Google Earth อัปเดตฟีเจอร์ใหม่ ‘Timelapse’ แสดงภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง 37 ปี ที่ทำให้เห็นผลของ Climate Change ทั่วโลก

Google Earth เปิดตัว Timelapse ฟีเจอร์ใหม่ที่ถือเป็นการอัปเดตครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2017 ที่จะทำให้ทุกคนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก และผลกระทบที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาด้วยตาของตัวเอง

Timelapse คือผลของความพยายามของ Google ในการรวบรวมภาพถ่ายดาวเทียม 24 ล้านภาพที่ถ่ายตั้งแต่ปี 1984 ถึง 2020 เพื่อแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงโลกอย่างไรในช่วง 37 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ใช้เวลาถึงสองล้านชั่วโมงในการประมวลผลด้วยเครื่องจำนวนหลายพันเครื่องใน Google Cloud

สำหรับโครงการนี้ Google ทำงานร่วมกับ NASA โครงการ Landsat ของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา โครงการ Copernicus ของสหภาพยุโรปโดยใช้ดาวเทียม Sentinel และ CREATE Lab ของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ซึ่งช่วยพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง Timelapse

ผู้ชมจะได้เห็นผลกระทบอันน่าวิตกของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดเกือบสี่สิบปีที่ผ่านมาภายในไม่กี่วินาที ทั้งธารน้ำแข็งโคลัมเบียในอลาสก้าละลายไปถึง 12 ไมล์ ตั้งแต่ปี 1984 ถึง 2020 และธารน้ำแข็งเกาะไพน์ ธารน้ำแข็งที่ละลายเร็วที่สุดในแอนตาร์กติกาค่อยๆ สลายตัว

“เราสามารถมองเห็นภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นได้ด้วยตาของเราเอง” รีเบคก้า มัวร์ ผู้อำนวยการ Google Earth กล่าวในระหว่างการสาธิตตัวอย่างฟีเจอร์ใหม่นี้ “Timelapse ช่วยกลั่นข้อมูลจากดาวเทียมจำนวนมหาศาลให้กลายเป็นภาพโลกของเราที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างเข้าใจง่าย มันช่วยแปลงนามธรรมให้เป็นรูปธรรม”

ภาพถ่ายดาวเทียมช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาสิ่งต่างๆ เช่น ความหนาของธารน้ำแข็ง เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมขั้วโลก ภาพเหล่านี้ยังใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้สอนเพื่อให้ความรู้นักเรียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทางทีมงาน Google Earth หวังว่าฟีเจอร์ Timelapse นี้จะช่วยให้ทุกคนมีความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าโลกของเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่รุนแรง และเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อโลก

นอกจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ผู้ใช้ Google Earth ยังสามารถใช้ฟีเจอร์ Voyager นำทางไปยังบางสถานที่บนโลกซึ่งมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตาม 5 ธีมหลักที่ผู้พัฒนาค้นพบ พร้อมอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงของป่า เช่น การตัดไม้ทำลายป่าในโบลิเวียเพื่อการปลูกถั่วเหลือง
  2. การเติบโตของเมือง เช่น การขยายตัวถึงห้าเท่าของลาสเวกัส
  3. อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น การละลายของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็ง
  4. แหล่งพลังงาน เช่น ผลกระทบทางภูมิทัศน์จากการทำเหมืองถ่านหินในไวโอมิ่ง
  5. ความงามอันเปราะบาง เช่น การไหลของแม่น้ำมาโมเรที่คดเคี้ยว ในโบลิเวีย

หากต้องการใช้ Timelapse คุณสามารถไปที่ g.co/Timelapse โดยจะมีการอัปเดตภาพโลกที่เปลี่ยแปลงภาพใหม่ทุกๆ ปี นอกจากนี้ Google ยังได้อัปโหลดวิดีโอ Timelapse มากกว่า 800 วิดีโอ ทั้งในรูปแบบ 2 มิติและ 3 มิติ เพื่อเปิดเป็นข้อมูลสาธารณะที่ g.co/TimelapseVideo

เครื่องมือสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 13 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ,
- SDG 15 ระบบนิเวศบนบก ในประเด็น การบริหารจัดการ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ทุกประเภท (15.2)

ที่มา: CNN, EcoWatch, Fortune

Last Updated on เมษายน 18, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น