ท่ามกลางบริบทที่องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างเห็นพ้องว่า “ระบบระหว่างประเทศ” ซึ่งเคยเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนกำลังเผชิญความท้าทายอย่างหนักจากนโยบายของรัฐและประเทศมหาอำนาจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ได้เผยแพร่ ‘รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2567/68’ โดยรวบรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งในอัฟกานิสถาน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ไปจนถึงกรณียังมีการพิจารณาคดีและตัดสินจำคุกนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยของประเทศไทย
เหตุการ์การสังหารผู้ปกป้องสิทธิในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้รายงานเผยว่าในปี 2567 สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลกสะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวลหลายประการ ทั้งการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในพื้นที่ความขัดแย้งด้วยอาวุธ การปราบปรามผู้เห็นต่าง การเลือกปฏิบัติ ความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีโดยมิชอบเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี แม้จะมีพัฒนาการเชิงบวกเกิดขึ้นบ้าง แต่แนวโน้มโดยภาพรวมกลับสะท้อนความถดถอยที่อาจ ‘เลวร้ายขึ้น’ ในปี 2568 และต่อไปในอนาคต พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะรัฐมหาอำนาจ ยังคงบ่อนทำลายระบบที่ตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์สากล และการปฏิบัติแบบอำนาจนิยมยังคงแพร่กระจายในหลายภูมิภาคทั่วโลก
สรุปภาพรวมประเด็นสำคัญของแนวโน้มสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก เช่น
- สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกยังถูกจำกัดในหลายประเทศ เช่นในประเทศอินโดนีเซีย เนปาล และปาปัวนิวกินี คนทำงานด้านสื่อต้องเผชิญกับความรุนแรงและการข่มขู่คุกคาม ขณะที่ในอัฟกานิสถาน มีการออกคำสั่งปิดสำนักงานของสื่อเพิ่มขึ้น เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตาลีบัน นอกจากนี้ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในหลายประเทศยังคงเผชิญกับการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยในประเทศไทยยังมีการพิจารณาคดีและตัดสินจำคุกนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงการใช้กฎหมายอื่น ๆ ที่มีลักษณะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเข้มงวด
- สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงและการสมาคม หลายรัฐบาลในภูมิภาคยังคงใช้มาตรการที่มุ่งปราบปราม การชุมนุมประท้วง เช่นในฟิลิปปินส์ รัฐบาลยังคงมีปฏิบัติการโจมตีกลุ่มนักกิจกรรมและองค์กรที่ถูก “ขึ้นบัญชีแดง” ที่ถูกกล่าวหาว่าเชื่อมโยงกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ถูกสั่งปิดไปแล้ว ส่วนทางการฮ่องกงยังคงใช้กำลังตำรวจในการสกัดกั้นไม่ให้มีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์การปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนหนึ่งถูกจับกุม
- สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ออสเตรเลียถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยได้เสนอแผนขยายการผลิตถ่านหินและก๊าซภายในปี 2573 แทนที่จะลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่อินโดนีเซีย ร่างกฎหมายและข้อบังคับด้านพลังงานถูกวิจารณ์ว่าไม่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานสะอาดและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
- สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในอัฟกานิสถาน สถานการณ์ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กำลังถดถอยลงอย่างมาก ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และประชากรราว 85% มีรายได้ต่ำกว่าหนึ่งดอลลาร์สหรัฐต่อวัน การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงและเด็กหญิง ซึ่งสหภาพยุโรปเตือนว่ามีเพียง 10% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานได้
ท้ายที่สุดนี้ ยังมีอีกหลากหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกที่ถูกรวบรวมไว้ในรายงานดังกล่าว ซึ่งล้วนสะท้อนข้อเท็จจริงสำคัญว่า ภาคประชาสังคมยังคงเป็นแนวหน้าในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับระบอบอำนาจและกลไกผลประโยชน์ที่ละเมิดศักดิ์ศรีของผู้คนอย่างต่อเนื่อง การลุกขึ้นต่อต้านอย่างเป็นระบบจึงไม่ใช่เพียงทางเลือกหนึ่งในหลายทาง หากแต่คือ “ทางเลือกเดียวที่ชอบธรรม” ในการต่อสู้กับระบอบอำนาจและกลไกผลประโยชน์ที่คุกคามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– แอมเนสตี้ เผยสถานการณ์โทษประหารชีวิตปี 2566 สถิติทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20% สูงสุดรอบ 10 ปี โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง
– เผยแพร่แล้ว! รายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี 2567 – Human Rights Watch ชี้การปราบปรามโดยรัฐในเอเชียเพิ่มขึ้น กังวลระบอบประชาธิปไตยยังคงถูกทำลาย
– SDG Recommends | ผ่านไปแล้ว 1 ปีร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย กับการรอเสนอเข้าสภาฯ ที่ไม่มีกำหนด
– SDG Recommends | รายงานร่วมตามกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) โดย FIDH iLaw ศูนย์ทนายสิทธิฯ และ สสส.
– SDG Updates | SDG 16 กับการบังคับให้สูญหายในบริบทประเทศไทย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
– (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
Last Updated on พฤษภาคม 9, 2025