SDG Recommends ฉบับนี้ชวนอ่าน วารสารพัฒนศาสตร์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (PSDS Journal of Development Studies) ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2568 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด
วารสารฉบับนี้นำเสนอประเด็นหลักว่าการพัฒนาแม้จะเริ่มต้นจากจุดใดทั้งจากระดับชุมชน ระบบการเรียนรู้ หรือระบบนโยบาย แต่สิ่งที่สำคัญคือการเชื่อมโยง “พื้นที่” กับ “ความรู้ใหม่” อย่างมีพลังและสร้างผลกระทบจริงต่อสังคม โดยได้รวบรวมบทความวิชาการทั้งสิ้น 5 บทความ เพื่อขยายอาณาบริเวณในการทำความเข้าใจ ดังนี้
- การรับมือสถานการณ์วิกฤต: การสำรวจสถานการณ์และบทบาทขององค์กรอาสาสมัครไทยในการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่วงโควิด-19” ของ ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี และคณะ เสนอให้เห็นพลวัตใหม่ของ “อาสาสมัครมืออาชีพ” และรูปแบบความร่วมมือเชิงเครือข่ายที่สามารถประสานพลังภาคประชาสังคม เทคโนโลยี และแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
- “การออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าวัฒนธรรมบนฐานอัตลักษณ์ชุมชนกรณีศึกษา กลุ่มทอผ้าไหมบ้านแบง” ของ สุนิตย์ เหมนิลและคณะ เสนอตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ความรู้ทางสุนทรียศาสตร์และศิลปะผ่านการถ่ายทอดอัตลักษณ์และเรื่องรวของชุมชนไปสู่ผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่สินค้าวัฒนธรรม ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ความเชื่อและเรื่องเล่าของท้องถิ่น ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าแต่ยังเพิ่มศักยภาพของการแข่งขันในตลาดได้อย่างชัดเจน และเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม
- “การศึกษาการจัดการขยะขวดแก้วของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชนเกาะพยาม ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง” โดย ปริวัฒน์ ช่างคิด และคณะ นำเสนอแนวทางพัฒนานวัตกรรมชุมชนที่ไม่เพียงจะจัดการปัญหาขยะ แต่ยังสร้างอาชีพ สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการแก้ปัญหาขยะ ได้อย่างสร้างสรรค์พร้อมกับเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเสริมพลังอัตลักษณ์ท้องถิ่นได้อย่างมีนัยสำคัญ
- “แนวทางแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำของตำบลเชียงกลม อำเภอปากชม จังหวัดเลย” โดย วิชญ์ มะลิต้น และคณะ นำเสนอผ่านโมเดลการบูรณาการข้อมูลและการทำงานร่วมของเครือข่ายในระดับตำบล ซึ่งเป็นต้นแบบสำคัญของการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับนโยบายระดับชาติในด้านการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจและอยู่ร่วมในสังคมที่หลากหลาย
- “กระบวนทัศน์ใหม่ในการส่งเสริมความตระหนักรู้ต่อความหลากหลายทางชาติพันธุ์สำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” โดย สรายุธ รัศมี เสนอการเสริมสร้างความตระหนักรู้และทักษะการอยู่กันอย่างเคารพในความแตกต่างจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านโมเดล AECKRA ที่พัฒนาขึ้นจากแนวคิดพหุนิยมทางวัฒนธรรม ที่จะทำให้ผู้เรียนมีทัศนคติเชิงบวกต่อความหลากหลาย มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อบริบทชาติพันธุ์ต่าง ๆ จนสามารถพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเคารพและเห็นคุณค่า พร้อมเป็นพลเมืองที่มีจิตสำนึกทางสังคม ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสู่การสร้างสังคมที่สงบสุขและเคารพในความแตกต่างอย่างมีประสิทธิภาพ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง ●
– กว่า 200 วารสารการแพทย์ระดับโลก เรียกร้องผู้นำโลกจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพอย่างเร่งด่วน
– กลุ่มนักวิชาการระดับโลกเสนอขยายเส้นตายบรรลุเป้าหมาย SDGs ไปถึงปี 2050 พร้อมแผนแม่บททำงานใน 6 ประเด็นสำคัญ
– 9 สิงหาคม วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก – UN DESA จัดงานเฉลิมฉลองภายใต้ธีม “บทบาทสตรีพื้นเมืองในการอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น”
– วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก เยาวชนส่งต่อแรงบันดาลใจต่อสู้เพื่อสิทธิ และนำเสนออัตลักษณ์ชนเผ่าพื้นเมืองร่วมสมัย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
– (1.1) ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนในทุกพื้นที่ให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายวันต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม (floors) โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จาเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและการไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.4) เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.5) ลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (12.b) พัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือเพื่อติดตามผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน