คุณภาพระบบนิเวศทะเลไทยอาจวิกฤติ หาก “ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล” ยังไม่ถูกจัดการอย่างยั่งยืน

ผศ.จิตราภรณ์ ฟักโสภา

ปัญหาขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากแนวโน้มการเกิดขยะพลาสติกนั้นมีมากขึ้นทุก ๆ ปี มีงานวิจัยที่เผยว่าช่วงเวลาที่ผ่านมามีปริมาณขยะพลาสติกรั่วไหลสู่ท้องทะเลมากกว่า 13 ล้านตันต่อปี โดยในปัจจุบันสภาพพื้นที่ของสังคมในหลาย ๆ ประเทศกำลังถูกยึดครองด้วยกองขยะที่ไร้หนทางแก้ไขจนก่อให้เกิดมลพิษจากขยะพลาสติกในหลายด้าน นับเป็นอันเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้ สำหรับประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาดังกล่าวไม่น้อยกว่าประเทศอื่นในโลก จากการรายงานของ Jemback et al [1] ระบุว่าประเทศไทยสร้างปริมาณขยะทางทะเลและขยะมูลฝอยสูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศที่มีปริมาณขยะเยอะที่สุดในโลก มีขยะมากถึง 27.40 ล้านตันต่อปี และในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกมากถึง 2 ล้านตัน จากข้อมูลดังกล่าวทำให้รัฐบาลยกประเด็นปัญหาขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ และทำให้เกิดการตื่นตัวในการจัดการขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกมากขึ้น


ขยะทะเลมาจากไหน?

แหล่งที่มาของขยะทะเลสามารถพบจากกิจกรรมบนบกและชายฝั่ง (ชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง บริเวณท่าเรือ การท่องเที่ยวชายหาด) คิดเป็นร้อยละ 80 และจากกิจกรรมในทะเล (การขนส่งทางทะเล การประมง การท่องเที่ยวทางทะเล) คิดเป็นร้อยละ 20 ซึ่งขยะเหล่านี้อาจถูกลม กระแสน้ำ คลื่นทะเล หรือฝน นำพาหรือพัดพาขยะให้แพร่กระจายออกไปในทะเลหรือแม้แต่พัดพาจากทะเลขึ้นสู่ชายฝั่ง หรืออาจเกิดจากการตั้งใจทิ้งขยะลงไปในทะเลโดยมนุษย์  

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในช่วง พ.ศ. 2555 – 2562 ปริมาณขยะมูลฝอยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มีแนวโน้มลดลงใน พ.ศ. 2563 – 2564 [2] เหลือประมาณ 24 – 25 ล้านตันต่อปี จากสภาพปกติประมาณ 27 – 28 ล้านตันต่อปี อาจเป็นเพราะสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศลดลง กระนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวกลับพบปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่า 50% ในเขตกรุงเทพฯ และมากกว่า 20% ในเมืองอื่น ๆ โดยในเดือนกุมภาพันธ์  2566 ที่ผ่านมางานวิจัยของ Lourens J.J. Meijer ได้รายงานอันดับประเทศมีขยะลงทะเล โดยประเทศไทยติดอันดับที่ 10 ของโลกที่มีขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก (2.3 หมื่นล้านตัน/ปี) [3]

องค์ประกอบของขยะทะเลที่พบ 10 อันดับแรกของทะเลไทย ได้แก่ ขวดพลาสติกเครื่องดื่ม (ร้อยละ 22.00%) ถุงพลาสติก (ร้อยละ 19.42%) ขวดเเก้ว (10.96%) ห่อ/ถุงขนม (7.97%) เศษโฟม (7.55%) กระป๋องเครื่องดื่ม (7.46%) กล่องอาหารประเภทโฟม (6.92%) หลอด (6.45%) ฝาพลาสติก (5.67%)  เชือก (5.61%) จะพบว่าขยะจำพวกพลาสติกและโฟมมากกว่าร้อยละ 50% (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2563) [4]

ในปี  2564 มีขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้น 24.98 ล้านตัน หรือ 68,434 ตัน/วัน พบเป็นขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 11 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2.76 ล้านตัน เป็นขยะที่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.55 ล้านตัน (ร้อยละ 20) ส่วนที่ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ 2.13 ล้านตัน (ร้อยละ 77) โดยส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single – use plastics) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร และส่วนที่เหลืออีกประมาณ 0.08 ล้านตัน (ร้อยละ 3) ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่ามีขยะพลาสติกประมาณ 6,300 ตัน/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ของปริมาณขยะพลาสติกเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันในสถานการณ์ปกติ เนื่องจากประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น ประกอบกับการคัดแยกขยะมูลฝอยเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) น้อยลง เพราะหวั่นเกรงขยะมูลฝอยติดเชื้อที่ทิ้งปะปนมากับขยะมูลฝอยชุมชน (กรมควบคุมมลพิษ, 2564) [5]

พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ในกระบวนการผลิตพลาสติกส่วนใหญ่จะมีการใส่สารเติมแต่งบางชนิด อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์อีกด้วย ปัญหาขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเกิดจากขาดการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกขยะพลาสติกหรือการกำจัดขยะพลาสติก อีกทั้ง ขยะพลาสติกมักจะถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะมูลฝอยอื่น ๆ ซึ่งขยะพลาสติกมีความคงทนและสามารถทนต่อแรงอัดได้สูง จึงใช้พื้นที่และเวลาในการย่อยสลายค่อนข้างมากเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี และขยะพลาสติกมักก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ปัญหาขยะลอยในแม่น้ำ ลำคลอง โดยบางส่วนไหลลงสู่ทะเลก่อให้เกิดปัญหาเศษขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกซึ่งมีขนาดเล็กมากที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สามารถแพร่กระจายและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นในแหล่งน้ำจืด แม่น้ำ ชายหาด น้ำทะเล ดินตะกอน และในสัตว์ทะเลอีกด้วย ตัวอย่างการศึกษาไมโครพลาสติกในประเทศไทย เช่น น้ำทะเล (บริเวณอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี) 0.33 ชิ้นต่อลูกบาศ์เมตร ชายหาด (บริเวณเกาะลิบง จ.ตรัง) 25 ชิ้นต่อตารางเมตร หอยแมลงภู่ (บริเวณ จ.ชลบุรี) 0.20 ชิ้นต่อตัว ปลาปากคม (บริเวณจังหวัดระยอง) 0.43 ชิ้นต่อตัว เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดตามห่วงโซ่อาหารและส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์จากการบริโภคสัตว์น้ำที่มีการปนเปื้อน รวมทั้งยังสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย 


อันตรายจากขยะทะเล

ขยะทะเลสร้างอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต ทั้งจากการผูกมัดติดกับร่างกายของสัตว์ทะเล การกลืนกินขยะทะเล เพราะคิดว่าเป็นอาหาร ซึ่งขยะเหล่านี้ไม่สามารถย่อยได้หรือย่อยได้ยากมาก และถ้าขยะที่มีลักษณะแหลมคมสามารถเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารของสัตว์ได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบต่อขยะทะเล เช่น พะยูน วาฬบรูด้า เต่าทะเล ปะการัง เป็นต้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ โดยสถิติการเกยตื้นสัตว์ทะเลหายากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555 – 2564) พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นรวม 5,526 ตัว คิดเป็นค่าเฉลี่ยปีละ 553±237 ตัว และในปีงบประมาณ 2564 (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2564) พบการเกยตื้น 818 ครั้ง ซึ่งประกอบด้วย เต่าทะเล 495 ตัว (ร้อยละ 60) โลมาและวาฬ 302 ตัว (ร้อยละ 37) และพะยูน 21 ตัว (ร้อยละ 3)

ในปี 2564 สาเหตุเกยตื้นสำหรับเต่าทะเล พะยูน และกลุ่มโลมาและวาฬ เกิดจากติดเครื่องมือประมงและขยะทะเล ประมาณร้อยละ 57 10 และ 17 ตามลำดับ ในอนาคตคาดว่า แต่ละปีอาจมีแนวโน้มสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเพิ่มสูงขึ้นเพราะความเสื่อมโทรมของคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงที่เกิดตามธรรมชาติและจากกิจกรรมทางทะเลของมนุษย์ (กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2564) [6]

จะเห็นได้ว่าในช่วง 3 – 4 ปี ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้แสดงให้เห็นถึงความตระหนักต่อปัญหาขยะพลาสติกมากขึ้น คาดหวังให้ประชาชนร่วมมือคัดแยกขยะเพื่อแก้ไขปัญหาขยะที่เกิดขึ้น แต่พบว่าการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะยังเข้าไม่ถึงกลุ่มประชาชนทุกกลุ่ม ทำให้มีการคัดแยกขยะน้อย หรือไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการนำกลับมาใช้ใหม่  ทำให้ขยะพลาสติกถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะอื่น ๆ


มาตรการจัดการขยะพลาสติกของไทย

ในปัจจุบันภาครัฐตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้จึงได้มีการกำหนดมาตรการทั้งทางกฎหมายเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตและการใช้พลาสติก และจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 – 2573) โดยขอความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single – use plastics) 7 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีดส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ (ภายในปี พ.ศ. 2562) ถุงพลาสติกหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร (ภายในปี พ.ศ. 2565) แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก (ภายในปี พ.ศ. 2568) และยังตั้งเป้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิดสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570

