ออสเตรเลียออกกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนเจาะไปที่การผลิต ‘เนื้อแกะ’ และ ‘ขนแกะ’ เป็นครั้งแรกของประเทศ

อุตสาหกรรมผู้ผลิตขนแกะแห่งออสเตรเลีย (Wool Producers Australia) ร่วมกับผู้ผลิตแกะแห่งออสเตรเลีย (Sheep Producers Australia) เผยแพร่กรอบความยั่งยืนว่าด้วยเรื่อง ‘แกะ’ (Australian Sheep Sustainability Framework – SSF) เป็นครั้งแรกของประเทศ หลังจากที่ได้มีการหารือในชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียมาแรมปี โดยนิยามว่าอะไรคือการผลิต ‘เนื้อแกะ’ และ ‘ขนแกะ’ ที่ยั่งยืน มีจริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จัดลำดับประเด็นที่อุตสาหกรรมแกะควรให้ความสำคัญ กำหนดมาตรการดูแลแกะ ดูแลสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ดูแลคน-ลูกค้า-ชุมชน และหลักประกันให้อุตสาหกรรมแกะมีภูมิต้านทานด้านเงินทุน ไปจนถึงประเมินผลการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมแกะในภาพรวม สู่ปลายทางที่ออสเตรเลียมุ่งหวังจะเป็นผู้นำการผลิตแกะที่ยั่งยืนของโลก

เข้าถึงเว็บไซต์ Sheep Sustainability Framework ได้ที่: https://www.sheepsustainabilityframework.com.au/

กรอบการทำงานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิต เพราะจะมีการชี้ช่องทางโอกาส ความท้าทาย และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการผลิตแกะ จะมีการแจ้งการลงทุนของอุตสาหกรรมที่นำไปใช้ปรับปรุงในประเด็นที่ถูกจัดลำดับความสำคัญเอาไว้ หรือแนะนำประเด็นที่จะต้องปรับปรุง เช่น ที่เกี่ยวข้องกับฟาร์มเลี้ยง บริเวณขุนสัตว์ก่อนจะขายหรือนำไปฆ่า (feedlot) หรือที่เกี่ยวกับการขนส่ง อาทิ การขนส่ง (ตัว) แกะ รวมถึงพื้นที่ที่มีการซื้อขายกันเกิดขึ้น (saleyard) เป็นต้น เพราะเหล่านี้จะเป็นแหล่ง ‘ข้อมูล’ ของการติดตาม ประเมิน และนำมาประมวลเพื่อจัดทำรายงานผลการดำเนินงานในภาพรวมของอุตสาหกรรมแกะว่ายั่งยืนหรือไม่ตามแนวปฏิบัติของออสเตรเลีย

ภาพจากกรอบการทำงานฯ

ที่สำคัญ กรอบการทำงานฯ ยังจะช่วยขยายการเข้าถึงการลงทุนและการเงิน ช่วยสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย และช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมแกะให้ชุมชนและลูกค้าได้รู้จัก ด้วย

ทั้งยังเป็นกรอบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมาก เพราะทำหน้าที่เป็นเพียง ‘แนวทาง’ (guide) ให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนี้มากกว่า ไม่ได้มีการกำหนดกฎระเบียบที่เฉพาะเจาะจงไว้อย่างเป็นทางการ ไม่ได้มีการให้ใบประกาศหรือใบรับรองแก่ผู้ผลิตหรือเข้าไปตรวจการเงิน ไม่ได้กำหนดให้ผู้ผลิตและเกษตรกรจะต้องส่งรายงานแต่อย่างใด เนื่องจากข้อมูลเหล่านั้นอย่างไรเสียก็จะต้องชี้แจงกับทางรัฐบาลอย่างเป็นทางการอยู่แล้ว

และเนื่องจากว่านี่เป็นระยะเริ่มต้น แผนต่อไปที่เปิดเผยออกมานั้น คาดว่าภายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะขยายแนวทางให้ครอบคลุมถึงภาคการผลิตขนแกะในต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ การที่ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับแกะนั้น เพราะแกะเป็นทั้งอาหารและเส้นใยทำเครื่องนุ่งหุ่ม เป็นห่วงโซ่อุปทานเนื้อสัตว์และขนสัตว์ การเน้นให้การผลิตมีความยั่งยืนในปัจจุบันและสำหรับอนาคตสำคัญมากที่จะทำให้ผู้ผลิตสามารถสร้าง ‘ความไว้วางใจ’ ให้กับผู้บริโภคที่สนับสนุนการผลิตที่รับผิดชอบและยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงผู้ผลิตจะสามารถเข้าถึงตลาดท้องถิ่นและตลาดระดับโลกได้ต่อไป ทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณว่าออสเตรเลียมุ่งมั่นพัฒนาตัวเอง ด้วยการผสานแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนเข้าสู่ทุกอุตสาหกรรม มุ่งหวังจะเป็นผู้นำโลกด้านการผลิตเนื้อแกะและขนแกะที่ยั่งยืน

ภาพจากกรอบการทำงานฯ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 (2.3) เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก รวมถึงการเข้าถึง ที่ดินและทรัพยากร ปัจจัยนำเข้าในการผลิต บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้างงาน (2.4) ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน ตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรมีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต รักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG3 ในภาพรวมสุขภาพและสุขภาวะที่ดี – ทั้งคนและสัตว์ ไม่ให้เป็นโรค
#SDG8 ในภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ครอบคลุม
#SDG12 (12.2) การจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ (12.4) จัดการของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดิน ลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563 (12.6) แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนในภาคเอกชน และการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน
#SDG13 โดยเฉพาะในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนจากภาคปศุสัตว์ (13.1) เสริมความสามารถในการปรับตัวต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบายยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ
#SDG15 ในภาพรวมเรื่องการหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

แหล่งที่มา: https://www.sheepsustainabilityframework.com.au/

Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น