เผยแพร่แล้ว! รายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี 2567 – Human Rights Watch ชี้การปราบปรามโดยรัฐในเอเชียเพิ่มขึ้น กังวลระบอบประชาธิปไตยยังคงถูกทำลาย

วันที่ 11 มกราคม 2566 Human Rights Watch เผยแพร่รายงานการทบทวนสิทธิมนุษยชนระดับโลกประจำปี 2567 (World Report 2024: Our Annual Review Of Human Rights Around The Globe) นับเป็นฉบับที่ 34 มีความยาวทั้งสิ้น 740 หน้า

รายงานข้างต้นชี้ว่าการปราบปรามที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลในเอเชียกำลังส่งผลเสียต่อสิทธิมนุษยชนทั้งระดับท้องถิ่นและระหว่างประเทศ โดยเอเชียนั้นมีความแตกต่างจากยุโรป แอฟริกา และอเมริกา เนื่องจากไม่มีกฎบัตรสิทธิมนุษยชนหรือสถาบันที่เข้มแข็งระดับภูมิภาคในการป้องมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ดังเห็นได้ว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนได้รับการพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไม่สามารถจัดการกับวิกฤติสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคได้ โดยเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากวิกฤติในเมียนมา

นอกจากนี้ ยังพบว่าระบอบประชาธิปไตยในเอเชียยังคงถูกบั่นทอนตลอดปี 2566 ทั้งหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมของไทย ซึ่งพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดถูกขัดขวางไม่ให้จัดตั้งรัฐบาลโดยวุฒิสภาที่ทหารแต่งตั้งและกลไกอื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยรัฐบาลทหาร หรือการเลือกตั้งในกัมพูชาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วไม่อาจนับเป็นการเลือกตั้งได้ เนื่องจากรัฐบาลปิดกั้นไม่ให้พรรคฝ่ายค้านหลักลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งการเลือกตั้งในบังกลาเทศในปีนี้ ซึ่งทางการได้เพิ่มความเข้มข้นในการโจมตีฝ่ายค้านทางการเมือง โดยจับกุมผู้เห็นต่างและสมาชิกฝ่ายค้านกว่า 10,000 คน

ข้อค้นพบอื่น ๆ ที่น่าสนใจในรายงานเช่น

  • เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเวียดนามและอินเดีย ขยายการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามอำเภอใจ รวมถึงนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม
  • รัฐบาลเผด็จการของเกาหลีเหนือปิดพรมแดนและปิดรับประชากรเกือบทั้งหมดจากส่วนอื่น ๆ ของโลก ส่งผลให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเลวร้ายของประเทศแย่ลง
  • รัฐบาลจีนยังคงดำเนินอาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อต้านชาวอุยกูร์และมุสลิมเติร์กคนอื่น ๆ ในซินเจียง
  • รัฐบาลอัฟกานิสถานโดยกลุ่มตอลิบานยึดมั่นในการจำกัดสิทธิอันเข้มงวด โดยเฉพาะกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
  • บทบาทของรัฐบาลญี่ปุ่นในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยังคงนิ่งเงียบในเรื่องสิทธิ และปฏิเสธที่จะกำหนดหรือบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

เอเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการ Human Rights Watch ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวในการเปิดตัวรายงานระดับโลกฉบับนี้ว่า “ประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นในเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ล้มเหลวในการเป็นผู้นำเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคหรือในโลก”

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
 นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงใน SDG Summit 2023 ประกาศไทยมุ่งมั่นส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ
กรมคุ้มครองสิทธิฯ ชวนแสดงความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. สิทธิมนุษยชน ฉบับใหม่ เผยสาระสำคัญ  ‘ปชช.มีเสรีภาพกำหนดสถานะทางการเมือง’
ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ สมัยที่ 52 ไทยประกาศลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ – ให้คำมั่นจะพัฒนาหลักการเสรีภาพเเละความยุติธรรม
SDG Recommends | รายงานร่วมตามกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) โดย FIDH iLaw ศูนย์ทนายสิทธิฯ และ สสส.
ไทยเตรียมเสนอ ‘รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย’ รอบที่ 3 ต่อ UNHRC

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

แหล่งที่มา : Asia: Regional Leadership Needed on Human Rights (Human Rights Watch)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น