WHO จัดตั้ง ‘ศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดระดับโลก’ ณ กรุงเบอร์ลิน หวังสกัดโรคระบาดในอนาคตได้รวดเร็วมากขึ้น

รัฐบาลเยอรมันสนับสนุนองค์การอนามัยโลกจัดตั้ง ‘ศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดระดับโลก’ (WHO Hub for Pandemic and Epidemic Intelligence) ณ กรุงเบอร์ลิน และจะเปิดตัวภายในปี 2564 นี้

โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแพลตฟอร์มระบบ ‘การแจ้งเตือนล่วงหน้า’ เหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ-ภัยคุกคามโรคระบาดระดับ Epidemic และ Pandemic ที่เครือข่ายระหว่างรัฐและหุ้นส่วนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามสาขา ใช้แพลตฟอร์มนี้สอดส่อง-ติดตาม-ตรวจจับ ‘สัญญาณเหตุ’ สู่การพัฒนานวัตกรรมการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) และความเสี่ยง ให้มีข้อมูลการคาดการณ์และข้อมูลเชิงลึก (insights) ที่ผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขและผู้กำหนดนโยบายจากทุกประเทศสามารถนำไปตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อป้องกันและตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคตได้อย่างทันทีและรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากโรคระบาดได้

ภาพจาก news.un.org

ทั้งนี้ ศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดระดับโลก เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพของ WHO (Health Emergencies Programme) สร้างพื้นที่ให้บรรดารัฐบาล วิชาการ และเอกชนจากทั่วโลกเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยตระหนักว่าสัญญาณเหตุนั้นมาได้จากหลายจุดเกิดเหตุ ข้อมูลและปัจจัยที่หลากหลาย อาทิ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์และมนุษย์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ได้ โดยนอกจากจะสอดส่องสัญญาณเหตุแล้ว ยังรวมถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติที่ไม่ถูกต้อง (infodemic) และมาตรการการควบคุมโรคด้วย

และจากข้อเท็จจริงที่ว่าไวรัสเป็นเรื่องตามธรรมชาติที่มีอยู่และอาจจะมีมากขึ้นจนสามารถกลายเป็นโรคระบาดชนิดใหม่ได้ ทำให้ระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงมีความสำคัญ ในส่วนนี้ การนำนวัตกรรม อาทิ เทคโนโลยีระดับสูงอย่างปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) มาใช้วิเคราะห์ข้อมูล จะเป็นตัวช่วยทำให้ข้อมูลมีความแม่นยำ ถูกต้อง และรวดเร็ว (ตามทันไวรัส) ได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มศักยภาพระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้กับ WHO และรัฐสมาชิกใช้ป้องกัน ลดความเสี่ยง และตอบสนองต่อโรคระบาดในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง > ความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่าที่สามารถก่อให้เกิด ‘โรคอุบัติใหม่’ ได้ :

*โรคระบาด แบ่งตามระดับ
Epidemic – โรคระบาดที่เริ่มแพร่กระจาย ขยายกว้างออกไปตาม ‘เมือง’ หรือ ‘ประเทศ’ ต่าง ๆ
Pandemic – โรคระบาดที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ‘ทั่วโลก’ ที่ทำให้ควบคุมได้ยาก  

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า (Early Warning) การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG9
– (9.5) ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยี ส่งเสริมนวัตกรรม และการใช้จ่ายในภาคสาธารณะและเอกชนในการวิจัยและพัฒนา
#SDG17
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จากภาคส่วนที่หลากหลาย เพื่อแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม

แหล่งที่มา:
https://www.who.int/news/item/05-05-2021-who-germany-launch-new-global-hub-for-pandemic-and-epidemic-intelligence
https://news.un.org/en/story/2021/05/1091332

Last Updated on พฤษภาคม 11, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น