Liv Up ฟู๊ดเทคสตาร์ทอัพเชื่อมเกษตรกรท้องถิ่น-ผู้บริโภคในเมืองบราซิล ส่งอาหารสดใหม่ตรงถึงหน้าบ้าน

เมืองยังคงมีข้อจำกัดเรื่องการพึ่งพาตัวเองในการผลิตอาหาร ปริมาณอาหารที่ผลิตขึ้นจำนวนมากจึงส่งตรงไปให้ ‘คนเมือง’ บริโภค แต่ก็ยังมีประเด็นปัญหาว่าอาหารดีต่อสุขภาพหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการ มีรสเค็ม-หวาน-ไขมันสูง รวมทั้งในบางพื้นที่ของเมืองยังมีความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการ

เทคโนโลยีทางอาหาร (food-tech) นวัตกรรมทางสังคมและความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) สามารถเข้ามาช่วยอุดช่องว่างความท้าทายนี้โดยที่ยังตอบโจทย์ความต้องการบริโภคของคนเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนเชื่อมโยงระบบอาหารระหว่างเมืองกับชนบทให้ดีขึ้นได้ โดยเกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่นยังได้ประโยชน์

ภาพจาก thoughtforfood.org

ด้วยเหตุนี้ Liv Up ฟู๊ดเทคสตาร์ทอัพสัญชาติบราซิลในเมืองเซาเปาโลจึงก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เดลิเวอรี่ส่งตรงอาหารสดใหม่พร้อมทานถึงหน้าบ้านของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง (Direct-to-consumer: D2C) ในพื้นที่เทศบาล 7 เทศบาลในตัวเมืองในทุก ๆ 2 อาทิตย์ ด้วยวัตถุดิบตามฤดูกาล รวมทั้งใช้ส่วนเกินของพืชผล (surplus of crops) จากครอบครัวเกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่นของภูมิภาค ปรุงโดยเชฟและนักโภชนาการ ให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพโภชนาการและทราบที่มาของวัตถุดิบอาหารในจาน โดยที่ยังตอบโจทย์ความสะดวกสบายแม้ในยุคโควิด-19

เข้าถึงเว็บไซต์: https://www.livup.com.br/

#ผู้ผลิต – ได้ขายวัตถุดิบตามฤดูกาล และขายส่วนเกินของพืชผลไม่ให้เกิดขยะอาหาร (food waste)

#ผู้บริโภค – ได้ทานอาหารสดใหม่ (รวมถึงได้มีอาหารทาน สำหรับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้) ได้รับโภชนาการอาหารครบถ้วน ทราบที่มาของวัตถุดิบ สนับสนุนผู้ผลิตรายย่อย

#Liv Up – สนับสนุนความสมดุลของระบบอาหาร ห่วงโซ่อาหาร (food chain) และระบบหมุนเวียน (circularity) ด้วยการซื้อวัตถุดิบเกษตรกรในราคาถูก เป็นตัวกลางปรับเมนูอาหารให้ตรงตามอุปทานหรือการพยากรณ์พืชผลของเกษตรกร (crop forecasts) และความต้องการของผู้บริโภคในเมือง

นอกจากนี้ Liv Up ได้ยกระดับเป็นหุ้นส่วนกับ NGOs และองค์กรการกุศลในท้องถิ่นยุติความหิวโหย ด้วยการบริจาคอาหารออแกนิคที่สดใหม่ให้กับคนที่ต้องการ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
● เป้าประสงค์ที่ 2.1 กล่าวถึงการยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและในภาวะเปราะบางได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ และเพียงพอตลอดทั้งปี
● เป้าประสงค์ที่ 2.2 กล่าวถึงการยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ
● เป้าประสงค์ที่ 2.3 กล่าวถึงการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก
● เป้าประสงค์ที่ 2.a กล่าวถึงการยกระดับขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
● เป้าประสงค์ที่ 12.2 กล่าวถึงการบรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
● เป้าประสงค์ที่ 12.3 กล่าวถึงการลดขยะเศษอาหารในระดับผู้ค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว

เข้าถึงเว็บไซต์: https://www.livup.com.br/

แหล่งอ้างอิง:
https://startup.google.com/stories/livup/
https://thoughtforfood.org/content-hub/liv-up-a-food-tech-startup-reconnecting-farmers-consumers/

#SDGWatch #ihpp #SDG2 #SDG12

Last Updated on มีนาคม 3, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น