ไม่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้น ภาคส่วนอื่น ๆ ก็ให้ความสนใจในการช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกนี้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการคิดค้นบรรจุภัณฑ์ให้เป็นวัสดุนำกลับมาใช้ใหม่  ร้อยละ 100 หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ อย่างข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ชานอ้อย แกลบ เป็นต้น รวมไปถึงการออกแคมเปญรณรงค์ “งดใช้ถุงพลาสติก” และ”การจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ต้องการรับถุงพลาสติก” ที่มีมาตรการให้ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ 

โครงการที่เกิดจากความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โครงการ “วน” (Won Project) ให้ประชาชนได้นำถุงและบรรจุภัณฑ์พลาสติกสะอาดเหลือใช้ ที่กำหนดไว้ทั้ง 12 ชนิด ไปทิ้งที่ตั้งจุดวาง “ถังวนถุง” โดยโครงการจะนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) เป็นเม็ดพลาสติก สำหรับใช้ในการผลิตถุงหูหิ้ว และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ ได้ โครงการขยะกำพร้า นำขยะทั้งหมดไปโรงงานแปรรูปขยะที่ จ.ชลบุรี ซึ่งขยะจะถูกคัดแยก บดย่อย และบีบอัด จากนั้นจะถูกส่งไปใช้เป็นเชื้อเพลิงที่โรงงานผลิตไฟฟ้าและโรงงานปูนซีเมนต์ซึ่งสามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ โครงการพันธมิตรนวัตกรรมพลาสติกลุ่มน้ำโขงระหว่างไทยและออสเตรเลีย โดยจะรวบรวมความรู้ ทรัพยากรจากภาคเอกชน และความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ เพื่อขยายวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย เป็นต้น [7]

สำหรับการประเมินแผนงานในระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) การเลิกใช้พลาสติกมีเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการได้ร้อยละ 42 (จากเป้าหมายร้อยละ 75) และสามารถนำพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ได้ร้อยละ 25 (จากเป้าหมายร้อยละ 40) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) จึงทำให้ปริมาณขยะพลาสติกยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี และสามารถนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้เป็นบางส่วนเท่านั้น ทำให้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) จึงมุ่งเน้นไปสู่การจัดการขยะพลาสติกรูปแบบใหม่ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง และการพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการขยะพลาสติกเพื่อสนับสนุนให้การจัดการขยะพลาสติกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น [8] 

การลดขยะพลาสติกที่ทำได้เพียงครึ่งเดียวจากเป้าหมายที่ว่างไว้สะท้อนว่าการจัดการขยะพลาสติกตามเเผนงาน (roadmap) ที่วางไว้ อาจจะยังไม่เพียงพอ ปริมาณขยะพลาสติกยังคงเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากบริษัทผู้ผลิตบางรายที่ยังคงมีการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกหลากหลายวัสดุและหลากหลายประเภทแต่ขาดการคำนึงถึงการนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง มีการใช้ผลิตภัณท์พลาสติกมากเกินความจำเป็น ขยะพลาสติกเหล่านี้มีโอกาสหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำต่าง ๆ หากระบบกำจัดขยะที่มีการคัดแยกขยะยังคงมีน้อย ทางภาครัฐจึงควรนำวิธีอื่นมาใช้ควบคู่กันไปด้วย เช่น การลดหย่อนภาษีให้กับผู้ผลิตที่มีนโยบายลดการใช้พลาสติกในการดำเนินธุรกิจ การใช้ระบบมัดจำค่าบรรจุภัณฑ์ (Deposit Refund Scheme) สำหรับบรรจุภัณฑ์ การผลักดันสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและการสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านการใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (extendee producer responsibility: EPR) เป็นต้น และที่สำคัญยังไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับเพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจัง 


สภาวะไร้พรมแดน กับความร่วมมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ปัญหาขยะนับเป็นปัญหาที่ไร้พรหมแดนเพราะการใช้ระบบแม่น้ำร่วมกัน แนวชายฝั่งทะเลที่เชื่อมโยงกัน และทะเลที่เป็นผืนน้ำเดียวกัน เพื่อให้การแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลอย่างยั่งยืน กลุ่มประเทศควรให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ปล่อยพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด โดยเมื่อปี พ.ศ. 2564 ผลการวิจัยที่เผยแพร่ภายใต้ Science Advances ระบุว่า 6 ประเทศอาเซียนปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลติด 10 อันดับแรกของโลก เหล่าสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต่างยกให้ขยะพลาสติกเป็นวาระสำคัญและประกาศมาตราการหรือยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยแต่ละประเทศมีทั้งมาตราการที่บังคับใช้แล้วและที่จะประกาศในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป้าหมายเพื่อลด/เลิกการใช้พลาสติก การคัดแยกขยะพลสติก และการนำมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีแผนการควบคุมขยะพลาสติกในทะเลในระดับภูมิภาค ดังนั้นในปี พ.ศ. 2564  ASEAN ได้ออกแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนสำหรับการขจัดขยะในทะเล (พ.ศ. 2564 – 2568) เพื่อกำหนดกลยุทธ์แก้ปัญหาพลาสติกในทะเล ลดการนำเข้า การรั่วไหลของพลาสติกลงสู่ทะเล การสร้างมูลค่าโดยนำขยะกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงแนวทางการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 

