‘ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า’ (human-wildlife conflict) หนึ่งตัวการชะลอความก้าวหน้าของ SDGs

กว่า 50 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในโลกมาพร้อมกับความต้องการในการบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล รวมถึงการค้าและการขยายความเป็นเมือง ที่จำเป็นต้องใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร การคมนาคม และเทคโนโลยี และแน่นอนว่า ‘การพัฒนาของมนุษย์’ ได้กระทบกับความสมบูรณ์ของป่าไม้ ความเป็นอยู่ แหล่งที่อยู่ และประชากรสัตว์ป่า โดยเฉพาะที่กำลังจะสูญพันธุ์

โดยผืนป่าของโลกเป็นพื้นที่ค้ำจุนความหลากหลายทางชีวภาพ ค้ำจุน 80% ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 75% ของสัตว์ปีก 68% ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และ 60% ของพันธุ์พืชที่มีท่อน้ำเลี้ยง (vascular plant species) ขณะเดียวกับที่มีคนจำนวนมากที่อยู่ในระยะรัศมีใกล้กับป่าหรือพึ่งพิงแหล่งอาหารที่มาจากป่า จึงเกิดเป็น ‘ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า’ (human-wildlife conflict) ที่มาจากการที่ทั้งสองฝ่ายต่างพึ่งพิงทรัพยากรและต้องแย่งชิงของที่มีจำกัดนี้และเกิดการรุกล้ำระหว่างกัน เพราะนอกจากมนุษย์แล้ว สัตว์ป่าก็สามารถเข้ามาทำลายแหล่งทำการเกษตรและพืชผล โครงสร้างพื้นฐาน ทำลายชีวิตสัตว์เพื่อการปศุสัตว์ รวมถึงชีวิตของมนุษย์ กระทบกับวิถีชีวิตของมนุษย์ในแต่ละวันได้ไม่ต่างกัน

โดยตัวอย่างที่เราพบมีอาทิ ความขัดแย้งระหว่างหมีกับมนุษย์ซึ่งมีโดยทั่วไป มีความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่าเกิดขึ้นมากกว่า 8,000 ครั้งในประเทศนามิเบียเมื่อปี 2560 แมวป่าของโลกมากกว่า 75% ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง แกะที่มนุษย์เลี้ยงหลายหมื่นตัวถูกฆ่าโดยหมาป่า หมี ลิงซ์ (Lynx) วูล์ปเวอรีน (Wolverine) ในประเทศแถบยุโรป คนมากกว่า 1,700 คน กับช้างอีก 370 ตัวในอินเดียตายเพราะความขัดแย้งที่มีต่อกันระหว่างปี 2558 – 2561

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่าเป็นความขัดแย้งที่ขยายความกว้างไปกว่าที่ดินและทรัพยากร เพราะเป็นภัยร้ายแรงที่ส่งผลต่อความพยายามในการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า ความมั่นคงทางอาหาร สภาพเศรษฐกิจ ไปจนถึงสุขภาพของมนุษย์ ที่บรรดาโรคอุบัติใหม่มากกว่า 70% เป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (zoonotic diseases) กล่าวคือมีต้นต่อมาจากปฏิสัมพันธ์และการปะทะกันกับมนุษย์ สัตว์ป่า และสัตว์เพื่อการปศุสัตว์ เช่น  จากการที่สัตว์ป่ากัดหรือทำร้ายมนุษย์ ยานพาหนะขับชนสัตว์ป่า เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อความก้าวหน้าของ SDGs ทั้งสิ้น

การหาทางออกแต่เดิม มนุษย์อาจตอบโต้ด้วยการฆ่าสัตว์ป่านั้น ๆ หรือร่วมกันสร้างแหล่งที่อยู่สำหรับสัตว์ป่าขึ้นมาใหม่เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทว่าปัจจุบันก็มีการถกเถียงในเรื่องวิธีการอนุรักษ์สัตว์ป่า เช่นว่าการตอบโต้ที่รุนแรงด้วยการฆ่านั้นปัจจุบันอาจเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ต้องมีการควบคุม และในบางพื้นที่ สังคมอาจไม่ให้การยอมรับแล้ว

จึงต้องตระหนักว่าทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้อาจซับซ้อน กล่าวคือ ต้องพิจารณาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ความกังวลที่มีต่อสปีชีส์สัตว์ป่า และกิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่นั้น ๆ รวมไปถึงมุมมองของคนเมืองและมุมมองของคนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดสัตว์ป่าและป่าไม้อาจแตกต่างกัน ดังนั้นวิธีการจะต้องเป็น ‘ทางออกร่วม’ ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งมนุษย์และสัตว์ป่า ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติด้วยความเข้าใจในคุณค่า (coexistence) ในภูมิประเทศเดียวกัน และต้องมีการจัดการที่เป็นที่ยอมรับ

โดยควรเป็นทางแก้ปัญหาลดความขัดแย้งและผลกระทบ (mitigation) ที่มาจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบหรือมาจากคนในท้องถิ่นเป็นหลัก รวมทั้งทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน อาทิ สร้างพื้นที่กันชนไม่ให้เกิดการปะทะหรือมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน จัดให้สัตว์ป่าอยู่รอบนอกบริเวณของการอยู่อาศัยและการเกษตรของมนุษย์ (ซึ่งในรายละเอียดก็เป็นไปตามแต่ละภูมิปัญญาหรือวิธีการในท้องถิ่น) ให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนขึ้น มีการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เพื่อการปศุสัตว์ รวมไปถึงให้มีการหารือทางนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงลงไปในแต่ละกรณี

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
เป้าประสงค์ที่ 2.1 กล่าวถึงการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการและเพียงพอ
เป้าประสงค์ที่ 2.3 กล่าวถึงผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก รวมถึงการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรและปัจจัยนำเข้า
เป้าประสงค์ที่ 2.4 กล่าวถึงระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน การเกษตรมีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิตช่วยรักษาระบบนิเวศ ช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่อง
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดีของทุกคนในทุกวัย
เป้าประสงค์ที่ 3.3 กล่าวถึงการแพร่กระจายของโรคติดต่อ
เป้าประสงค์ที่ 3.d กล่าวถึงการแจ้งเตือนล่วงหน้าด้านสุขภาพ ลดและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน
เป้าประสงค์ที่ 11.2 กล่าวถึงระบบคมนาคมขนส่ง ความปลอดภัยทางถนน ขนส่งสาธารณะ
เป้าประสงค์ที่ 11.6 กล่าวถึงการลดผลกระทบต่อเมืองที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
เป้าประสงค์ที่ 11.a กล่าวถึงการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทางบวกระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท
#SDG15 ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน การหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เป้าประสงค์ที่ 15.1 กล่าวถึงการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดิน การบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
เป้าประสงค์ที่ 15.2 กล่าวถึงการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม เพิ่มการปลูกป่า ฟื้นฟูป่า
เป้าประสงค์ที่ 15.5 กล่าวถึงการลดความเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม

แหล่งอ้างอิง:
https://sdg.iisd.org/commentary/guest-articles/preventing-human-wildlife-conflict-is-critical-for-people-and-the-planet/
https://www.treehugger.com/human-wildlife-conflict-5114590
https://researchmatters.in/news/studying-human-wildlife-interactions-why-we-need-look-beyond-conflict

#SDGWatch #ihpp #healthandwellbeing #SDG2 #SDG3 #SDG11 #SDG15

Last Updated on มีนาคม 15, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น