มาตรการของสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศที่ ‘แม่บ้านโรงแรม’ ต้องเผชิญ

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านมาหนึ่งปี อุตสาหกรรมโรงแรมในสหรัฐอเมริกาค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น พนักงานโรงแรมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และข้อมูลจาก US Bureau of Labor Statistics หรือ สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า ตำแหน่งแม่บ้านโรงแรม เป็นผู้หญิงเกือบ 90% และเนื่องจากลักษณะงานต้องทำงานคนเดียวหรือตามลำพังกับผู้เข้าพักในพื้นที่ลับตา จึงต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศในระดับสูงกว่าพนักงานในตำแหน่งอื่น

ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและในหลายพื้นที่ ทำให้รัฐบาลหลายรัฐออกกฎหมายเพื่อป้องกันแก้ปัญหา และเครือโรงแรมหลักก็เริ่มมีมาตรการเพื่อปกป้องสวัสดิภาพของพนักงานอย่างจริงจัง

ในปี 2018 สมาคมสหภาพแรงงานอาหาร เกษตรกรรม โรงแรม ภัตตาคาร การบริการอาหาร ยาสูบและแรงงานพันธมิตรระหว่างประเทศ (IUF) กดดันให้ Marriott International เครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกปรับปรุงสภาพความปลอดภัยในการทำงาน จนในที่สุดจึงให้แม่บ้านโรงแรมในเครือมี ‘panic button‘ หรือ ‘ปุ่มฉุกเฉิน‘ เพื่อขอความช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน และในปีเดียวกัน สมาคมโรงแรมและที่พักอเมริกา (AH&LA) ซึ่งดูแลโรงแรมประมาณ 20,000 แห่ง ได้ประกาศคำมั่นสัญญา 5 ดาว (5-Star Promise) ว่าจะปรับปรุงนโยบายที่เสริมสร้างความปลอดภัยให้พนักงานโรงแรม

นอกจากการติดตั้ง panic button ในห้องพักหรือให้พนักงานมีอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือติดตัวแล้ว การให้พนักงาน check in และ check out แต่ละกะ หรือแม้แต่การเข้าทำความสะอาดแต่ละห้องเพื่อยืนยันความปลอดภัยแก่หัวหน้า ก็สามารถช่วยตรวจสอบความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทันทีและทันเวลา

ในแง่ของมาตรการเชิงรุก รัฐบาลทั่วสหรัฐอเมริกาได้เริ่มดำเนินการกำหนดกฎหมายความปลอดภัยของพนักงานโรงแรม โดยมีตัวอย่างได้แก่

  • รัฐนิวเจอร์ซีย์ – (มิถุนายน 2019) กำหนดให้ทุกโรงแรมในรัฐที่มีห้องพักมากกว่า 100 ห้อง ต้องมีปุ่มฉุกเฉินให้พนักงานในห้องพัก และมีป้ายแสดงรายละเอียดการใช้และสิทธิของพนักงานให้ผู้เข้าพักทราบ
  • รัฐวอชิงตัน – (มกราคม 2020) กำหนดให้ทุกโรงแรมในรัฐที่มีห้องพักตั้งแต่ 60 ห้องขึ้นไป ต้องจัดให้พนักงานมีปุ่มฉุกเฉินติดตัวขณะทำงาน
  • รัฐอิลลินอยส์ – (กรกฎาคม 2020) กำหนดให้ทุกโรงแรมในรัฐที่มีห้องพักมากกว่า 100 ห้อง ต้องจัดให้ทั้งพนักงานเต็มเวลาและพนักงงานพาร์ทไทม์ มีปุ่มฉุกเฉินขณะทำงาน
  • เมืองโอ็คแลนด์ – (พฤศจิกายน 2018) เมืองผ่านกฎหมายที่กำหนดให้โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 50 ห้องขึ้นไปขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้พนักงานโรงแรม มีปุ่มฉุกเฉิน และจำกัดปริมาณงานเพื่อป้องกันความเหนื่อยล้าซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในหมู่พนักงาน
  • หาดไมอามี่ – (สิงหาคม 2019) กำหนดให้มีปุ่มฉุกเฉินและอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉินแบบพกพา เพื่อปกป้องพนักงานโรงแรมและโฮสเทลในไมอามี่
  • เมืองซีแอทเทิล – (พฤศจิกายน 2016) ผ่านกฎหมายที่กำหนดให้โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 60 ห้องขึ้นไป มีปุ่มฉุกเฉินใหิพนักงานที่ให้บริการในห้องพัก (in-room service)
  • เมืองชิคาโก – (กรกฎาคม 2018) กำหนดให้มีปุ่มฉุกเฉินและอุปกรณ์แจ้งเตือนให้พนักงานโรงแรมที่ทำความสะอาดและดูแลห้องพักหรือห้องน้ำ
  • เมืองซานตา โมนิกา – (มกราคม 2020) มีกฎหมายกำหนดให้โรงแรมทุกแห่ง ทุกขนาด ต้องมีปุ่มฉุกเฉินให้กับพนักงาน และภายใต้กฎหมาย เจ้าของโรงแรมต้องจัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือบุคคลที่พร้อมให้ความช่วยเหลือพนักงานได้ทันที
  • เมืองแซคราเมนโต – (กรกฎาคม 2020) กำหนดให้ทุกโรงแรมมีปุ่มฉุกเฉินและมาตรการด้านความปลอดภัยของพนักงานโรงแรม

แม้ว่าจะการดำเนินการมากมายเพื่อเพิ่มการคุ้มครองพนักงานโรงแรม โดยเฉพาะพนักงานผู้หญิง แต่การบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยก็ยังไม่ครอบคลุมถึงพนักงานอีกหลายพันคน โรงแรมและนายจ้างจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและเครื่องมือที่มีอยู่เพื่อให้พนักงานมีความปลอดภัยและมีความอุ่นใจในที่ทำงาน

ความปลอดภัยในที่ทำงานสำหรับพนักงานโรงแรม โดยเฉพาะพนักงานผู้หญิง อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 8 งานที่ดีและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในประเด็น ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกกลุ่ม (8.8) 
- SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ ในประเด็น จัดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กหญิง (5.1)

ที่มา: Occupational Health & Safety

Last Updated on เมษายน 29, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น