UN เผยแพร่ The Global Report on Ageism พบว่า ‘การเหยียดอายุ’ ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ

รายงานจากสหประชาชาติ “The Global report on ageism” ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 18 มีนาคม 2021 ระบุว่า เราจะพบคนที่มีทัศนคติแบบเหยียดอายุ (Ageist) ในทุกๆ สองคนบนโลก ซึ่งนั้นนำไปสู่ความถดถอยของสุขภาพกายและสุขภาพใจ และระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ทำให้สังคมต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปีทั้งเพื่อค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียโอกาสที่ผู้สูงอายุจะยังเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

รายงานฉบับนี้จัดทำโดย องค์การอนามัยโลก (WHO), สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน (OHCHR), สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN DESA) และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเหยียดอายุ การวัดผลและการรายงานที่ดีขึ้นเพื่อเปิดโปงปัญหา การเหยียดอายุ ที่เป็นดังโรคร้ายที่ระบาดในสังคม

การเหยียดอายุ (Ageism) หมายถึง การมองแบบเหมารวม มีอคติ และการเลือกปฏิบัติโดยตรงต่อบุคคลตามอายุของพวกเขา การเหยียดอายุเป็นได้ทั้งในรูปแบบเชิงสถาบัน ระหว่างบุคคล และกำหนดด้วยตนเอง

การเหยียดอายุได้กระจายไปในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม รวมถึงสถาบันที่ให้บริการด้านสุขภาพและสังคม ที่ทำงาน สื่อ และระบบยุติธรรม

การเหยียดอายุในผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์กับสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แย่ลง เพิ่มภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมและความเหงา ทำให้ความไม่มั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตลดลง และเกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยคาดว่าทัศนคติเชิงลบนี้เป็นต้นตอของโรคซึมเศร้าในผู้คนราว 6.3 ล้านคนทั่วโลก 

ในสถานการณ์การทำงาน คนที่อายุมากกว่าและคนที่อายุน้อยกว่ามักจะต้องเสียเปรียบในที่ทำงาน และการเข้าถึงการฝึกอบรมเฉพาะทางและการศึกษาลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามอายุ การเหยียดวัยผู้ที่มีอายุน้อยกว่าปรากฏให้เห็นในหลายๆ ด้าน เช่น โอกาสการจ้างงาน สุขภาพ ที่อยู่อาศัยย และการเมืองซึ่งเสียงของคนอายุน้อยมักถูกปฏิเสธหรือถูกตีตกไป ในระบบยุติธรรม ผู้คนมักโกรธเกี้ยวมากกว่าหากผู้ที่อายุน้อยเป็นผู้ก่อเหตุอาชญากรรมและเห็นว่าเป็นการละเมิดกฎหมายที่ร้ายแรงกว่า

รายงานชิ้นนี้ ยังเสนอ 3 กลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาการเหยียดอายุ ประกอบด้วย 1) การกำหนดนโยบายและกฎหมายเพื่อประเด็นการเหยียดอายุ 2) เพิ่มกิจกรรมในระบบการศึกษาที่ช่วยเพิ่มความเห็นอกเห็นใจและแก้ไขความเข้าใจผิด และ 3) เพิ่มกิจกรรมระหว่างคนต่างวัยเพื่อลดอคติต่อกัน ล้วนช่วยลดทัศนคติเหยียดอายุ

การเหยียดอายุส่งผลกระทบด้านสุขภาพอย่างร้ายแรง เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย และ เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ

ที่มา: WHO

Last Updated on มีนาคม 31, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น