด็นดัชนีความเปราะบางทางสังคมกับการวางแผนเชิงพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รศ. ดร.วิจิตรบุษบา สามารถอธิบายแบ่งได้เป็น 2 ข้อ คือ หนึ่ง ผังเมืองเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาเมืองทุกมิติ ซึ่งในปัจจุบันอาจมองเรื่องสังคมน้อยกว่ากายภาพเช่นนั้น ถ้า SoVI Mapping สะท้อนเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะทำให้ผังเมืองเป็นองค์รวมมากขึ้น และ สอง SoVI Mapping เป็นเครื่องมือที่สามารถบอกความเสี่ยงที่เกิดจากภัย 

ดังนั้น เมื่อนำมาตรการไปปฏิบัติตัวผังนโยบาย คือเป็นเรื่องมาตรการอาคาร มาตรการโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการการเงิน จะสามารถพิจารณาในรายละเอียดที่ช่วยลดผลกระทบได้ เช่น มาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) พื้นที่เปิดโล่ง โดยมองว่าเดิมทีมีแนวนโยบายที่สะท้อนถึงความยั่งยืนอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ตามธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ระบุว่าต้องมีการลดผลกระทบของกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นประโยชน์และข้อเสนอแนะในการประสานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน อันเป็นช่องว่าสำคัญของโครงสร้างประเทศไทย ที่ต้องมีการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาใช้การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ครบทุกมิติมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่จะช่วยให้การบูรณาการการใช้ดัชนีความเปราะบางทางสังคม ที่เป็นมถมมองการวางผังเมืองจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นรูปธรรมขึ้น ฉะนั้นตัวชี้วัดที่ศึกษาถ้าควบรวมกันและมีเกณฑ์บางอย่างออกมา จะทำให้ผังเมืองมีประสิทธิภาพมากในการลดความเปราะบางของชุมชน 

อาจสรุปว่าการทำดัชนีการประสานข้อมูลนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องทำงานร่วมกัน การวางแผนและจัดทำผังเมืองไม่ว่าจะเป็นตัวกรมโยธาท้องถิ่น หรือว่าคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ พชอ. ควรเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานสนับสนุนและผลักดันด้านข้อมูลและประสานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความเปราะบางสังคมเข้าสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินได้ โดยอนุเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ การใช้ Proxy ที่มันตอบโจทย์ของหน่วยงานมากขึ้นร่วมกับการนำแนวคิดดัชนีความเปราะบางทางสังคมเข้าไปปรับใช้ อย่างไรก็ดี ส่วนกลางจำเป็นต้องมีมาตรการที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่นให้มากขึ้น สำหรับจัดการเรื่องใหญ่ได้ เช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยั่งยืน ความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นเรื่องที่ส่วนกลางพิจารณาเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสะท้อนปัญหาที่แท้จริงเฉพาะพื้นที่


Section 2: การเสวนาข้ามภาคส่วน

03 – การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองและการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลดัชนีความเปราะบางทางสังคมมีส่วนในกระบวนการหรือโอกาสในการบูรณาการเข้าไปอยู่ในการทำงานของหน่วยงานหรือการพัฒนาเมืองและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างไร

เริ่มต้นที่ คุณอัญชลี ตันวานิช ที่ปรึกษาด้านการผังเมืองกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น ได้ดำเนินการมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอดตั้งแนวคิดของการวางผัง ซึ่งทางกรมรับผิดชอบหลักใน SDG11 การผังเมืองการตั้งถิ่นฐาน ปัจจุบันมีการดำเนินการวางผัง การจัดพื้นที่สีเขียว จากที่ รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ได้กล่าวถึงธรรมนูญการเมืองข้างต้น จะเห็นว่าสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะข้อ 26 ของธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ที่กล่าวถึงการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจากกรอบการดำเนินงานที่หน่วยงานได้นำมาใช้ก็คือวาระการพัฒนาเมืองใหม่ (New Urban Agenda: NUA) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกรอบในการสร้างตัวชี้วัดของหน่วยงาน อีกประเด็นที่ข้อ 16 เรื่องคำนึงถึงการวางแผนการตั้งถิ่นฐานให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมลดความเสี่ยงและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบด้านสาธารณภัย แสดงให้เห็นว่ามีกรอบการทำงานที่สอดคล้องกับ SDGs แต่เรื่องการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงสาธารณูปโภคของกลุ่มเปราะบางนั้นยังไม่มี แต่หน่วยงานมีการดำเนินงานเรื่องสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นแก่คนทุกกลุ่ม

