ปัญหาไก่กับไข่: การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพกับการมีที่ดินเพื่อการเกษตร เราสามารถทำอะไรได้บ้าง ?

เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ

ปัจจุบัน ภาพความหลากหลายทางชีวภาพกำลังลดลงทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลงอีกในอนาคต โดยเฉพาะในแถบแอฟริกาซับซาฮารา รวมไปถึงทางฝากละตินอเมริกา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าฝนแอตแลนติก) และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีตัวเร่งเป็นปัจจัยต่าง ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเร่งใช้และเก็บเกี่ยวทรัพยากรมากเกินไป เช่น ปลา หรือไม้ที่มีค่าในเขตร้อน เป็นต้น ทำให้สิ่งมีชีวิตและแหล่งที่อยู่อาศัยเข้าใกล้การสูญพันธ์ุมากขึ้น

ทว่า นั่นไม่ใช่ปัจจัยหลักเสียทีเดียว สิ่งที่กระทบกับความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรุนแรง มาจากการเปลี่ยนถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตามธรรมชาติเป็นที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของประชากรโลกที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าที่ดินเพื่อการเกษตรในโลกจะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างน้อย 2 ล้าน ตร.กม. ภายในปี 2593 และมากถึง 10 ล้าน ตร.กม. ซึ่งหมายความว่า สัตว์ประมาณร้อยละ 88 จะได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และสัตว์ประมาณ 1,280 ชนิดจะสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 ใน 4 ของที่อยู่อาศัยที่เหลืออยู่

การแก้โจทย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (SDG15 ระบบนิเวศบนบก ความหลากหลายทางชีวภาพ) ที่ทับซ้อนกับเรื่องที่ดินเพื่อการเกษตร (SDG2 ความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ เกษตรกรรม) และการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (SDG12) ตามการศึกษาที่เผยแพร่ใน Nature Sustainability ชี้ว่า ควรมุ่งจัดการกับการขยายตัวทางการเกษตร ซึ่งมีด้วยกันหลายแนวทาง โดยควรทำการศึกษาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์และแหล่งที่อยู่อาศัยได้อย่างตรงจุดมากที่สุด รวมทั้งคำนึงว่าภูมิประเทศและพันธุ์สัตว์ใดในโลกที่จะได้รับผลกระทบ และจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อระบบอาหาร ซึ่งก็ควรต้องมีการศึกษาคาดการณ์ให้นักอนุรักษ์ปัจจุบันตระหนักว่าสัตว์ที่อาจยังไม่ประสบปัญหาในตอนนี้ ก็อาจมีการสูญเสียเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ ก็จะช่วยให้สามารถปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพได้ในแต่ละส่วนของโลก

แล้วเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ? มี 4 คำสำคัญ สรุปรวบรัดได้ดังนี้

  1. การเพิ่มปริมาณผลผลิต (เพิ่มปริมาณผลผลิตในพื้นที่เล็ก เพื่อลดการขยายที่ดินเพื่อการเกษตร)
  2. การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (ลดความอยากกินเนื้อ! เพราะจะช่วยลดความต้องการใช้ที่ดินเพิ่มมากขึ้นเพื่อการเกษตร อาทิ ปลูกพืชเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ และสัตว์นั้นเป็นอาหารเลี้ยงปากท้องเราอีกที)
  3. การลด/ไม่สร้างขยะอาหาร หรือ Food Waste (ไม่กินทิ้งกินขว้าง หรือไม่เลือกกินแค่อาหารที่รูปลักษณ์สวย เป็นการช่วยแหล่งผลิตอาหาร) และ
  4. การวางแผนการใช้ที่ดิน หรือ Land-use planning (วางแผนการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรให้ออกห่างจากแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หรือพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ)

โดยในการศึกษา Nature Sustainability ชี้ว่าการลงมือทำตาม 4 ข้อนี้จะช่วยป้องกันการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่จะกระทบกับความหลากหลายทางชีวภาพลงได้ ขณะที่ยังคงมีที่ดินเพื่อการเกษตรได้ตามปกติ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องดูประกอบกับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละประเทศที่จะนำไปใช้ด้วย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับความเฉพาะของแต่ละพื้นที่ และท้ายที่สุด ความพยายามในการแก้โจทย์นี้จะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อต้องมีความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนทั่วไป

แหล่งอ้างอิง:

https://www.weforum.org/agenda/2021/01/worlds-animal-species-habitat-loss-agriculture-2050/

#SDGWatch #IHPP #SDG2 #SDG12 #SDG15

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น