การประชุม “Our Ocean Conference ครั้งที่ 10” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 – 30 เมษายน พ.ศ. 2568 ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ได้เปิดเวทีการประชุมรวมผู้แทนจากหลากหลายประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาครัฐและองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ ทั้งภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชน ภายใต้แนวคิด “Our Ocean, Our Action,”
การประชุมครั้งนี้ได้มีการบรรลุความตกลงใหม่ร่วมกันจำนวน 277 ข้อผูกพันในการดำเนินงานด้านมหาสมุทรที่ยั่งยืน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มเติมจากเงิน 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ได้มีการระดมมานับตั้งแต่การเปิดตัวการประชุม Our Ocean ครั้งแรกในปี 2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม วัดผลได้ และเกิดผลกระทบเชิงบวกใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ พื้นที่คุ้มครองทางทะเล เศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางทะเล การจัดการประมงที่ยั่งยืน และมลพิษทางทะเล โดยประเทศเจ้าภาพอย่างเกาหลีใต้ได้ประกาศแผนปฏิบัติการ “Korea Blue Action Plan” ซึ่งประกอบด้วยข้อริเริ่มอันทะเยอทะยาน 76 ประเด็นในการดำเนินการเพื่อมหาสมุทรที่ยั่งยืน
สรุปประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นจากการอภิปรายในการประชุม ได้ดังนี้
- การส่งเสริมมหาสมุทรดิจิทัล (digital oceans) หรือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการติดตาม วิเคราะห์ และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล โดยเน้นการสำรวจว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถช่วยขับเคลื่อนการดำเนินการใหม่ ๆ ในมหาสมุทรอย่างไร และความจำเป็นในการร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเร่งผลักดันความก้าวหน้านี้
- การพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ยั่งยืน ในฐานะประเด็นหลักที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างรับผิดชอบ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนชายฝั่งอย่างยั่งยืน
- การให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D)
- การสนับสนุนขนส่งสินค้าทางเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green shipping) และแนวทางในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Nature-based Solutions: NbS) ภายใต้กรอบการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรกับสภาพภูมิอากาศ
- การขยายการเสริมสร้างศักยภาพ (capacity building) และพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas: MPAs)
- การแก้ไขปัญหามลพิษทางทะเล (marine pollution) มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาพลาสติกในท้องทะเล ประเทศต่าง ๆ กำลังปรับปรุงระบบการจัดการของเสีย บริษัทเอกชนกำลังพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลรูปแบบใหม่ ขณะเดียวกันภาคประชาสังคม มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับปัญหานี้ผ่านการรณรงค์และกิจกรรมอาสาสมัครต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีการประชุมครั้งสำคัญที่ปูทางไปสู่การประชุมมหาสมุทรของสหประชาชาติ ครั้งที่ 3 (UNOC3) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส โดยมีฝรั่งเศสและคอสตาริกาเป็นเจ้าภาพร่วมจัดในเดือนมิถุนายนปี 2568 โดยการประชุม UNOC3 คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการเร่งรัดการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนร่วมแสวงหาหนทางและแนวทางใหม่ ๆ ในขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านทรัพยากรทางทะเลได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รัฐบาล-เอกชนทั่วโลก ผนึกกำลังขับเคลื่อน 410 ข้อผูกพัน เพื่อการพัฒนามหาสมุทรที่ยั่งยืน ในการประชุม Our Ocean Conference 2022
– ทั่วโลกหารือออนไลน์ เตรียมพร้อมการประชุม INC – 5.2 หวังให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกก้าวหน้าและได้รับการรับรองจากประเทศต่าง ๆ มากที่สุด
– ทศวรรษแห่งสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับ 4 โซลูชันจากโครงการ Flagship ที่ออกสำรวจใต้ท้องทะเลลึก
– เสียงส่วนใหญ่ใน IUCN World Conservation Congress เห็นชอบห้ามทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกชั่วคราว
– คุณภาพระบบนิเวศทะเลไทยอาจวิกฤติ หาก “ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล” ยังไม่ถูกจัดการอย่างยั่งยืน
– SDG Insights | ขยะพลาสติกในทะเล: ความพยายามของภูมิภาคอาเซียน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.7) ภายในปี 2573 เพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่รัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็กและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจากการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน รวมถึงการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนในเรื่องการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยว
– (14.a) เพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเลของคณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาล เพื่อจะพัฒนาคุณภาพมหาสมุทรและเพิ่มพูนให้ความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็กและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
#SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.7) ส่งเสริมการพัฒนา การถ่ายทอด และการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศกำลังพัฒนาภายใต้เงื่อนไขที่อำนวยประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งตามเงื่อนไขสิทธิพิเศษตามที่ตกลงร่วมกัน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา :
– Our Ocean Conference Mobilizes 277 New Commitments Worth USD 9.1 Billion (IISD)
– 10thOurOceanConference – 10th our ocean conference (ourocean2025)