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นแนวนโยบายในการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องรองรับในเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่ต้องมีความยืดหยุ่นปลอดภัยสามารถดูแลประชาชนได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ในระดับพื้นที่ ปัจจุบันท้องถิ่นสามารถวางผังได้ด้วยตนเอง โดยออกข้อบัญญัติท้องถิ่น แต่เมื่อก่อนนี้จะบังคับออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ของข้อกฎหมายเหมือนกันว่าความยั่งยืนนั้นต้องเกิดจากระดับท้องถิ่นไม่ใช่ส่วนกลางไปยัดเยียดให้ท้องถิ่นเกิดความยั่งยืน เช่นที่ รศ. ดร.วิจิตรบุษบา กล่าวถึงดัชนีความเปราะบางทางสังคมข้างต้น มองว่าถ้าท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการข้อมูลที่ได้นั้นจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องกลุ่มเปราะบางและพื้นที่ยากจนระบุว่าสิ่งใดอยู่ส่วนไหน เพราะพื้นที่ย่อมเข้าใจสภาพพื้นที่มากที่สุด

จากกระบวนการวางผังของกรมที่ผ่านมา ข้อมูลด้านกายภาพ 44 ตัวเป็นข้อมูลที่สามารถหาได้ง่าย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับการทำงานที่ผ่านมา คือการตอบโจทย์ต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น พื้นที่เปราะบาง กลุ่มเปราะบาง ที่บางครั้งอาจยังไม่มีข้อมูลต้องอาศัยการพึ่งพาข้อมูลจากหน่วยงานอื่น หรือบางครั้งข้อมูลยังไม่มีค่าพิกัดระบุ ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติ แต่ว่าข้อมูลเหล่านี้ ณ ปัจจุบันตามนโยบายกระทรวงก็คือให้ทำทั่วประเทศ ทุกตำบล ซึ่งจะเป็นการสร้างฐานข้อมูลเมืองของชุมชนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการระบุถึงพื้นที่น้ำท่วมกับกลุ่มคนเปราะบางมีความแตกต่างกัน เพราะกลุ่มเปราะบางเมื่อนำมาลงในแผนที่จะมีการเคลื่อนไหวเป็นไดนามิก ไม่เหมือนข้อมูลด้านกายภาพที่มีสถิติอยู่ แม้กระทั่งคนกลุ่มคนพิการกลุ่มคนติดเตียงที่มีในผังภูมิสังคม ทำให้นโยบายต่อไปคือพยายามนำข้อมูลในผังภูมิสังคมมาสู่กระบวนการวางผังเมือง 


การดำเนินการของหน่วยงานเกี่ยวกับพัฒนาเมืองชุมชนที่อยู่อาศัยกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ

คุณทิพย์รัตน์ เริ่มต้นว่าสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) นับเป็นแห่งแรกที่สร้างขึ้นอยู่กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มุ่งสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนโดยเฉพาะชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบทมีกองทุนเริ่มจากรัฐบาล โดยวิธีการดำเนินงาน คือทั้งหมดชุมชนต้องเป็นหลักในการพัฒนาในกระบวนการต่าง ๆ เป็นเรื่องของกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลักและก็บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องของการร่วมมือกันเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยหรือแก้ปัญหาชุมชนแออัด ผ่านโครงการที่เรียกว่า ‘City wide upgrading’ หรือ โครงการบ้านมั่นคง เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยพร้อมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครัวเรือนช่วยแก้ไขประเด็นทางเศรษฐกิจอีกด้วย 

