เดินไปพร้อมกัน ! เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะคืบหน้าก็ต่อเมื่อประชาชนมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ

เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวทางระดับโลกเพื่อการพัฒนา ทว่าประมาณร้อยละ 87 ของประชากรโลกอยู่ในประเทศที่รัฐบาลมองข้ามการปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะเป้าประสงค์ที่ 16.10 “รับรองการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนและปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของประเทศและข้อตกลงระหว่างประเทศ” ซึ่งสำหรับปี 2563 ในภาพรวมนั้น โลกอยู่ในสภาพ “เดินถอยหลัง” จากการใช้กฎหมายที่เข้มงวดภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเติบใหญ่ของรัฐบาลเผด็จการ ส่งผลกระทบต่อหลักประกันการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการประท้วงอย่างสันติ และสิทธิพื้นฐานอื่นภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายระหว่างประเทศ

รายงานระดับโลกของ CIVICUS Monitor จับตาวิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่สาธารณะ หรือ พื้นที่ของประชาชนในการแสดงสิทธิเสรีภาพ (civic space) และเก็บข้อมูล “การเซ็นเซอร์” ในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 80 ประเทศ ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2563 ที่องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีมากที่สุด ได้แก่ การกักขังผู้ประท้วงและการสอดส่องควบคุม (surveillance) ซึ่งมักเป็นการกระทำนอกเหนือไปจากกฎการเว้นระยะห่างหรือการติดตามผู้สัมผัส (contact tracing) การ “เซ็นเซอร์” สื่อโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการ “บล็อก” เนื้อหาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล บางประเทศ “ปิดปาก” เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและดำเนินคดีกับการเคลื่อนไหวนอกอาณาเขตรัฐตน รวมไปถึงการโจมตี ปิดปากนักข่าว และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สวนทางกับการที่ควรจะทำงานร่วมกับสื่อในเรื่องข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งควรจะมีพื้นที่พูดคุยระหว่างรัฐบาลและประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรค ทว่าข้อเท็จจริงคือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้นและเข้มงวดขึ้น

ตัวชี้วัดว่ามี civic space หรือไม่ คือ การมีพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น การคบค้าสมาคมอย่างเสรี และการรวมตัวกันอย่างสันติ โดยการให้คะแนนคือดูว่า มีพื้นที่เปิดให้ทำได้ (open), มีแต่น้อย (narrowed), มีการขัดขวาง (obstructed), มีการควบคุม (repressed) หรือ ปิดพื้นที่ (closed) โดยตัวอย่างรอบโลกมีที่ชี้ว่าประเทศในทวีปอเมริกา อาทิ สหรัฐฯ ชิลี คอสตาริกา และเอกวาดอร์ มี civic space ที่น้อยลง เช่นเดียวกับแถบแอฟริกาตะวันตก อย่าง โกตดิวัวร์ กินี ไนเจอร์ โตโก รวมไปถึง อิรัก ฟิลิปปินส์ และสโลวีเนีย

ในขณะที่ ภาพรวมการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแถบเอเชียแปซิฟิก ส่วนใหญ่เป็นประเด็นการใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพื่อดำเนินคดีทางอาญากับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว และคนที่วิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลจำนวนหนึ่งมีความพยายามกำจัดความเห็นต่างด้วยการเซ็นเซอร์รายงานการละเมิดโดยรัฐ (state abuses) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการบริหารประเทศช่วงโรคระบาด ส่วนประเด็นอื่น ๆ มีอาทิ การคุกคามนักเคลื่อนไหว การก่อกวนการประท้วงและกักขังผู้ประท้วง (ดูเพิ่มเติมรายประเทศได้ที่ https://findings2020.monitor.civicus.org/asia-pacific.html)

ขณะเดียวกัน รายงานได้ชี้ให้เห็นว่า มีประเทศ 42 ประเทศที่มีอันดับ civic space สูงที่สุด อาทิ แคนาดา นิวซีแลนด์ และอุรุกวัย ถือเป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่าง ๆ ในด้าน “การมีสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพราะการที่ประชาชนของบรรดาประเทศเหล่านี้มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระดับที่สูง หรือ มีพื้นที่ “เปิด” ให้กับประชาชน จะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ยืนยันตรงกันกับข้อมูลรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2563 (2020 Sustainable Development Report) ด้วยเพราะการมีส่วนร่วมและการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างรัฐบาลและภาคประชาสังคม มีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อนึ่ง การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถจะก้าวหน้าต่อไปได้ หากประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

อ่านรายงานฉบับเต็มที่:

https://findings2020.monitor.civicus.org/

แหล่งอ้างอิง:

#SDGWatch #IHPP #SDG16

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น