SDG Insights | โครงการ ‘เราชนะ’ เพียงประคับประคองหรือจะปรับหน้าเศรษฐกิจไทย?

อิสร์กุล อุณหเกตุ
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการ ‘เราชนะ’ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน โดยกลุ่มผู้รับสิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับวงเงินตามโครงการเราชนะครั้งแรกในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ขณะที่กลุ่มผู้ได้รับสิทธิผ่าน G-wallet จะเริ่มได้รับในช่วงกลางเดือนเดียวกัน ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่ในสองกลุ่มข้างต้นจะต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ก่อนจึงจะได้รับวงเงินช่วงหลังกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป

หลังจากนั้นโครงการดังกล่าวก็ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง เช่น ประชาชนส่วนหนึ่งประสบปัญหาในการยืนยันตัวตนผ่านเว็บไซต์เราชนะ แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ขัดข้องเมื่อมีผู้ใช้บริการพร้อมกันจำนวนมาก ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนจำนวนมากต้องแห่ไปลงทะเบียนที่ธนาคารกรุงไทยจนแน่นขนัด แม้จะยังอยู่ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฯลฯ ข่าวต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงนำมาซึ่งคำถามถึงการบริหารจัดการโครงการเท่านั้น หากยังเป็นคำถามถึงประสิทธิผลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำอีกด้วย

ภูมิหลังของโครงการ ‘เราชนะ’

โครงการเราชนะเป็นโครงการที่มุ่งสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนจำนวนไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นระยะเวลาสองเดือน โดยให้วงเงินเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละ 675-700 บาทสำหรับกลุ่มผู้ได้รับสิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และสัปดาห์ละ 1,000 บาทสำหรับกลุ่มผู้ได้รับสิทธิผ่าน G-wallet (แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’) หรือผ่านบัตรประชาชน (ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน) รวมงบประมาณทั้งโครงการ 210,200 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการจะพิจารณาผู้ได้รับสิทธิจากรายได้และระบบคุ้มครองทางสังคม โดยผู้ได้รับสิทธิจะต้อง (1) มีสัญชาติไทยและอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (2) ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533[1] (3) ไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการการเมือง หรือรับบำนาญจากส่วนราชการ (4) มีเงินได้พึงประเมินไม่เกินสามแสนบาทในปีภาษี 2562 และ (5) มีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกินห้าแสนบาท

โครงการเราชนะนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ[2] ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 เห็นชอบโครงการดังกล่าวของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้

โครงการดังกล่าวมิใช่โครงการแรกที่เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเห็นชอบแผนงานหรือโครงการในลักษณะดังกล่าวมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวเมื่อเดือนเมษายน 2563 ตัวอย่างของแผนงานและโครงการที่สำคัญเช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน (ดูตารางที่ 1) ข้อสังเกตในที่นี้คือยังมีโครงการอื่นๆ อีกที่มีรูปแบบการดำเนินการใกล้เคียงกัน แต่ถูกจัดอยู่ในแผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน รวมถึงการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชน เพื่อให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติได้โดยเร็ว[3] โครงการเหล่านี้เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่พบหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดของรัฐบาลในการจำแนกแผนงานหรือโครงการทั้งสองวัตถุประสงค์ออกจากกัน แม้จะมีการกำหนดวงเงินงบประมาณแยกส่วนกันก็ตาม


ทำไมจึงต้องมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน?

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยสั่งปิดสถานประกอบการหลายประเภทที่มีคนแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส และสถานบริการอื่นๆ ผลกระทบที่ตามมาจากมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลคือ ระบบเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยิ่งหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

เพื่อให้เห็นภาพปัญหาทางเศรษฐกิจดังกล่าว บทความนี้จึงจะนำเสนอตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสองตัวซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ได้แก่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) รายไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (Year on Year: YoY) และอัตราการว่างงาน

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 นั้น ขนาดของระบบเศรษฐกิจไทยเมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหดตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มส่งผลกระทบทั่วทั้งโลกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 แต่ภายหลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรในเดือนมีนาคม 2563 ระบบเศรษฐกิจไทยก็หดตัวอย่างรุนแรงถึงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 แต่ตัวเลขยังคงหดตัวโดยตลอดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ดูภาพที่ 1) ดังนั้น เมื่อรวมตลอดทั้งปีแล้วจะเห็นได้ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนั้นติดลบราวร้อยละ 6.1

ในประเด็นการว่างงานนั้น ภายหลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร การว่างงานของไทยก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสี่เดือนแรก โดยอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากราวร้อยละ 1 ในเดือนมีนาคม 2563 เป็นร้อยละ 2.15 ในเดือนกรกฎาคม 2563 ก่อนที่จะทรงตัวและมีแนวโน้มลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ทั้งนี้ หากพิจารณาโดยจำแนกระหว่างผู้ที่เคยทำงานมาก่อนและผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจะพบว่า อัตราการว่างงานของผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนนั้นสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่อัตราการว่างงานของผู้ที่เคยทำงานมาก่อนนั้นเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า โดยเพิ่มขึ้นจากราวร้อยละ 0.5 ในเดือนมีนาคม 2563 เป็นร้อยละ 1.45 ในเดือนกรกฎาคม 2563 กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ ผลกระทบจากมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้นทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตรกรรม (ดูภาพที่ 2)