นอกจากนี้ พอช. ได้เสนอเรื่องของการแก้ปัญหาชุมชนแออัด โดยชุมชนเจ้าของโครงการโดยเสนอเป็นหลักในการพัฒนา ซึ่งหากเป็น SDGs สอดคล้องกับ SDG11 ขณะเดียวกันสอดคล้องเป้าหมายอื่น ๆ เช่นการลดความเหลื่อมล้ำ กระบวนการมีส่วนร่วมที่สร้างความเป็นประชาธิปไตย การสร้างความเข้มแข็งตลอดจนเรื่องของการที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่มีอยู่อาศัยมัน ซึ่ง พอช. ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาชุมชนแออัดแบบ ‘city wide’ คือดูกันทั้งเมือง กลไกสนับสนุนคือแต่ละเมืองจะบูรณาการการทำงานร่วมกันโดยชุมชนที่เป็นเจ้าของปัญหา โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาหรือภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมกันสำรวจข้อมูลความมั่นคงในการอยู่อาศัยในชุมชน ซึ่งการรวมภาคส่วนมาเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจของข้อมูลที่ตรงกัน โดยชุมชนมีส่วนร่วมสำคัญในการตัดสินใจเกิดการวางแผน เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของทุกชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อรับมือและพัฒนากับเรื่องอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งนำมาสู่เรื่องของการปรับปรุงชุมชนในที่ดินเดิม การสร้างใหม่ การจัดหาที่อยู่ใหม่ หรือการจัดปรับผังที่ดิน รวมถึงการปรับรูปที่อยู่อาศัยที่ตามมาทีหลัง 

อีกส่วนหนึ่งขององค์ประกอบที่สำคัญในการขับเคลื่อนงาน คือนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ สำหรับเรื่องสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นของชุมชน โดยใช้กองทุนของ พอช.ที่มีตั้งแต่ต้นสร้างแนวทางการเงินใหม่และใช้การเงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาให้กับชุมชนให้ผู้มีรายได้น้อยจะเข้าถึงแหล่งทุนได้ เพื่อเกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบเจ้าของร่วม หรือ “บ้านมั่นคง บ้านโดยชุมชน ทุกคนร่วมกันสร้าง” (Collective Housing) สนับสนุนให้ชุมชน มีการออกทรัพย์เพื่อที่จะเป็นทุนสำคัญของชุมชนนำไปสู่ความเข้มแข็งเพื่อโยงคนเข้าด้วยกัน ทั้งหมดเป็นกระบวนการให้ชุมชนมีส่วนร่วมสำคัญหมด 

ขณะที่ ประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องการปรับปรุงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนริมคลอง เช่น สถานการณ์อุทกภัยปี 2554 การแก้ไขปัญหาชุมชนที่บุกรุกสร้างบ้านเรือนที่รุกล้ำเข้าไปในคลองที่ชุมชนลาดพร้าวทั้งหมดอยู่ประมาณ 50 ชุมชนที่จะต้องแก้ไขปัญหา การแก้ไขมีรูปแบบกระบวนการ คือ พอช. การทำงานเรื่อง การพัฒนายกระดับตลอดทั่วทั้งเมือง (city-wide upgrading) หรือ โครงการบ้านมั่นคง คือเราให้ชุมชนมีส่วนร่วมสำคัญในการทำงานแต่ว่าในเรื่องของลาดพร้าวการพัฒนาที่อยู่อาศัยต้องเรียนว่าจริง ๆ เป็นการบูรณาการของหลายหน่วยงานร่วมกัน พอช.รับผิดชอบในเรื่องของชุมชนในการรื้อย้ายชุมชนขึ้นและพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ 