นอกจากนี้ในเวทีระดับนานาชาติเอง เช่น การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Assembly: UNEA) สมัยที่ 5 ช่วง 2 (UNEA 5.2) ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม พ.ศ. 2565 ที่มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศเข้าร่วมการประชุม รวมถึงรัฐบาลไทยด้วย ได้บรรลุข้อมติ ‘End Plastic Pollution Resolution’ เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา (Intergovernmental Negotiating Committee: INC) จัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการจัดการมลพิษจากพลาสติกและจัดการขยะทางทะเล คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี  2567 โดยมีเป้าหมายในการจัดการพลาสติกตลอดทั้งวงจรชีวิต รวมถึงให้มีมาตรการการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านการเงินซึ่งจะส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 

ปัญหาขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนที่สุดของทุกประเทศ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายในการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งความท้าทายนี้ก็จะพบว่ามีโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนถือเป็นเป็นกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จ 

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Insights | ขยะพลาสติกในทะเล: ความพยายามของภูมิภาคอาเซียน
ผลกระทบของขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่มีต่อสุขภาพของคน: การศึกษาที่อาจยังขาดหายไป
NextWave Plastics จับมือคู่แข่งทางธุรกิจ สร้างเครือข่ายระดับโลกแห่งแรกที่ปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดขยะพลาสติกในมหาสมุทร
โคคา-โคล่า ร่วมมือกับ The Ocean Cleanup เดินหน้าใช้นวัตกรรมดักจับขยะพลาสติกในแม่น้ำ 15 แห่งทั่วโลกก่อนไหลลงสู่มหาสมุทร

#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ. 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

อ้างอิง:
[1] Jambeck, J. R., Geyer, R., Wilcox, C., Siegler, T. R., Perryman, M., Andrady, A., … & Law, K. L. (2015). Plastic waste inputs from land into the ocean. Science, 347(6223), 768-771.

[2] กรมควบคุมมลพิษ. (2565). ข้อมูลขยะมูลฝอยชุมชน เอกสารประกอบการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564. (เอกสารอัดสำเนา).

[3] Meijer, L.J., Van Emmerik, T., Van Der Ent, R., Schmidt, C. and Lebreton, L., 2021. More than 1000 rivers account for 80% of global riverine plastic emissions into the ocean. Science Advances7(18), p.eaaz5803.

[4] กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2566, 10 กรกฎาคม). ช่วงนี้อยู่บ้าน ทช. ชวนเรียนรู้เรื่องขยะทะเลตอนที่ ๓. https://www.dmcr.go.th/detailAll/40627/nws/191

[5] กรมควบคุมมลพิษ. (2564). รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2564

[6] กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2564). รายงานประจำปี 2564 (Annual Report 2021) (เอกสารอัดสำเนา

[7] สวทช. (2566, 10 กรกฎาคม). สวทช. CSIRO จับมือผู้ประกอบการร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติก เพื่อลดมลพิษในแม่น้ำและทางทะเล ภายใต้โครงการพันธมิตรนวัตกรรมพลาสติกลุ่มน้ำโขง ระหว่างไทยและออสเตรเลีย. https://www.nstda.or.th/home/news_post/csiro/

[8] กรมควบคุมมลพิษ. (2566). แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) (เอกสารอัดสำเนา).

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2566, 19 กรกฎาคม). รายงานข้อมูลขยะทะเลในประเทศไทย. http://tcc.dmcr.go.th/thaicoastalcleanup/report

Phaksopa, Jitraporn, Roochira Sukhsangchan, Rangsiwut Keawsang, Kittipod Tanapivattanakul, Bojara Asvakittimakul, Thon Thamrongnawasawat, and Suchai Worachananant. 2023. “Assessment of Microplastics in Green Mussel (Perna viridis) and Surrounding Environments around Sri Racha Bay, Thailand” Sustainability 15, no. 1: 9. https://doi.org/10.3390/su15010009 

Pradit, S., Towatana, P., Nitiratsuwan, T., Jualaong, S., Jirajarus, M., Sornplang, K., Noppradit, P., Darakai, Y. and Weerawong, C., 2020. Occurrence of microplastics on beach sediment at Libong, a pristine island in Andaman Sea, Thailand. Sci. Asia46, pp.336-343.

Ruangpanupan, N., Ussawarujikulchai, A., Prapagdee, B. and Chavanich, S., 2022. Microplastics in the surface seawater of Bandon Bay, Gulf of Thailand. Marine Pollution Bulletin179, p.113664.

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น