Policy Brief | บำบัดน้ำเสีย จัดการน้ำดี เพื่อสุขภาวะของคนเเละสิ่งเเวดล้อม วิเคราะห์และให้ข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านกรอบ “INSIGHT” โครงการย่อยที่ 2  (เป้าหมายย่อยที่ 6.3) 

​​เป้าหมายย่อยที่ 6.3 หรือ SDG 6.3 (ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2573) เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ได้รับการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการ “การวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของกลุ่มการจัดการของเสียและมลพิษ” โดยมีที่มาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานะที่มีการพัฒนาอย่างไม่คืบหน้า เพราะหากพิจารณา SDG Index 2023 พบว่า SDG 6.3 เป้าหมายย่อยที่มีความท้าทายมากหรืออยู่ในสถานะสีแดง ในขณะที่เป้าหมายย่อยอื่นของ SDG 6 กลับอยู่ในสถานะที่บรรลุเป้าหมายแล้วหรืออยู่ในสถานะสีเขียว จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการศึกษาและแสวงหาแนวนโยบายที่จะช่วยขยับขับเคลื่อน SDG 6.3  ให้มีสถานะที่ก้าวหน้าและดีขึ้น

การศึกษาช่องว่างของอุปสรรคเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายภายใต้โครงการวิจัยนี้ ดำเนินงานภายใต้กรอบการวิจัยที่เรียกว่า SDG System Buildings Blocks ซึ่งมองเรื่องการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ โดยอาจเรียกกรอบแนวคิดอย่างย่อว่า “INSIGHT” ซึ่งประกอบด้วย 7 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ความสอดคล้องกันของกฎกติกาและนโยบายที่เกี่ยวข้อง (I: Institutional and Policy Coherence) 2) เครือข่ายและความร่วมมือในการผลักดัน (N: Network and Partnership) 3) องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง (ทั้งทางวิชาการ ประสบการณ์ทำงาน และภูมิปัญญาท้องถิ่น) และเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จำเป็น (S: Science, Technology, and Innovation) 4) ระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้น (เช่น ฐานข้อมูล แหล่งข้อมูลสถิติ แหล่งข้อมูล ความรู้ ฯลฯ) ที่เข้าถึงได้ง่ายและมีการอัพเดทต่อเนื่อง (I = Information System and Statistic) 5) ระบบบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายย่อย 6.3 และผู้รับผิดชอบ/ผู้นำในการขับเคลื่อน (G: Governance and Leadership) 6) ทรัพยากรมนุษย์และการเสริมสร้างศักยภาพ (H: Human Resource and Capacity Building) และ7) ทรัพยากรทางการเงินสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนา (T: Treasury)

งานวิจัยข้างต้นมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ โดยแบ่งตามแนวคิด “INSIGHT” ดังนี้ 

  • I – Institutional and Policy Coherence: ตัวชี้วัดที่ 6.3.1 (สัดส่วนของน้ำเสียครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่ได้รับการบำบัดอย่างปลอดภัย) มีข้อค้นพบ ได้แก่ 1) ไม่มีกฎหมาย (เทศบัญญัติ) รองรับการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย และ 2) ไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการรายงานปริมาณน้ำเสีย ส่วนข้อค้นพบต่อตัวชี้วัดที่ 6.3.2 (สัดส่วนของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพที่ดี (เช่น มหาสมุทรทะเล ทะเลสาบ แม่น้ำ ธารน้ำ คลอง หรือสระน้ำ) คือ ควรมีการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งให้เหมาะสมในบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น ลุ่มน้ำตอนบนอาจจำเป็นต้องรักษาคุณภาพน้ำให้อยู่ในระดับดี-ดีมาก
  • N – Network and Partnership: ตัวชี้วัดที่ 6.3.1 มีข้อค้นพบ ได้แก่ 1) หน่วยงานรับผิดชอบหลัก ขาดการสื่อสารกับหน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง และ 2) ความร่วมมือในการปฏิบัติการข้อบังคับ/ระเบียบต่าง ๆ และข้อค้นพบต่อตัวชี้วัดที่ 6.3.2 คือ ส่งเสริมความตระหนักในเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความร่วมมือในสังคม
  • S – Science, Technology, and Innovation: ตัวชี้วัดที่ 6.3.1 มีข้อค้นพบ คือ ระบบการรายงานคุณภาพน้ำเสีย (BOD online) ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมทุกโรงงานอุตสาหกรรม และ ข้อค้นพบต่อตัวชี้วัดที่ 6.3.2 คือ ควรมีการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร และความตระหนักในเรื่องการปล่อยน้ำเสีย เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้ใช้น้ำที่ต้องการน้ำที่มีคุณภาพในการเพาะปลูกเช่นกัน
  • I – Information System and Statistic: ตัวชี้วัดที่ 6.3.1 มีข้อค้นพบ คือ ไม่มีกฎหมาย (เทศบัญญัติ) รองรับการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย และ ตัวชี้วัด 6.3.2 คือ ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากคุณภาพน้ำไปที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) แต่เป็นข้อมูลที่ยังไม่พร้อมใช้สำหรับการรายงาน SDG 6.3.2
  • G – Governance and Leadership: ตัวชี้วัดที่ 6.3.1 มีข้อค้นพบ ได้แก่ 1) ควรมีหน่วยงานกลางที่รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งควรมีการรักษาความลับของข้อมูลเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย และ 2) ไม่พบการรายงานน้ำเสียและน้ำเสียที่ได้รับการบำบัดจากภาคเกษตรกรรม ส่วนตัวชี้วัดที่ 6.3.2 มีข้อค้นพบคือ ผู้ใช้น้ำในลุ่มน้ำตอนบน มีส่วนช่วยเพิ่ม ขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ (Carrying Capacity: CC)  ของลุ่มน้ำตอนกลางและตอนล่าง หากคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำตอนบนอยู่ในระดับประเภท 1-2
  • H – Human Resource and Capacity Building: สำหรับตัวชี้วัดที่ 6.3.1 มีข้อค้นพบ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นควรมีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย และ ตัวชี้วัดที่ 6.3.2 มีข้อค้นพบคือ ส่งเสริมศักยภาพของหน่วยงานท้องถิ่นในการดูแลรักษาแหล่งน้ำ
  • T – Treasury: ตัวชี้วัดที่ 6.3.1 มีข้อค้นพบ คือ งบประมาณที่แต่ละหน่วยงานได้รับในปัจจุบัน ไม่เพียงพอต่อการยกระดับ SDG 6.3.1 เช่น ขาดงบประมาณในการจัดการดูแลและซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน จึงทำให้หยุดดำเนินการบางแห่ง หรือการขาดงบประมาณในการติดตาม น้ำเสียภาคอุตสาหกรรม และ ตัวชี้วัด 6.3.2 มีข้อค้นพบ คือ งบประมาณที่แต่ละหน่วยงานได้รับในปัจจุบัน ไม่เพียงพอต่อการยกระดับ SDG 6.3.2 อาทิ ขาดงบประมาณในการบำรุงรักษา สถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติ ทำให้บางแห่งชำรุดทรุดโทรม รวมถึงงบประมาณในการจ้างหน่วยงานภายนอกในการสำรวจติดตามคุณภาพแหล่งน้ำ