แต่ปัญหาหลัก คือ หนึ่ง การจัดหาที่ดินที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยความมั่นคงในที่ดิน เช่น เรื่องระบบการเงินของผู้มีรายได้น้อยที่อาจมีรายได้ไม่เพียงพอต่อสถาบันการเงินขณะที่ พอช.ใช้เรื่องการออกแบบการเงินระบบที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้และยืดหยุ่นให้เขาสามารถรองรับภาระได้ สอง กฎหมาย กติกา บางอย่างทำให้ชุมชนไม่สามารถที่จะพัฒนาให้สอดคล้องกับกฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ได้ ท้ายที่สุดต้องมีการออกกฎหมายลูก เพื่อให้สามาารถลดหย่อน คือความมั่นคงแข็งแรงเหมือนเดิม แต่ลดหย่อนในเรื่องของระยะไม่ว่าจะเป็นทางสัญจร ขนาดของบ้านทั้งหมด  ดังนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมและระบบพยายามสนับสนุนให้ชุมชนที่เป็นเจ้าของปัญหาเข้ามาเป็นเจ้าของในงานพัฒนาโครงการ 

อย่างไรก็ดี  ด้านกระบวนการทำงานของ พอช. พยายามให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดกลไกในแต่ละพื้นที่ แต่ละเมือง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและ สำหรับวางแผนและพัฒนาเรื่องต่าง ๆ ให้ไปในทิศทางที่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่เพียงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการ แต่โดยหลักคือทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง โดยใช้เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือในการนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น แม้แต่ในเรื่องภัยพิบัติเอง

ถัดมาที่ คุณวิทยา  สำหรับหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor :EEC)  มีการดำเนินที่ชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2561 มีพระราชบัญญัติกำหนดเรื่องของแผนการพัฒนาของพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งจะไม่เน้นในมิติของการพัฒนาความเจริญอุตสาหกรรมอย่างเดียวแต่เป็นการพัฒนาในองค์รวม อย่างในจังหัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง พยายามที่จะดำเนินการสร้างความเชื่อมต่อด้วยรถไฟความเร็วสูง เรื่องของโลจิสติกส์ พร้อมพัฒนาเพื่อพื้นที่ดึงดูดนักลงทุนต่าง ๆ โดยพันธกิจของ EEC เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่นั้นสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยตามหลักของ EEC ได้ดำเนินการส่วนของการลงทุนที่เกิดขึ้น ในปัจจุบัน EEC มีการทำโรดโชว์ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อเจาะกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มนักลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ดี มองว่าใน 3 ปีข้างหน้า การลงทุนพัฒนาความพร้อมของปัจจัยการลงทุนต่าง ๆ แล้วจะมีมิติที่ชักชวนการลงทุนไม่ใช่เป็นเรื่องของนักลงทุนรายใหญ่หรือผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเดียว แต่ทำให้เกิดกระบวนการจัดการการผลิต (Supply Chain) เข้าไปอยู่ในกลุ่มของชุมชนหรือวิสาหกิจจชุมชน เพื่อให้เกิดรายได้และต่อยอดให้แก่ชุมชน สำหรับเป็นกลไกสนับสนุนและสร้างเสถียรภาพการพัฒนาพื้นที่และชุมชน ซึ่งเราก็จะพัฒนาให้ได้ดีมากขึ้นกองทุนนี้จะถือวิสัยทัศน์ว่าเราจะส่งเสริมโอกาสให้ทุกการเติบโตร่วมกันในพื้นที่ EEC โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

