ที่อยู่อาศัยที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีพอสำหรับทุกคน จะทำให้ค่าไฟถูกลง คนยากจนสุขภาพไม่ทรุด ลดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก

นักวิจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (environmental health) จากมหาวิทยาลัยบอสตันทำการศึกษาประเด็นความสัมพันธ์ของที่อยู่อาศัยกับสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่การมีที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอและใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพย่อมมีอิทธิพลต่อสุขภาพของครอบครัวและชุมชนคนผิวดำ-ผิวสี-ชนกลุ่มน้อยที่มีรายได้น้อยอย่างไม่สมสัดส่วน

โดยข้อมูลการสำรวจที่อยู่อาศัยของชาวอเมริกันชี้ว่ามีคนอเมริกันกว่า 30 ล้านคนอยู่ใต้เส้นความยากจนที่มีความสามารถเข้าถึงบ้านได้แต่เป็นบ้านที่เก่าและมีขนาดเล็กซึ่งมักมีปัญหาความไม่ถูกสุขอนามัยหรือเหมาะสมพอที่จะอยู่อาศัยได้ เพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ อาทิ อาจเผชิญกับสารตะกั่ว สารก่อภูมิแพ้ และมลพิษทางอากาศภายในบ้าน และยิ่งในกรณีที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยต้องกักตัวช่วงโควิด-19 การอยู่กันอย่างแออัดในบ้านหนึ่งหลังหรืออพาร์ทเม้นหนึ่งห้องยิ่งเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าว

นอกจากนี้ ประเด็นที่อยู่อาศัยยังเกี่ยวข้องกับพลังงานด้วย หากครัวเรือนมีการใช้พลังงานแบบดั้งเดิมอยู่หรือด้วยระบบพลังงานในบ้านเป็นแบบเก่าที่กินไฟฟ้าและปล่อยมลพิษภายในและภายนอกบ้านมาก ยิ่งทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ครัวเรือนอาจต้องหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอาหารและยาเพื่อมาจ่ายค่าไฟฟ้าแทน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องจำนนต่ออุณหภูมิที่ร้อนไปหรือหนาวไป ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

และในบริบทของสหรัฐฯ ได้ถูกซ้ำเติมความยากจน การมีที่อยู่อาศัย และการเข้าถึงพลังงานราคาถูก ด้วยนโยบายที่อาจเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชุมชนคนผิวดำ ผิวสี และชนกลุ่มน้อย อย่างที่คนกลุ่มนี้มีอัตราการเป็นเจ้าของบ้านที่ต่ำและมักไม่มีคุณภาพ

ดังนั้น การเข้ามาจัดการปรับปรุงที่อยู่อาศัยจึงเป็นใจกลางความสำคัญของนโยบายภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทั้งประเด็นการให้มีที่อยู่อาศัยเพียงพอสำหรับทุกคน การออกแบบบ้านที่สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงระบบพลังงาน-ทำความเย็น/ร้อนหรือฉนวนกันความเย็น/ร้อนภายในบ้าน เป็นต้น จะช่วยเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า แก้ปัญหาความท้าทายด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้อยู่อาศัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คุณภาพอากาศ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจนในทุกรูปแบบ ซึ่งมีที่กลาวถึงสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจและบริการขั้นพื้นฐาน ให้ผู้ที่ยากจนและเปราะบางมีภูมิต้านทานต่อภัยพิบัติที่เกี่ยวกับภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย ซึ่งรวมถึงสุขภาพจิต
#SDG7 ทุกคนเข้าถึงพลังงานในราคาที่สามารถซื้อหาได้ การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพ
#SDG10 ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศ
#SDG11 หลักประกันการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เพียงพอมีราคาสามารถจ่ายได้ ซึ่งมีที่กลาวถึงชุมชนแออัดด้วย
#SDG13 การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การสมัครเป็นสมาชิกไม่ได้มีแค่ดูหนังฟังเพลง: Subscribe กับโครงการพลังงานของชุมชนเพื่อชุมชนในสหรัฐฯ กับ Groundswell วันนี้ ช่วยให้เพื่อนบ้านมีพลังงานใช้และจ่ายค่าไฟฟ้าถูกลง

45% ของครัวเรือนที่ยากจนในเขตเมืองของอินเดีย ยังคงใช้เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมมากกว่าก๊าซหุงต้ม ซึ่งทำให้แม่บ้านต้องเผชิญมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น

แหล่งอ้างอิง:
https://theconversation.com/how-to-improve-public-health-the-environment-and-racial-equity-all-at-once-upgrade-low-income-housing-156166

Last Updated on มีนาคม 29, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น