UNESCO และ EU จับมือทำโครงการ “Social Media for Peace” ในสามประเทศนำร่อง: บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา อินโดนีเซีย และเคนยา

เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ

โครงการ “Social Media for Peace” เป็นโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการ 36 เดือน ภายใต้ความร่วมมือใหม่ระหว่างองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก Instrument contributing to Peace and Stability (IcPS) ภายใต้ EU โครงการนี้มุ่งหมายให้ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งและสามารถปรับตัวให้มีภูมิคุ้มกัน (resilience) ต่อเนื้อหาที่เผยแพร่ทางออนไลน์ที่มีลักษณะเป็นอันตราย (harmful content) โดยเฉพาะถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชัง (hate speech) ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง พร้อมกับรณรงค์ให้เกิดสันติภาพผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย

เป้าหมายของ UNESCO คือต้องการจัดการกับข้อมูลที่บิดเบือน (disinformation) ด้วยการเพิ่มข้อมูลที่ถูกต้อง/ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พร้อมกับทำให้ “ระบบนิเวศทางอินเตอร์เน็ต” มีความโปร่งใส ขณะที่ EU มองว่าจำเป็นต้องสร้างหลักประกันให้พื้นที่โลกดิจิทัลมีความปลอดภัย มีหลักนิติรัฐและหลักสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้ใช้งานพื้นที่ออนไลน์ทุกคน ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 16 เพื่อรณรงค์สังคมที่เป็นธรรมและสงบสุขสำหรับทุกคน รวมถึงเป็นไปตามแผนปฏิบัติการของสหประชาชาติว่าด้วยถ้อยคำที่เกลียดชัง (UN Plan of Action on Hate Speech) เพื่อต่อสู้กับความเห็นที่แสดงถึงความกลัวเกรงชาวต่างชาติ (xenophobia) การเหยียดเชื้อชาติและสีผิว และความไม่อดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง

ในระยะแรกเริ่มของโครงการจะเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหา ขอบเขต และผลกระทบที่เกิดขึ้นตามบริบทของประเทศนั้น ๆ จากข้อความที่มีเนื้อหารุนแรงและการใช้สื่อไปในทางที่ผิดที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรือเป็นการควบคุมและกระจายข้อมูลที่บิดเบือน นอกจากนี้ โครงการจะสำรวจและทำความเข้าใจประสิทธิภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาในสามประเทศนำร่อง ได้แก่ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา อินโดนีเซีย และเคนยา โดยการปรับปรุงวิธีการจัดการกับเนื้อหาเหล่านั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและคงไว้ซึ่งการเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน

โดยผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านความขัดแย้งและสันติภาพ ผู้มีบทบาทในการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact checkers) ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และตัวสื่อเอง จะได้มาพบกันในพื้นที่นี้เพื่อร่วมกัน แลกเปลี่ยน เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น (narrative) และริเริ่มแนวทางใหม่ในการป้องกันความขัดแย้ง (conflict prevention) และสร้างสันติภาพ (peace building) เพื่อไม่ให้ข้อความที่มีเนื้อหาเป็นอันตรายกลายเป็นสาเหตุให้เกิดความตึงเครียดและความรุนแรงในสังคม โดยเฉพาะสังคมที่มีความเปราะบางเป็นทุนเดิม (fragile societies) จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและโซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากปัจจุบันมีบทบาทสำคัญที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมได้

แหล่งอ้างอิง:

https://en.unesco.org/news/harnessing-potential-social-media-new-partnership-between-unesco-and-eu

#SDGWatch #IHPP #SDG16

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น