ตามนโยบายหรือวัตถุประสงค์ 4 ด้าน คือ มิติที่ 1 คือพื้นที่และชุมชนที่จะช่วยเหลือและเยียวยาให้กับพื้นที่ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในพื้นที่ EEC เช่นเดียวกับมิติที่ 2 การส่งเสริมการศึกษาและให้ทุนการศึกษาสำหรับพื้นที่และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ EEC นอกจากนี้ มิติที่ 3 ด้านเสริมประสิทธิภาพจะส่งเสริมความรวดเร็วอย่าง IT ที่เกิดขึ้น และ มิติที่ 4 คือจะเป็นเรื่องด้านการบริหารกองทุนให้มีการบริหารจัดการที่ดี

นอกจากนี้ คุณวิทยา ระบุว่าการพัฒนาพื้นที่และชุมชน ได้มีการศึกษาผลกระทบและสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการพัฒนาพื้นที่โครงการในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ผ่านมาได้มีการใช้การศึกษาหลาย ๆ ด้าน เข้ามาร่วมช่วยในการพิจารณาโครงการ ซึ่งอาจแบ่งพื้นที่ออกเป็นพื้นที่สีแดง พื้นที่สีเหลือง และพื้นที่สีเขียว โดยพื้นที่สีแดงจะต้องเข้าไปเร่งรัด สำหรับเยียวยาแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้าใจในเชิงลึก เพราะมีผลกระทบกับความสำเร็จของโครงการและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ (แสดงรายละเอียดดังภาพ)

คุณวิทยา ยกตัวอย่างกรณีศึกษาเพิ่มเติมว่า นอกจากเเผนผังการใช้ประโยชน์แล้ว มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment : EHIA) ที่ได้ศึกษาผลกระทบของพื้นที่ ซึ่งหากจำแนกออกมาเป็นจังหวัดอาจพบพื้นที่เกิดปัญหามลพิษ เช่น อบต.หนองเเหน มีปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมและเมืองรอบทิ้งขยะกากอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ดี ด้านความเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยความร้อน ภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง จากข้อมูลสนับสนุนของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ช่วยให้การดำเนินงานของหน่วยงานได้เป็นอย่างมาก ในแง่ที่ว่าได้ระบุส่วนใดที่มีพื้นที่ที่ต้องเข้าไปดูแลและจัดการทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างครอบคลุมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


04 – ฉายภาพรวมเรื่องผังเมืองกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านงานวิจัยในปัจจุบัน

รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ระบุว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่ทำไม่ได้แล้วในเรื่องของการพัฒนาเมือง เนื่องจากการพัฒนาเมืองไม่ได้มองแค่นโยบาย แต่ควรลงถึงการลงทุนในการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติได้จริง ซึ่งควรถูกบรรจุไปในเรื่องของการใช้เงิน แหล่งเงินการสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ การมีโครงการขนาดใหญ่ การพัฒนาพื้นที่เหมือนเป็นการจัดโครงการระดับโลก

อย่างโครงการที่ รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ดำเนินการอยู่ร่วมกับมหาดไทยและกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็ได้เห็นถึงพัฒนาการของผังเมืองทั้งในเรื่องคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ขณะเดียวกันก็มีการตั้งรับปรับตัว (Resilience) เช่น เมืองต้องมีการปรับตัวต่อน้ำท่วมและน้ำแล้งให้ได้ จึงได้ร่วมกับอุตุนิยมวิทยาดำเนินการศึกษา เพราะช่องว่างขนาดใหญ่ในการศึกษา คือการขาดข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นส่วนกลาง เช่นกรณีการทำแผนที่ความเสี่ยง เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ทำขึ้นมา แต่มีการใช้ข้อมูลอยู่ในองค์กรที่มีการขับเคลื่อนนโยบาย ขณะที่ ข้อมูลที่ต้องพิสูจน์ขั้นตอนการวางแผนจริง ที่กฎหมายตรวจสอบได้และคณะกรรมการสามารถอ้างอิงได้นั้นยังไม่มี 

