5 เมืองระดับโลก ที่เป็นผู้นำในการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างเมืองที่ยั่งยืนในอนาคต

รายงาน 2021: Renewables in Cities Global Status Report ศึกษาโดย REN21 หรือ Renewable Energy Policy Network for the 21st century ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรก่อตั้งโดยเครือข่ายองค์กรของรัฐ หน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย และหน่วยงานจากอุตสาหกรรม ได้แสดงข้อมูล 5 เมืองที่มีโครงการและนวัตกรรมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพที่สุดจากทั่วโลก

Adelaide, Australia (เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย)

  • การดำเนินการในเขตเทศบาลแอดิเลดทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่กรกฎาคม 2020 โดยใช้พลังงานจากลมและโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งอยู่ในแผนสร้างเมืองมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2025
  • มีการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงาน ส่งเสริมการขี่จักรยานและการเดินในเมือง และมีแผนการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฮบริดและรถไฟฟ้า
  • ลงทุนในสถานีกักเก็บพลังงานไฟฟ้าฮอร์นสเดล (Hornsdale Power Reserve) สร้างแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเพื่อสำรองพลังงาน
  • หาโอกาสใช้ประโยชน์จากก๊าซชีวภาพจากโรงบำบัดน้ำเสียเป็นแหล่งพลังงานเพิ่มเติม

Seoul, Republic of Korea (กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้)

  • กรุงโซลมีกลยุทธ์บรรลุคาร์บอนเป็นกลางภายในปี 2050 ใน 5 ขอบเขตหลักคือ 1) อาคาร 2) การเดินทาง 3) ป่าไม้ 4) พลังงานสะอาด และ 5) การจัดการขยะ
  • มีเป้าหมายขั้นกลาง 2 เป้าหมาย คือ ลดการปล่อย 40% ภายในปี 2030 และลดลง 70% ภายในปี 2040 (กลับไปเท่ากับปี 2005)
  • ลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ ด้วยการเพิ่มกำลังผลิตพลังงานไฟฟ้า
  • เพิ่มพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยใช้พื้นที่ในโครงสร้างพื้นฐานในเมือง และให้เงินอุดหนุนหากมีการโซลาร์เซลล์ในอาคาร

Cocody, Ivory Coast (เขตโคโคดี ประเทศไอวอรี่ โคส)

  • เขตโคโคดีออกแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 70% ภายในปี 2030 ความท้าทายใหญ่คือความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • เพิ่มพื้นที่สีเขียวและมีแผนปลูกหรือฟื้นฟูต้นโกงกางในป่าชายเลนสองล้านต้น เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน
  • มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ เสาโคมไฟและสัญญาณไฟจราจร การจัดหาชุดแผงโซลาร์เซลล์ให้ครัวเรือนติดตั้ง

Malmö, Sweden (เมืองมัลเมอ ประเทศสวีเดน)

  • การดำเนินการในเขตเวสเทิร์นฮาร์เบอร์ (Western Habour) ของมัลเมอ ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ตั้งแต่ปี 2012 และในเขตอุตสาหกรรมออกัสเตนเบิร์ก (Augustenborg) มีการเชื่อมต่อกับระบบทำความร้อนส่วนกลางด้วยยแผงพลังงานแสงอาทิตย์
  • Malmö, Sweden มีแผนจะใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายในปี 2023 โดยเพิ่มจากประมาณ 43% ในปี 2020
  • คาดว่าจะมีการเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพได้ในปี 2022 และอีก 5 แห่งจะพร้อมดำเนินการในปี 2028

Cape Town, South Africa (เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้)

  • รัฐบาลแอฟริกาใต้ต้องการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจากประมาณ 8% ในปี 2016 ให้ถึง 40% ภายในปี 2030 จากปัจจุบันที่มีถ่านหินเป็นแหล่งพลังงาน
  • นำร่องใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในการขนส่ง โดยการใช้รถโดยสารไฟฟ้าที่ผลิตในพื้นที่ เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากการขนส่งที่เป็นปัญหาสำคัญ
  • การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เคปทาวน์ กลายเป็นเมืองที่มีแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาชุกที่สุดในปี 2019 และยังกำหนดเป้าหมายเพิ่มการใช้ระบบทำน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ที่มีรายได้น้อย

รัฐบาลระดับประเทศและระดับท้องถิ่นต่างเห็นศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนที่สามารถสร้างเมืองที่สะอาด ปราศจากมลพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ประชากรมากกว่าครึ่งทั่วโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง และเมืองต่างๆ เป็นต้นทางของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงสามในสี่จากการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของโลก การจัดหาพลังงานทดแทนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง

การใช้พลังงานหมุนเวียนในเขตเมือง อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ ในประเด็น การเข้าถึงพลังงาน (7.1) และ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy) (7.2)
- SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ในประเด็น การจัดการมลพิษทางอากาศและของเสีย (11.6) 

ที่มา: World Economic Forum

Last Updated on เมษายน 8, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น