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังให้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญต่อเป้าหมายย่อยที่ 6.3 โดยแบ่งเป็นสองด้าน ดังนี้

1) ข้อเสนอด้านการรายงานข้อมูล ได้แก่ 

  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีความเข้าใจไม่ตรงกันในการรายงานตัวชี้วัด และต้องมีหน่วยงานหลักเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูลซึ่งควรจัดทำระบบการรายงานที่ให้ทุกหน่วยงานสามารถรายงานค่าได้และอาจตั้งระดับการเข้าถึงระบบการรายงานข้อมูล
  • ภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างกังวลกับการรายงานข้อมูลด้านน้ำ (ทั้งน้ำใช้และน้ำเสีย) และหน่วยงานรับผิดชอบหลักหรือหน่วยงานสนับสนุน ยังไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้ในการรายงานด้านน้ำเสียของภาคอุตสาหกรรม
  • ควรมีหน่วยงานกลางที่รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งควรมีการรักษาความลับของข้อมูลเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย

2) ข้อเสนอด้านกฎหมาย/กฎระเบียบ ได้แก่

  • หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักและหน่วยงานสนับสนุนการรายงานเป้าหมายย่อยที่ 6.3 ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายภารกิจอย่างเป็นทางการ หรือภารกิจไม่ครอบคลุมกับการรายงานตัวชี้วัดของเป้าหมายย่อยที่ 6.3 ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎระเบียบหรือข้อบังคับใด ๆ ให้ต้องรายงานตัวชี้วัดได้ 
  • ไม่มีกฎหมายน้ำเสียที่เป็นเอกเทศชัดเจนต่างจากเรื่องขยะ ที่มีพระราชบัญญัติจัดการขยะ และมีแผนที่นำทาง รวมถึงบทลงโทษที่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนการจัดการน้ำเสีย ยึดตาม พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 โดยปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายลำดับรองที่ชัดเจนเฉพาะสำหรับน้ำเสีย โดยน้ำเสียอุตสาหกรรม อยู่ภายใต้ประกาศลำดับรองของ พ.ร.บ.โรงงาน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถบังคับให้ผู้ประกอบการรายงานข้อมูลได้ 
  • ควรปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งให้เหมาะสมในบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น ลุ่มน้ำตอนบนอาจจำเป็นต้องรักษาคุณภาพน้ำให้อยู่ในระดับดี-ดีมาก
  • ควรปรับปรุงกฎหมายที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ใช้ในสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะพื้นที่ท้ายหมู่บ้านจัดสรร 
  • ควรจัดทำร่างกฎหมายการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากมีความต้องการใช้จากภาคอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะในเขต จ.สมุทรปราการ) แต่การส่งน้ำไปยังภาคอุตสาหกรรมต้องผ่านทางท่อที่ไม่ปนเปื้อนกับแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำน้ำประปา

กล่าวโดยสรุป การจัดการบำบัดน้ำเสียและดูแลคุณภาพให้คงคุณภาพที่ดี มีความสะอาด ไม่กระทบต่อชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อม นั้นจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยขับเคลื่อนหลายปัจจัย โดยเฉพาะการทำงานอย่างขันแข็งของหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก การมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ รวมถึงการมีกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การยกระดับและขับเคลื่อน SDG 6.3 ให้มีความก้าวหน้าและอยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้

อติรุจ ดือเระ– ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2573

Policy Brief ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy)  6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น