ดังนั้นการขับเคลื่อนจึงต้องเชื่อมโยงกันข้อมูลระหว่างกัน โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองในประเทศไทย ที่พัฒนาโดยการพัฒนาการขนส่ง (Transportation Development) อย่างมาก คือมีถนน มีเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ประเด็นคือ ผังเมือง ชุมชนหรือคนปรับตัวไม่ทัน ซึ่งงานวิจัยข้างต้นที่ทำอยู่จะไม่ได้มองแค่เรื่องของการลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แต่เป็นการคมนาคมที่ทำให้เมืองที่ถ้ามีน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง ก็ยังมีเส้นทางหลักที่คนยังเดินทางได้ และเพื่อลดผลกระทบโลจิสติกส์ รวมถึงการเข้าถึงขนส่งของชุมชน ซึ่งงานวิจัยแนวนี้ประเทศไทยยังไม่ค่อยถูกกล่าวถึงมากเท่าไหร่นัก ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวด (Critical Infrastructure – CI) ซึ่งแนวคิดนั้นได้ถูกพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามความมุ่งหวังของเมือง ซึ่งรวมถึงเรื่องกลุ่มเปราะบางด้วย โดยจะมุ่งเน้นดูไปที่ภาคส่วนที่อาจอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเป็นหลัก


05 – การมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วนกับศักยภาพของดัชนีความเปราะบางทางสังคมที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้

จากการพัฒนาประยุกต์ SoVI ในบริบทของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีศักยภาพที่สามารถจะถูกนำไปประยุกต์กับการทำงานของแต่ละองค์กรที่ท่านมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง

เริ่มต้นที่ คุณอัญชลี จากที่ รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ได้นำเสนอดัชนีความเปราะบางทางสังคมประมาณ 80% นั้นกรมโยธาธิการและผังเมืองใช้อยู่แล้วในการวางผังด้านกายภาพซึ่งไม่แตกต่างกัน เช่น จำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์หรือประชากรแฝงหรือโครงสร้างอายุประชากร แต่ข้อมูลด้านสังคมที่เกี่ยวกับความเปราะบางที่ไม่มีข้อมูลในเชิง ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) ค่อนข้างมีปัญหาเล็กน้อย และเนื่องจากว่าสภาพสังคมบ้านเราในเรื่องของการศึกษา สถานพยาบาล ไม่เท่าเทียมกันทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ ฉะนั้นเวลาวางผังแต่ละพื้นที่จะมีการข้ามเขตและหาข้อมูลค่อนข้างยาก แต่ที่นำมาใช้หลัก ๆ คือเรื่องของพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้ง ไฟป่า ที่ได้นำข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งสามารถนำมาจัดทำข้อมูลได้ เพราะหลักคิดของการวางผังเมือง คือต้องค้นหาข้อมูลให้ได้มากที่สุดถึงจะวางผังได้เหมาะสมที่สุด ซึ่งไม่มีคำว่าถูกหรือผิดในเชิงการวางผัง แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสมและการก่อให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุดกับพื้นที่และประชาชน อย่างเรื่องของผังภูมิสังคม ณ ขณะนี้อยู่ในช่วงที่เราจะพัฒนาไปสู่ระบบฐานข้อมูลของชุมชน คือถ้าข้อมูลตรงนี้ชัดเจนและถูกต้องระดับหนึ่งที่จะสามารถทำให้เราเข้าใจพื้นที่เปราะบางกับพื้นที่ที่เกิดภัยว่าจะเกิดในพื้นที่ไหนมากน้อยเพียงใด ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพการของพื้นที่นั้น