จากข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจข้างต้นจะเห็นได้ว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างสำคัญ การประกาศระงับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจและการว่างงาน เมื่อจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อย่อมลดลงและทำให้อุปสงค์มวลรวมในระบบเศรษฐกิจลดลงตามไปด้วย ผลที่ตามมาคือ ภาคการผลิตจำเป็นที่จะต้องลดกำลังผลิตลงตามความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลง และนำไปสู่การเลิกจ้าง ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มสูงขึ้นวนเป็นวงจร

เพื่อบรรเทาหรือชะลอปัญหาดังกล่าว รัฐบาลสามารถเพิ่มอุปสงค์มวลรวมในระบบเศรษฐกิจได้โดยใช้มาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการช่วยเหลือเกษตรกร รวมถึงโครงการเราชนะ และโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมผ่านการส่งเสริมและการกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง


เศรษฐศาสตร์การคลังเบื้องต้นว่าด้วยโครงการ ‘เราชนะ’

รัฐบาลเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกันกับภาคครัวเรือน ภาคเอกชน และภาคต่างประเทศ รัฐบาลสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาครัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้จ่ายมวลรวมในระบบเศรษฐกิจได้ผ่านนโยบายหรือมาตรการทางการคลัง มาตรการทางการคลังจำแนกได้ออกเป็นสามด้านหลัก ได้แก่ (1) รายจ่ายรัฐบาล ทั้งที่รัฐบาลเป็นผู้ใช้จ่ายผ่านการซื้อสินค้าและบริการเอง หรือให้ภาคครัวเรือนเป็นผู้ใช้จ่ายผ่านมาตรการที่เรียกว่าเงินโอน (transfer payment) (2) รายรับรัฐบาล ซึ่งมาจากการจัดเก็บภาษีเป็นหลัก และ (3) การก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อรายจ่ายรัฐบาลมีมากกว่ารายรับ หรือเรียกว่าการใช้งบประมาณแบบขาดดุล

โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลมักดำเนินนโยบายหรือมาตรการทางการคลังสวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (counter-cyclical) กล่าวคือ ในสภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตดี รัฐบาลมักลดการใช้จ่ายหรือจัดเก็บภาษีมากขึ้นเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ในทางตรงข้าม ในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือหดตัว รัฐบาลต้องเร่งการใช้จ่ายหรือลดการจัดเก็บภาษีลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยหดตัวลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดดังกล่าว รัฐบาลจึงต้องดำเนินมาตรการทางการคลังแบบขยายตัวโดยเพิ่มรายจ่ายรัฐบาลให้มากขึ้น และเมื่อรายรับของรัฐบาลในรอบปีงบประมาณมีไม่เพียงพอก็จำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณะด้วยการกู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นที่มาของการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

การเพิ่มรายจ่ายของรัฐบาลนี้อาจทำได้หลายทาง ทางหนึ่งก็คือการให้ภาคครัวเรือนเป็นผู้ใช้จ่ายผ่านมาตรการที่เรียกว่าเงินโอน มาตรการเงินโอนนี้ต่างจากรายจ่ายรัฐบาลอื่นๆ เนื่องจากรายจ่ายในลักษณะนี้นั้น รัฐบาลจะไม่ได้รับสินค้าหรือบริการตอบแทนกลับมา แต่ระบบเศรษฐกิจจะขยายตัวมากขึ้นผ่านการบริโภคที่เพิ่มขึ้นของภาคครัวเรือน โดยนัยนี้ โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง รวมถึงโครงการเราชนะ จึงเป็นมาตรการเงินโอนไม่แตกต่างกัน

ข้อเด่นของการเพิ่มรายจ่ายรัฐบาลผ่านมาตรการเงินโอนคือ รายจ่ายในลักษณะนี้นั้นอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตรงจุดกว่า หากรัฐบาลเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะให้เงินโอนได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามกระจายเงินโอนให้กลุ่มคนที่หลากหลาย แต่โครงการส่วนใหญ่รวมถึงโครงการเราชนะ เน้นไปที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นหลัก ซึ่งจากข่าวที่ปรากฏตามหน้าสื่อจะพบว่า การดำเนินโครงการเหล่านี้นั้นยังอาจเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง


โครงการเราชนะกับปัญหาการตกหล่น

โครงการเราชนะแบ่งประชาชนผู้มีสิทธิออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ได้รับสิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้ได้รับสิทธิผ่าน G-wallet (แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’) และกลุ่มผู้ได้รับสิทธิผ่านบัตรประชาชน (ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน) หากพิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าวจะพบว่า ประชาชนในกลุ่มแรกจำนวนราว 13.7 ล้านคนนั้นเคยได้รับความช่วยเหลือแล้วอย่างแน่นอนตามสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะที่ประชาชนในกลุ่มที่สองจำนวนราว 15.6 ล้านคนนั้น ส่วนหนึ่งเคยได้รับเงินอุดหนุนแล้วผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันหรือโครงการคนละครึ่งแล้วเช่นกัน แต่ประชาชนในกลุ่มสุดท้ายอีก 1.5 ล้านคนนั้น เนื่องจากเป็นผู้ที่ไม่มีทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่มีสมาร์ทโฟน จึงเป็นไปได้สูงว่า ประชาชนกลุ่มนี้ยังไม่เคยได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลมาก่อนในช่วงที่ผ่านมา

การช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนผ่านมาตรการเงินโอนด้วยการเลือกกลุ่มเป้าหมายนั้นมักประสบปัญหาสำคัญสองประการ ปัญหาประการแรกคือ ผู้ที่ได้รับสิทธินั้นไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทำให้เงินโอนรั่วไหลไปสู่ผู้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ (inclusion error) ขณะที่ปัญหาประการที่สองคือ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายนั้นตกหล่นไม่ได้รับสิทธิ จึงไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างที่ควรจะเป็น (exclusion error) ปัญหาทั้งสองประการนี้มิใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อเริ่มดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็เคยประสบปัญหาเช่นนี้แล้ว

หากโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนมีเป้าหมายหลักที่กลุ่มครัวเรือนที่ยากจนและเปราะบาง ปัญหากลุ่มเป้าหมายที่ตกหล่นไม่ได้รับสิทธินั้นอาจจะเป็นปัญหาที่สำคัญกว่า ทั้งนี้ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations International Children’s Emergency Fund: UNICEF) ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 พบว่า กลุ่มครัวเรือนยากจน โดยเฉพาะคนยากจนเมืองจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดดังกล่าว ขณะที่กลุ่มครัวเรือนเปราะบางอีก 1.14 ล้านครัวเรือนมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นครัวเรือนยากจน ดังนั้น กลุ่มครัวเรือนยากจนและเปราะบางนี้จึงเป็นกลุ่มต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างยิ่ง

ผลสำรวจดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 1: ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ เพราะหากพิจารณาจากสัดส่วนคนจนจะพบว่า ในช่วงหกปีล่าสุดที่มีข้อมูลคือตั้งแต่ปี 2557-2562 นั้น สัดส่วนคนจนของไทยนั้นมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงแม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นบวกก็ตาม ดังนั้น เมื่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวและมีการว่างงานมากขึ้น การบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนย่อมเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะหากกลุ่มครัวเรือนยากจนและเปราะบางกลายเป็นกลุ่มที่ตกหล่นและไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

แม้ว่าโครงการเราชนะอาจขยายความครอบคลุมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในวงกว้างได้มากขึ้น และลดปัญหาดังกล่าวลง แต่การขอรับสิทธินั้นยังสร้างต้นทุนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ได้รับสิทธิผ่านบัตรประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มครัวเรือนยากจนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน


ประคับประคองหรือจะปรับหน้าเศรษฐกิจไทย?

โครงการเราชนะ รวมถึงโครงการอื่นๆ ทั้งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน และที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมผ่านการส่งเสริมและการกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการที่มุ่งบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจหดตัวอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดดังกล่าวทั้งสิ้น ดังนั้น มาตรการเหล่านี้จึงเป็นเพียงการประคับประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดหนักจนเกินเยียวยาเท่านั้น

หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยกลับไปเดินหน้าดังเดิมจะต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือการทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับมาดำเนินได้ตามปกติ ด้วยเหตุนี้การเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจกรรมที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการตั้งงบประมาณสำหรับแผนงานและโครงการเหล่านี้ถึง 4 แสนล้านบาท และมีแผนงานหรือโครงการจำนวนหลักพันที่เข้าสู่การพิจารณาโดยคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า แผนงานหรือโครงการเหล่านี้จะช่วยปรับหน้าเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน[4] ซ้ำร้ายปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ดังนั้น แม้ว่าแผนงานหรือโครงการต่างๆ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ จะประสบความสำเร็จ และทำให้ไทยกลับไปเติบโตบนวิถีเดิมได้ก็ใช่ว่าปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศจะหมดไปได้ในทันที


[1] คือไม่ใช่ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ และอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์

[2] แผนงานหรือโครงการที่ 2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ

[3] แผนงานหรือโครงการที่ 3.3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ

[4] ธนาคารแห่งประเทศไทย ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2563 ชะลอตัวต่ำกว่าที่คาดและต่ำกว่าศักยภาพ

หมายเหตุ : *ทัศนะ ข้อคิดเห็นที่ปรากฎ เป็นความเห็นส่วนบุคคลไม่เกี่ยวข้องกับทัศนะขององค์กร*

Last Updated on มีนาคม 3, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น