ขณะที่ คุณทิพย์รัตน์ ให้ข้อคิดเห็นในส่วนนี้ว่าชื่นชมในส่วนของ SoVI โดยเข้าใจว่าเป็นการศึกษาที่ได้ทำมาอย่างเข้มข้น คิดว่าเรื่องที่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเเต่ละเมืองได้เข้าใจถึงเรื่องนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์สำคัญในการวางแผนในการพัฒนาเมือง แต่โดยกระบวนการมีส่วนร่วมอยากเพิ่มเติมเรื่องของภาคประชาสังคม อยากให้มีชุมชนมีส่วนสำคัญ เพราะชุมชนเป็นทั้งเป็นเจ้าของข้อมูลและคนให้ข้อมูล ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ผู้ตอบข้อมูลหรือให้ข้อมูล แต่ต้องการให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาพื้นที่ร่วมกันในเมือง เพื่อเกิดแผนของเมือง แผนของการตั้งถิ่นฐานของทุกชุมชนในเมือง ให้เป็นที่สำหรับทุก ๆ กลุ่มคนได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ในการวางแผนและเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ โดยเป็นภาษาเข้าใจได้โดยง่าย เพื่อให้สามารถวิเคราะห์พื้นที่ของตนเองได้ เพื่อสร้างการพัฒนาและการรองรับให้แก่ชุมชน ดังนั้นชุมชนจึงมีสิทธิในการมีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจ

สุดท้ายนี้ คุณวิทยา ให้ข้อคิดเห็นว่าการศึกษาดัชนีความเปราะบางทางสังคมมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากช่วยบ่งชี้หรือค้นหาพื้นที่ที่ต้องการการสนับสนุนหรือโครงการช่วยเหลือ เยียวยาในพื้นที่ผลกระทบ ซึ่ง SoVI นั้นไม่เพียงช่วยในการวางแผนการใช้ที่ดิน แต่ลงไปถึงการสร้างความชัดเจนทางแผนปฏิบัติการให้เกิดขึ้นจริง เพราะสามารถชี้ให้เห็นว่าจุดใดเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง ซึ่งช่วยขยายจากด้านกายภาพให้เกิดความชัดเจนขึ้น ไม่เพียงว่ามีน้ำท่วมที่ใด แต่ระบุถึงความสุ่มเสี่ยงหรือผลกระทบที่คนบางกลุ่มจะได้รับมากที่สุด เพื่อที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้เข้าไปแก้ปัญหาได้ ซึ่งมองว่ามีความสำคัญและมีความท้าทายอย่างมากต่อคณะวิจัย ซึ่งหากงานนี้ถูกขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ นอกจากกรุงเทพฯและปริมณฑล จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อหน่วยงานต่าง ๆ หรือสังคงอย่างเป็นวงกว้างในด้านข้อมูลที่ได้ดำเนินการศึกษา


จากมุมมองของวิทยากรทั้ง 4 ท่าน จะเห็นได้ว่าการมองภาพของเรื่องการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีผลต่อการพัฒนาและสร้างผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางทางสังคมในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก เพราะพื้นที่ยังต้องการการบูรณาการทางข้อมูลเหล่านั้นสำหรับพัฒนาพื้นที่ให้ครอบคลุมและสร้างโอกาสอย่างเป็นรูปธรรมให้แก่คนทุกกลุ่ม

การเสวนาทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจากมุมมองของผู้ทำงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และนักวิจัย จากบทสนทนาดังกล่าวย่อมสร้างผลต่อการขับเคลื่อนในอนาคตไม่มากก็น้อย ซึ่งการร่วมถกสนทนาเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความร่วมมือและหาทางออกร่วมกันแบ่งปัญหาวิธีการจัดการอุปสรรคที่เกิดขึ้น ด้วยเครื่องมือและความเชี่ยวชาญที่มีของแต่ละฝ่าย เวทีนี้จึงเป็นพื้นที่เปิดประเด็นให้หน่วยงานได้กลับไปขบคิดต่อไปในการดำเนินการเรื่องความเปราะบางทางสังคมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการวางแผนการใช้ประโยชน์ของที่ดิน

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


อ่านสรุปจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะได้ : ที่นี่ 
รับชมวิดีโอบันทึกจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะได้ : ที่นี่

SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy)  6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

Last Updated on พฤษภาคม 7, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น